กรุงเทพฯ--15 ส.ค.--กทม.
กทม.มอบเงินกองทุนเสาชิงช้าให้จังหวัดแพร่นำไปพัฒนาพื้นที่ และสร้างแหล่งเรียนรู้กำเนิดต้นสักทองไม้มงคลบูรณะเสาชิงช้าปัจจุบัน พร้อมมอบรถบรรทุกให้อบต.ท้องที่ใช้ประโยชน์ เสริมความผูกพันในฐานะเมืองพี่เมืองน้อง
(15 ส.ค.51) นายอภิรักษ์ โกษะโยธิน ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นประธานมอบเงินกองทุนเสาชิงช้า จำนวน 4 ล้านบาท อีกทั้งรถเก็บขนมูลฝอยแบบอัด ขนาด 2 ตัน และรถบรรทุกเทท้าย รวม 4 คัน ให้กับจังหวัดแพร่ ซึ่งเป็นการสนับสนุนและขยายความร่วมมือในฐานะเมืองพี่เมืองน้อง โดยมี นายพงษ์ศักดิ์ พลายเวช ผู้ว่าราชการจังหวัดแพร่ นายบุญช่วย พันธ์มณี นายกองค์การบริหารส่วนตำบลไทรย้อย และนางปริยลักษณ์ เผ่าพงษ์ ปลัดองค์การบริหารส่วนตำบลห้วยไร่ เป็นตัวแทนรับมอบ พร้อมด้วยหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และประชาชน ร่วมเป็นสักขีพยาน ณ ห้องรัตนโกสินทร์ ศาลาว่าการกทม. (เสาชิงช้า)
กรุงเทพมหานครได้จัดตั้งกองทุนเสาชิงช้า และจัดหาเงินเข้ากองทุนด้วยการจำหน่ายของที่ระลึก เพื่อเป็นเงินทุนสำหรับการบูรณะเสาชิงช้าให้มีความยั่งยืน พร้อมทั้งนำเงินกองทุนส่วนหนึ่งไปใช้ในการปรับปรุงภูมิทัศน์บริเวณแหล่งต้นสักที่กรุงเทพมหานครนำมาทำเสาชิงช้า เพื่อพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวในพื้นที่ ต.ไทรย้อย และ ต.ห้วยไร่ อำเภอเด่นชัย จังหวัดแพร่ และจัดตั้งพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้เกี่ยวกับต้นสักทองและเสาชิงช้า ตามข้อตกลงว่าด้วยการสถาปนาความสัมพันธ์เมืองพี่เมืองน้องระหว่างกรุงเทพมหานครและจังหวัดแพร่ เมื่อครั้งการบูรณปฏิสังขรณ์เสาชิงช้าโบราณสถานสำคัญของชาติในปี 2550
โอกาสนี้ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวขอบคุณพี่น้องชาว อบต.ไทรย้อย อบต.ห้วยไร่ และชาวเมืองแพร่ที่เต็มใจมอบต้นสักทองที่ทรงคุณค่า โดยเป็นไม้สักต้นตรง และไม่มีตำหนิ ซึ่งเป็นที่หวงแหนของของประชาชนในพื้นที่ เพื่อนำมาบูรณปฏิสังขรณ์เสาชิงช้าจนแล้วเสร็จในปีมหามงคลที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเจริญพระชนมพรรษา 80 พรรษา และร่วมใจกันดูแลเสาชิงช้าซึ่งเป็นสมบัติของชาติให้โดดเด่น สง่างาม และดำรงอยู่คู่เมืองหลวงของเราอย่างยั่งยืนตลอดไป
อนึ่ง กรุงเทพมหานคร ได้ดำเนินการบูรณปฏิสังขรณ์เสาชิงช้า หลังจากพบความไม่มั่นคงแข็งแรงในโครงสร้างเสาชิงช้า และโดยการเสนอแนะของกรมศิลปากรเห็นควรหาไม้มาทดแทนเสาต้นเดิม โดยใช้ไม้สักต้นตรง ไม่มีตำหนิ ซึ่งในการค้นหาไม้สักตามที่กำหนดนั้น กรุงเทพมหานครได้รับความร่วมมือจากผู้เชี่ยวชาญทั้งจากกรมป่าไม้ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ และมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ซึ่งเต็มใจอย่างยิ่งที่จะร่วมค้นหาต้นสักทั่วประเทศ จนในที่สุดได้ไม้สักต้นตรง จำนวน 6 ต้น อยู่ที่ อำเภอเด่นชัย จังหวัดแพร่ โดย 2 ต้นหลักอายุกว่าร้อยปีอยู่ที่ ต.ไทรย้อย และอีก 4 ต้นที่ใช้ทำเสาประกบอยู่ที่ ต.ห้วยไร่ โดยหลังจากที่ได้รับอนุญาตให้ดำเนินการทำไม้ตามกฎหมาย กรุงเทพมหานครและจังหวัดแพร่ร่วมกันเพื่อจัดพิธีบวงสรวงขอพลีต้นสักเพื่อการบูรณปฏิสังขรณ์เสาชิงช้า ทั้งพิธีสงฆ์ พิธีพราหมณ์ และพิธีบ้าน ณ บริเวณต้นสักทั้ง 6 ต้น อีกทั้งกรุงเทพมหานครและจังหวัดแพร่ได้สถาปนาความสัมพันธ์ระหว่างกันในฐานะเมืองพี่เมืองน้อง ตั้งแต่วันที่ 11 กันยายน 2550 เพื่อช่วยเหลือและสนับสนุนในกิจการอันเป็นประโยชน์ทุกด้าน จากนั้นได้มีงานฉลองเสาชิงช้า โดยได้รับพระมหากรุณาธิคุณสูงสุดที่ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ และสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินมาประกอบพิธี วันที่ 12 กันยายน 2550 เป็นมหามงคลแก่บ้านเมือง ตลอดจนทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ที่ร่วมกันรักษาเสาชิงช้า โบราณสถานสำคัญของชาติให้คงอยู่คู่กรุงเทพฯ ตลอดไป