กรุงเทพฯ--18 ส.ค.--กทม.
ดร.วัฒนา กันบัว ผู้อำนวยการศูนย์อุตุนิยมวิทยาทะเล กรมอุตุนิยมวิทยา กล่าวว่า พายุหมุนเขตร้อน (Tropical Cyclone) ซึ่งเป็นสาเหตุของการเกิดคลื่นพายุซัดฝั่งนั้น มีถิ่นกำเนิดเหนือมหาสมุทรใกล้เขตศูนย์สูตรเขตร้อน และจะทำให้เกิดคลื่นพายุซัดฝั่งได้เมื่อมีอุณหภูมิน้ำทะเลมากกว่า 26 องศาเซลเซียส และมีความชื้นมากเพียงพอ ซึ่งจะสามารถก่อตัวได้ในระยะเวลา 24 ชั่วโมง อย่างไรก็ตามด้วยความพร้อมของบุคลากรและอุปกรณ์ที่ทันสมัย กรมอุตุนิยมวิทยาจะสามารถแจ้งเตือนประชาชนหากพบการก่อตัวของพายุไซโคลนซึ่งอาจก่อให้เกิดคลื่นพายุซัดฝั่งได้ล่วงหน้า 4-6 วัน
ทั้งนี้กรุงเทพมหานครเป็นพื้นที่ที่มีความปลอดภัยมากแห่งหนึ่งในโลกเนื่องจากมีแรงเสียดทานในพื้นที่มากทั้งสภาพภูมิประเทศและสิ่งก่อสร้างจำนวนมากทำให้พายุที่ขึ้นฝั่งไม่สามารถพัฒนาความรุนแรงได้ ซึ่งโดยปกติพายุไซโคลนมีขนาดความกว้าง 300-1,500 กิโลเมตร แต่พื้นที่อ่าวไทยมีความกว้างเพียง 100 กิโลเมตรจึงทำให้เกิดแรงเสียดทานพายุและลดความรุนแรงลงได้ สำหรับวิธีการป้องกันที่ดีที่สุดหากเกิดคลื่นพายุซัดฝั่งคือการอพยพประชาชนให้เร็วที่สุด ทั้งนี้การตื่นตัวของประชาชนและการเตรียมการป้องกันของกรุงเทพมหานครถือเป็นสิ่งที่ดีเพื่อให้เกิดการเตรียมพร้อมหากเกิดอุบัติภัยอื่นๆ ได้ ถึงอย่างไรก็ตามกรุงเทพมหานครยังถือว่ามีโอกาสในการเกิดคลื่นพายุซัดฝั่งได้น้อยมาก