แพทย์แนะพ่อแม่ยุคใหม่ ออกกำลังกายทารกในน้ำ ช่วยให้มีพัฒนาการด้านร่างกายและจิตใจเร็วขึ้น

ข่าวทั่วไป Tuesday October 11, 2005 14:20 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--11 ต.ค.--โฟร์ฮันเดรท
การนำทารกออกกำลังกายในน้ำเป็นกิจกรรมที่เข้ามาในเมืองไทยกว่า 20 ปี แต่ในอดีตจะเน้นที่การพัฒนาการทางร่างกาย ภายหลังมีการเพิ่มในส่วนของการสร้างความ สัมพันธ์ของครอบครัว ผลการวิจัยล่าสุดชี้การนำทารกมาออกกำลังกายในน้ำ สามารถเสริมสร้างพัฒนาการทางสมองของทารกได้เป็นอย่างดี ทำให้เด็กสามารถเรียนรู้สิ่งต่างๆ ได้เร็วขึ้น เมื่อเปรียบเทียบกับเด็กในวัยเดียวกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเคลื่อนไหวในน้ำ จะมีผลต่อการแข็งแรงทางกล้ามเนื้อในเด็ก ศาสตร์วารีบำบัดจึงถูกนำมาใช้เพื่อช่วยเหลือเด็กที่มีปัญหาทางร่างกาย และสมอง อีกหลายกรณี
กระแสการนำเด็กทารกออกกำลังกายในน้ำ เริ่มเป็นที่รู้จักกันอย่างจริงจังเมื่อ 15 ปีก่อน จากภาพยนตร์โฆษณาชุดเด็กอ่อนดำน้ำ เบบี้ มายด์ ของบริษัท โอสถสภา จำกัด ซึ่งเป็นผู้ผลิตและจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์เด็ก “เบบี้ มายด์” ได้ออกอากาศไป ซึ่งเป็นอะไรที่แปลกใหม่สำหรับคนไทย จากนั้นก็ได้มีคุณพ่อคุณแม่ให้การสนใจที่จะให้ลูกน้อยของตัวเองได้นำลูกให้ออกกำลังกายในน้ำกันเป็นจำนวนมาก
พลเรือตรี นายแพทย์สุริยา ณ นคร รองเจ้ากรมแพทย์ทหารเรือ โรงพยาบาลสมเด็จพระปิ่นเกล้า และที่ปรึกษาด้านการแพทย์ของ อะควาฟิสเนส เฮบท์ คลับ ซึ่งเป็นสถาบันผู้ชำนาญการด้านเวชศาสตร์ใต้น้ำ เปิดเผยถึงการจัดกิจกรรมในโครงการ “อะควา เบบี้มายด์” การออกกำลังกายในน้ำว่าครั้งนี้ว่า ต้องการให้พ่อแม่ยุคใหม่เห็นถึงความสำคัญต่อการออกกำลังกายให้แก่ทารก เพื่อให้ขา และเท้าแข็งแรงก่อนเด็กจะเริ่มหัดยืน และเดิน โดยการออกกำลังกายในน้ำสำหรับทารกนั้นสามารถเริ่มได้ตั้งแต่อายุประมาณ 3-4 เดือน ซึ่งควรใส่ปลอกแขนให้เด็กก่อนนำลงน้ำ เพื่อเด็กจะได้วิ่งและเดินในน้ำได้ โดยไม่ต้องสอน แต่หากเด็กยังไม่พร้อมที่จะลงสระน้ำพ่อแม่ก็ไม่ควรบังคับ ควรรอให้เด็กมั่นใจก่อน
โดยการออกกำลังกายในน้ำของเด็กนั้น ไม่ได้เน้นเฉพาะทักษะทางกายว่า ว่ายน้ำได้ ดำน้ำได้ แต่จะเน้นประโยชน์ที่ได้จากการสอน การสื่อสารกับเด็ก เข้าใจกระบวนการเรียนรู้ของเด็ก และยังจะได้ประโยชน์ในด้านพัฒนาการทางสังคมของเด็กด้วย เพราะเด็กทารกจะได้เริ่มเข้าสังคมกับเด็กอื่น เรียนรู้ทักษะการสื่อสารต่างๆ โดยใช้ภาษาในด้านกิริยาท่าทาง
“การให้เด็กเล็กลงน้ำนั้น หากทำอย่างถูกวิธีก็ค่อนข้างจะปลอดภัย เพราะเด็กมีสัญชาตญาณที่จะกลั้นหายใจในน้ำอยู่แล้ว เพียงแต่ใส่ปลอกแขน ให้มีเครื่องพยุงตัว เด็กก็สามารถวิ่งในน้ำได้ โดยไม่ต้องฝึก และในการวิ่งหรือเดินในน้ำ เด็กต้องออกแรงมาก ดังนั้นจึงควรใช้เวลาเพียง 20-30 นาที ก็พอ และคุณสมบัติพิเศษของสระว่ายน้ำสำหรับทารกนั้น อุณหภูมิอยู่ที่ 28-30 องศา และมีการบำบัดน้ำให้บริสุทธิ์ด้วยโอโซน และคลอลีน”
พลเรือตรี นายแพทย์สุริยา กล่าวเพิ่มเติมว่า การฝึกให้เด็กออกกำลังกาย จะช่วยให้เด็กมีพัฒนาการเร็วขึ้น เพราะถ้าเด็กออกกำลังกายมาก จะกินมาก หลับลึก และร่างกายจะหลั่งฮอร์โมนที่เกี่ยวกับ การเจริญเติบโตออกมามาก ซึ่งจะทำให้เด็กโตเร็ว แต่การจะให้เด็กทารกออกกำลังกายในน้ำนั้น ต้องมีผู้เชี่ยวชาญ ทางด้านนี้คอยดูแลและให้คำแนะนำ
“หากไม่มีคนคอยแนะนำ พ่อแม่ก็ควรรอให้เด็กโตขึ้นอีกหน่อย แล้วใช้น้ำตื้นที่เด็กยืนถึงฝึกเด็กให้ลงไปเล่นน้ำ ส่วนการหัดว่ายน้ำ ท่าต่างๆ นั้น ต้องรอให้เด็กอายุประมาณ 3 ขวบครึ่ง จึงจะสามารถเรียนรู้ได้ ซึ่งการว่ายน้ำถือเป็นการออกกำลังกายที่ดีที่สุดอย่างหนึ่ง แต่สิ่งที่ต้องคำนึงคือเด็กเล็กๆ ไม่ สามารถช่วยตัวเองได้ 100 % ดังนั้นพ่อแม่จึงไม่ควรประมาท ว่าเด็กว่ายน้ำได้ แล้วจะไม่เกิดอุบัติเหตุจากการจมน้ำ"
หลักสูตร “อะควา เบบี้” เป็นการอบรมแนะนำคุณพ่อคุณแม่ให้ทราบวิธีดูแลเด็กในสระน้ำ การระมัดระวังความปลอดภัย และให้สามารถสอนทักษะพื้นฐานในน้ำให้ลูกได้ด้วยตนเองอย่างถูกวิธี พร้อมทั้งต้องการสร้างความผูกพัน และความอบอุ่นภายในครอบครัว ดังนั้นคุณพ่อคุณแม่คนใดคนหนึ่งจึงควรสอนลูกด้วยตนเอง แต่ปกติแล้วคุณแม่จะใกล้ชิดกับลูกและทำให้ลูกรู้สึกอบอุ่นปลอดภัยมากกว่า แต่หากคุณแม่ไม่มั่นใจก็อาจให้คุณพ่อลงน้ำกับลูกได้
สำหรับหลักง่าย ๆ ในการสอนทารกว่ายน้ำคือ เมื่อนำเด็กลงน้ำจนเด็กรู้สึกสนุกสนาน และอยากเล่นน้ำ ให้นำเด็กขึ้นจากน้ำขณะที่เด็กยังสนุกสนานอยู่ เพื่อให้เด็กมีความทรงจำที่ดี แต่อย่าปล่อยให้เด็กรู้สึกเพลียหรือหนาวมากจนทรมาน เพราะเด็กจะรู้สึกไม่ดีและไม่อยากลงน้ำอีก พลเรือตรี นายแพทย์สุริยา กล่าวปิดท้าย
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ บริษัทที่ปรึกษาประชาสัมพันธ์ บริษัท โฟร์ฮันเดรท จำกัด
คุณสิทธิกร เสงี่ยมโปร่ง โทร. 02-510-5514-5 หรือ 01-913-1291
สามารถคลิกดูภาพประกอบได้ที่ www.thaipr.net--จบ--

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ