กรุงเทพฯ--18 ส.ค.--พีคคีปคอมมูนนิเคชั่น
ในปี 2549 การนำของเสียกลับมาใช้ประโยชน์ใหม่มีประมาณ 3.19 ล้านตัน คิดเป็นร้อยละ 22 ของขยะทั้งหมด ซึ่งเพิ่มจากปี 2548 เพียง 0.04 ล้านตัน โดยนำมาใช้ในการทำปุ๋ยและน้ำปุ๋ยชีวภาพประมาณ 0.20 ล้านตัน และคัดแยกเพื่อนำมารีไซเคิลประมาณ 2.99 ล้านตัน นอกจากนั้น กล่องเครื่องดื่ม ก็เป็นวัสดุอีกประเภทหนึ่งซึ่งเริ่มมีการรวบรวมเพื่อนำกลับมาใช้ประโยชน์ใหม่มากขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มเด็กนักเรียนในโรงเรียนหรือตามชุมชนก็ตาม โดยประโยชน์ของการรีไซเคิลนั้น นอกจากจะเป็นการลดค่าใช้จ่ายของภาครัฐในการกำจัดและฝังกลบแล้ว ยังจะเป็นการประหยัดทรัพยากรธรรมชาติได้อีกด้วย ว่ากันว่าในการผลิตกระดาษ 1 ตันต้องตัดต้นไม้ถึง 17 ต้นและต้องใช้พลังงานในการผลิตอีกเป็นจำนวนมาก ประเทศไทยมีอัตราการรีไซเคิลค่อนข้างต่ำเมื่อเทียบกับประเทศอื่น กล่าวคือ อัตราการรีไซเคิลของประเทศไทยอยู่ที่ 19% ในขณะที่ฮ่องกงมีอัตราการรีไซเคิล 36% สิงคโปร์มีอัตราการรีไซเคิล 39% และเกาหลีใต้มีอัตราการรีไซเคิล 45% การรีไซเคิลขยะ คือ การนำขยะกลับมาผ่านกระบวนการผลิต เพื่อแปรรูปหรือผลิตเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ เช่นการนำเศษอาหาร จำพวกที่เป็นขยะสด ผัก ผลไม้ ใบไม้ ใบหญ้า มาทำเป็นปุ๋ยหมัก หรือผลิตน้ำหมักชีวภาพ หรือการนำพลาสติกไปแปรรูปที่โรงงานแปรรูป ในประเทศจีน มีการรับซื้อขวดน้ำอัดลม และขวดน้ำมันพืช ชนิดใสที่เรียกว่าขวดเพท หรือ PET (พีอีที) เพื่อไปผลิตเป็นเส้นใยก่อนนำไปผลิตเป็นเสื้อผ้าอีกต่อหนึ่ง ขยะรีไซเคิลที่เป็นขยะแห้ง แบ่งได้เป็น 5 ประเภทใหญ่ๆ ด้วยกัน ได้แก่ พลาสติก กระดาษ แก้ว อลูมิเนียมและโลหะ กระบวนการรวบรวมขยะรีไซเคิลส่วนใหญ่ ทำโดยประชาชนที่ทำการคัดแยกขยะก่อนทิ้งเพื่อนำไปขายหรือบริจาค หรือโดยคนคุ้ยขยะและพนักงานเทศบาล ซึ่งจะทำการจัดเก็บ รวบรวมและคัดแยกขยะและวัสดุเหลือใช้จากถังขยะสาธารณะ จากท้ายรถขนขยะ นอกจากนี้ซาเล้งและรถรับซื้อของเก่า ก็เป็นอีกกลุ่มหนึ่งที่ตระเวนรับซื้อขยะและวัสดุเหลือใช้จากประชาชน สำหรับยี่ปั๊วหรือซาปั๊วหรือร้านรับซื้อของเก่าขนาดเล็กและขนาดกลาง ก็เป็นแหล่งรวบรวมและคัดแยกขยะรีไซเคิลและวัสดุเหลือใช้ โดยรับซื้อจากซาเล้ง คนคุ้ยขยะ พนักงานเทศบาล และประชาชนทั่วไป เอเย่นต์ก็เป็นอีกกลุ่มหนึ่งที่เป็นนายหน้ารับซื้อขยะรีไซเคิลจากยี่ปั๊ว เพื่อนำขยะรีไซเคิลส่งโรงงานแปรรูปอีกทีหนึ่ง
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ สถาบันการจัดการบรรจุภัณฑ์เพื่อสิ่งแวดล้อม สภาอุตสาหกรรม ชั้น 4 อาคารวังเด็ก ตึก4 ถนนวิภาวดี-รังสิต เขตจตุจักร กรุงเทพฯ 10900 โทรศัพท์ 02-2721552-3 ต่อ 14 แฟกซ์ 02-2721552-3 ต่อ 18 ติดต่อ คุณกวีนา จงฐิตินนท์ Strategic Planning and PR website: http://www.tipmse.or.th/th/about/index.aspx Email: tipmse_news@hotmail.com ตัวแทนประชาสัมพันธ์ บริษัทพีคคีปคอมมูนนิเคชั่น จำกัด 132 ซ.รามคำแหง 30/1 ถ.รามคำแหง หัวหมาก บางกะปิ กรุงเทพ 10240 โทรศัพท์ 02-732 9662 ติดต่อ คุณกัลยารัตน์ วิกรัยพัฒน์ Operation Coordinator Email: peekkeep@hotmail.com