กรุงเทพฯ--15 ส.ค.--iTAP
บ.ลิ้มซิ้งฮวด ซัพพลาย เฉือนคู่แข่งขันด้วยการใช้เทคโนโลยีทันสมัย ประสิทธิภาพเยี่ยม “เตาอบพลังงานแสงอาทิตย์” ที่โครงการ iTAP สวทช. ช่วยเป็นพี่เลี้ยงคิดค้นพัฒนา และให้คำปรึกษา จนสามารถนำพาธุรกิจก้าวสู่ความสำเร็จ ระบุช่วยทั้งลดต้นทุนการผลิต ประหยัดพลังงาน ไม่ก่อให้เกิดมลพิษ สะดวกและรวดเร็ว อีกทั้งดันยอดขายเพิ่มขึ้น วางอนาคตจะขยายเตาอบไม้เพื่อรองรับความต้องการของลูกค้าอย่างแน่นอนโดยการใช้เทคโนโลยีของ iTAP เช่นเดิม
ตามที่โครงการสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีของอุตสาหกรรมไทย (iTAP) มีความพยายามที่จะช่วยเหลือพัฒนาขีดความสามารถของผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมไม้ให้มีศักยภาพในการแข่งขันกับนานาประเทศด้วยการใช้เทคโนโลยีทันสมัยเข้ามาช่วยในด้านการผลิต โดยเฉพาะที่ผ่านมาทางสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติได้ออกมาตรฐานข้อกำหนดสำหรับวัสดุบรรจุภัณฑ์ไม้เพื่อการส่งออก ซึ่งมีความสำคัญสำหรับผู้ประกอบการที่ทำวัสดุบรรจุภัณฑ์ไม้ อีกทั้งยังมีผลกระทบต่อการส่งออกสินค้าที่ต้องใช้วัสดุบรรจุภัณฑ์ไม้ที่ผ่านเกณฑ์มาตรฐาน IPPC
บริษัท ลิ้มซิ้งฮวด ซัพพลาย จำกัด ซึ่งเป็นผู้ผลิตและจัดจำหน่ายวัสดุก่อสร้าง ไม้พาเลท และลังไม้จากไม้ยางพารา มายาวนานกว่า 30 ปี มีความตื่นตัวสนใจที่จะให้ผลิตภัณฑ์ได้รับการรับรองมาตรฐาน IPPC จึงขอเข้ารับการช่วยเหลือจากโครงการสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีของอุตสาหกรรมไทย ( iTAP) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) เพื่อจัดส่งทีมผู้เชี่ยวชาญจากภาควิชาวนผลิตภัณฑ์ คณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เข้าไปให้คำปรึกษาแก่บริษัทฯ
นางสาวนภารัตน์ ทรงพัฒนะโยธิน ผู้จัดการ บริษัท ลิ้มซิ้งฮวด ซัพพลาย จำกัด เปิดเผยว่า เมื่อประมาณ 30 ปีที่แล้วบริษัทดำเนินธุรกิจเกี่ยวกับวัสดุก่อสร้างและลังไม้อยู่ที่กรุงเทพฯ ลักษณะเป็นอุตสาหกรรมในครอบครัว ต่อมาได้ขยายกิจการมาเป็นผู้ผลิตและจำหน่ายไม้พาเลทและลังไม้โดยขยายโรงงานไปที่ศรีราชา จังหวัดชลบุรี ซึ่งโรงงานที่นี่มีขนาดใหญ่กว่าและเน้นการทำไม้พาเลทเป็นหลัก อาจจะมีทำลังไม้บ้างแต่ไม่มากนักเพราะโดยส่วนมากลังไม้โรงงานที่กรุงเทพฯ จะเป็นผู้ผลิต
โดยบริษัทจะสั่งซื้อไม้ยางพาราจากทางภาคใต้ และบางส่วนจะเป็นไม้เบญจพรรณแปรรูปจากบริษัทที่นำเข้าไม้จากต่างประเทศ นำมาตัดและไสผิวไม้ที่ขรุขระทิ้ง ซึ่งก่อนที่จะเข้ารับการสนับสนุนจากโครงการ iTAP นั้นเรายังไม่มีเตาอบไม้ ต้องจ้างบริษัทที่รับจ้างรมยาอบมาตลอด กระทั่งทางสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติได้ออกมาตรฐานข้อกำหนดสำหรับวัสดุบรรจุภัณฑ์ไม้เพื่อการส่งออก ซึ่งมีความสำคัญสำหรับผู้ประกอบการที่ทำวัสดุบรรจุภัณฑ์ไม้และมีผลกระทบต่อการส่งออกสินค้าที่ต้องใช้วัสดุบรรจุภัณฑ์ไม้ที่ผ่านเกณฑ์มาตรฐาน IPPC ดังนั้นบริษัทจึงมีความสนใจที่จะพัฒนาในส่วนของเตาอบไม้ด้วย
“แรกเริ่มเราใช้วิธีการอบไม้ด้วยการรมควัน เสียค่าจ้างในการอบครั้งละ 1,500 บาท ถือว่าแพงมาก อีกทั้งทราบว่าวิธีการนี้ในอนาคตจะไม่นิยมใช้แล้วเพราะเป็นอันตรายต่อสุขภาพ จึงปรึกษากับทีมผู้เชี่ยวชาญจากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ที่โครงการ iTAP ส่งมาเป็นผู้ดูแล จนได้ข้อสรุปว่าจะเปลี่ยนมาสร้างเตาอบพาเลทตามระบบ Heat Treatment แทนวิธีการแบบเดิม”
บริษัทได้พัฒนา “เตาอบไม้ตามระบบ Heat Treatment” ขึ้น โดยใช้พื้นที่เดิมที่มีอยู่แล้วมาปรับปรุงเปลี่ยนแปลงตกแต่งโครงสร้างเพิ่มเติมให้ดีขึ้น ปรากฏว่าผลประโยชน์ที่ได้รับนั้นดีมาก บริษัทสามารถใช้เตาอบที่สร้างขึ้นใหม่อย่างมีประสิทธิภาพ ไม้พาเลทที่อบจากเตาอบได้รับการรับรองมาตรฐาน IPPC นอกจากนี้ยังช่วยให้ต้นทุนการผลิตลดลง ระยะเวลาที่ใช้ในการอบลดน้อยลงจากที่เคยต้องใช้เวลาประมาณ 48 ชั่วโมงในการรมยาก็ลดเหลือเพียงประมาณ 6 ชั่วโมงเท่านั้นเราก็สามารถส่งสินค้าให้กับลูกค้าได้ทันที ช่วยประหยัดเวลาได้มาก ที่สำคัญผลงานที่ได้มีคุณภาพสูง ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม และไม่เป็นพิษต่อสุขภาพ ขณะที่ลูกค้าก็ได้รับสินค้ารวดเร็ว ตรงตามเวลา และถูกลงด้วย
“ตั้งแต่บริษัทสร้างเตาอบพาเลทตามระบบ Heat Treatment นี้ช่วยให้เรามีลูกค้าเพิ่มมากขึ้น ยอดขายสูงขึ้น ต้นทุนน้อยลง และมีกำไรมากขึ้น”
ผู้จัดการบริษัท กล่าวต่อว่า ผลประกอบการเมื่อปีที่ผ่านมานั้นอยู่ที่ประมาณ 10 ล้านบาท กลุ่มลูกค้าของบริษัทส่วนใหญ่จะเป็นโรงงานที่ต้องใช้พาเลทในการส่งออก ซึ่งปัจจุบันมีการแข่งขันเพื่อหาลูกค้ากันสูงมาก ข้อได้เปรียบของเราคือบริษัทเราเป็นบริษัทเก่าแก่ ดำเนินธุรกิจด้านนี้มานาน จึงมีลูกค้าเก่าค่อนข้างมาก แต่อย่างไรก็ตามเราต้องไม่หยุดนิ่งและต้องใช้เทคโนโลยีทันสมัยเข้ามาพัฒนาปรับปรุงกระบวนการผลิตตลอดเวลา คาดว่าในอนาคตจะขยายโรงงานออกไปอีกเพื่อรองรับกลุ่มลูกค้า อาจจะเพิ่มเตาอบไม้เป็น 3 เตาโดยจะใช้เทคโนโลยีของโครงการ iTAP เช่นเดิม ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับแนวโน้มของตลาด นอกจากนี้ยังวางแผนไว้ว่าจะทำด้านแพคเกจจิ้งเพิ่มเติมจากเดิมที่ผลิตเฉพาะไม้พาเลทและลังไม้ โดยเพิ่มการให้บริการกับลูกค้าด้านแพคเกจจิ้ง รวมถึงการปลูกฝังจิตสำนึกให้คนงานรักและถนอมสินค้าของลูกค้า ตรงนี้ถือเป็นงานบริการที่เราอยากทำอีกชิ้นหนึ่ง นางสาวนภารัตน์กล่าวในที่สุด.
ฝ่ายประชาสัมพันธ์ โครงการสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีของอุตสาหกรรมไทย (iTAP) โทร.0-2270-1350-54 ต่อ 114,115