กรุงเทพฯ--18 ส.ค.--กบข.
กรมบัญชีกลางประชุมหารือร่วมกับกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) เพื่อพิจารณาเกี่ยวกับสิทธิบำนาญ เพื่อให้ผู้รับบำนาญได้รับประโยชน์มากที่สุด
นายมนัส แจ่มเวหา รองอธิบดีกรมบัญชีกลาง ในฐานะโฆษกกรมบัญชีกลาง เปิดเผยว่า ที่ผ่านมาได้มีข้าราชการที่เป็นสมาชิกกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) จำนวนหนึ่ง เสนอข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะเกี่ยวกับสูตรการคำนวณบำนาญในกรณีที่เข้าเป็นสมาชิก กบข. โดยเห็นว่า ทำให้ได้รับเงินบำนาญน้อยลง เมื่อเปรียบเทียบกับผู้ที่ไม่ได้สมัครเป็นสมาชิกจึงมีความประสงค์ขอให้กรมบัญชีกลางปรับสูตรในการคำนวณบำเหน็จบำนาญใหม่ เพื่อให้ได้รับบำนาญรายเดือนสูงขึ้น
ตามกฎหมายในปัจจุบัน ข้าราชการผู้เกษียณอายุที่ไม่ได้เป็นสมาชิก กบข. จะได้รับบำนาญ โดยใช้เงินเดือนเดือนสุดท้าย คูณด้วยอายุราชการ (เป็นปี) หารด้วย 50 ส่วนการคำนวณเงินบำนาญของสมาชิก กบข. จะคำนวณโดยใช้เงินเดือนเฉลี่ย 60 เดือนสุดท้าย มาเป็นฐานการคำนวณ แต่คำนวณแล้วต้องไม่เกินร้อยละ 70 ของเงินเดือนเฉลี่ย 60 เดือนสุดท้าย ซึ่งในประเด็นนี้ทำให้ผู้ที่เป็นสมาชิก กบข. และมีเวลาราชการทวีคูณได้รับเงินบำนาญน้อยกว่าผู้ที่ไม่ได้เป็นสมาชิก เพราะถูกจำกัดมิให้เกินร้อยละ 70 หรือผู้ที่ได้รับการเลื่อนขั้นเงินเดือนมาก ๆ ในช่วงก่อนเกษียณจะเสียเปรียบ เพราะถูกจำกัดให้ใช้เงินเดือนเฉลี่ย 60 เดือนสุดท้าย
เมื่อวันที่ 6 สิงหาคม 2551 กรมบัญชีกลาง กบข. และส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง ได้ประชุมหารือเกี่ยวกับกรณีนี้ ในเบื้องต้นจะพิจารณาว่า การได้รับเงินบำนาญน้อยลง เพราะการถูกจำกัดวงเงินไว้ให้ไม่เกินร้อยละ 70 ของเงินเดือนเฉลี่ย 60 เดือนสุดท้ายนั้นจะมองเพียงกรณีนี้กรณีเดียวไม่ได้ ต้องพิจารณาต่อไปอีกว่า ผู้ที่เข้าเป็นสมาชิก กบข. จะได้รับเงินประเดิม เงินสะสม เงินสมทบ เงินชดเชย และดอกผลของเงินเหล่านี้ด้วย ซึ่งผู้ที่ไม่ได้เข้าเป็นสมาชิก กบข. จะไม่ได้รับผลประโยชน์ในส่วนนี้ อย่างไรก็ตามที่ประชุมเห็นว่าควรจะต้องทำการศึกษาเปรียบเทียบความแตกต่างในเรื่องนี้ โดยจะนำข้อมูลของผู้ที่ออกจากราชการและเป็นสมาชิก กบข. เมื่อปีงบประมาณ 2550 ซึ่งมีจำนวน 8,518 คน มาคำนวณเงินก้อนที่ได้ และเงินบำนาญเปรียบเทียบเงินบำนาญสูตรเก่า เพื่อหาจำนวนเงินบำนาญที่เป็นส่วนต่างของทั้งสองกลุ่ม ว่าเป็นจำนวนเงินประมาณเท่าไร โดยมีสมมติฐานว่า ผู้ที่ได้รับเงินก้อนสามารถนำไปลงทุนได้ผลตอบแทนเท่ากับดอกเบี้ยเงินฝากประจำ 1 ปี และผู้รับบำนาญมีชีวิตอยู่ต่อตามอายุเฉลี่ยตามที่สำนักงานสถิติแห่งชาติได้สำรวจ จากนั้นจะนำเงินจำนวนดังกล่าวมาคำนวณเปรียบเทียบกับเงินประเดิม เงินสมทบ เงินชดเชย และดอกผลที่เกิดขึ้น ว่าเงินทั้งหมดที่ได้เพิ่มเติมจาก กบข. สามารถใช้จ่ายไปได้เป็นระยะเวลาเท่าใดมากกว่าหรือน้อยกว่าผู้ที่ไม่ได้เป็นสมาชิก กบข.
ทั้งนี้ เมื่อกรมบัญชีกลางและ กบข. ได้ข้อมูลเปรียบเทียบดังกล่าวมาเรียบร้อยแล้วจะนำไปดำเนินการต่อไปเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อผู้รับบำนาญที่เป็นสมาชิก กบข. ต่อไป