ปภ. สั่ง 4 จังหวัดอีสาน จับตาน้ำโขงล้นตลิ่ง ตลอด 24 ชั่วโมง

ข่าวทั่วไป Monday August 18, 2008 17:54 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--18 ส.ค.--ปภ.
กระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย รายงานสถานการณ์อุทกภัยจากภาวะน้ำโขงเอ่อล้นตลิ่ง ทำให้เกิดน้ำท่วมหนักใน 4 จังหวัดที่ตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำโขง ได้แก่ เชียงราย หนองคาย นครพนม และมุกดาหาร พร้อมประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งจัดส่งเรือท้องแบนขนย้ายทรัพย์สินสิ่งของ และอพยพผู้ประสบภัยไปอาศัยในพื้นที่ปลอดภัยแล้ว ทั้งนี้ ได้กำชับให้จังหวัดที่ตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำโขง และลำน้ำสาขาของน้ำโขง จัดเจ้าหน้าที่เฝ้าระวังติดตามสถานการณ์ตลอด 24 ชั่วโมงแล้ว สำหรับประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่เสี่ยงภัยโดยเฉพาะพื้นที่ลุ่มริมแม่น้ำโขง และลำน้ำสาขาต่างๆ ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือให้ระมัดระวังภาวะน้ำล้นตลิ่ง และน้ำท่วมฉับพลัน ใน 1 — 2 วันนี้ พร้อมติดตามระดับน้ำขึ้น — ลง ประกาศแจ้งเตือนภัยของภาครัฐอย่างใกล้ชิด เพื่อจะได้อพยพหนีภัยได้อย่างทันท่วงที
นายอนุชา โมกขะเวส อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เปิดเผยว่า ฝนที่ตกหนักทางตอนบนของประเทศ ส่งผลให้ระดับน้ำในแม่น้ำหลายสาย โดยเฉพาะแม่น้ำโขงมีปริมาณน้ำเพิ่มสูงขึ้นและเอ่อล้นตลิ่งเข้าท่วมในพื้นที่ลุ่มริมฝั่งในพื้นที่ 7 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดเชียงราย หนองคาย นครพนม สกลนคร หนองคาย เพชรบูรณ์ และมุกดาหาร รวม ๔๒ อำเภอ ๒๙๘ ตำบล ๒,๒๔๕ หมู่บ้าน ผู้เสียชีวิต ๒ ราย ราษฎรเดือดร้อน ๓๗๒,๐๖๓ คน ๙๑,๖๖๙ ครัวเรือน บ้านเรือนเสียหายบางส่วน ๙๘๘ หลัง ถนน ๗๑๗ สาย สะพาน ๕๘ แห่ง พื้นที่การเกษตรถูกน้ำท่วม ๑๐๐,๘๓๐ ไร่ มูลค่าความเสียหายเบื้องต้นประมาณ ๒๒๓,๕๓๐,๐๖๐ บาท ขณะนี้สถานการณ์อุทกภัยได้คลี่คลายเข้าสู่ภาวะปกติแล้ว ๓ จังหวัด โดยพื้นที่ที่ยังคงมีน้ำท่วมขัง และต้องเฝ้าระวังเป็นพิเศษ ได้แก่ ๔ จังหวัด ซึ่งตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำโขง (จังหวัดเชียงราย หนองคาย นครพนม และมุกดาหาร) ดังนี้ เชียงราย ยังมีน้ำล้นตลิ่งเข้าท่วมพื้นที่การเกษตร ๓ อำเภอ ได้แก่ อำเภอเชียงแสน เวียงแก่น และเชียงของ ระดับน้ำสูงประมาณ ๐.๒๐ — ๐.๓๕ ม. คาดว่าจะเข้าสู่ภาวะปกติใน ๒- ๓ วันนี้ หนองคาย ได้ประกาศให้ทุกอำเภอเป็นเขตภัยพิบัติแล้ว โดยเฉพาะในเขตเทศบาลเมืองหนองคาย มีระดับน้ำสูง ๐.๔๐.-๐.๘๐ ม. นครพนม พื้นที่การเกษตรได้รับความเสียหาย ๕ อำเภอ มีผู้เสียชีวิต ๑ ราย มีน้ำท่วมขังในพื้นที่ลุ่มต่ำของเขตเทศบาลเมือง มุกดาหาร น้ำเอ่อล้นตลิ่งเข้าท่วมพื้นที่ ๒ อำเภอ จากการติดตามสถานการณ์ปริมาณการไหล และระดับการขึ้น — ลง ของน้ำแม่น้ำโขง พบว่า ระดับน้ำโขงในพื้นที่จังหวัดหนองคาย นครพนม และมุกดาหาร ยังอยู่ในระดับสูงกว่าตลิ่ง ส่วนที่จังหวัดเชียงราย และเลย ต่ำกว่าตลิ่ง และมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง สำหรับการให้ความช่วยเหลือในเบื้องต้น ปภ. ได้สั่งการให้สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดในพื้นที่ที่ประสบภัยประสานจังหวัด อำเภอ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจัดกำลังเจ้าหน้าที่ ระดมเครื่องจักรกล ยานพาหนะ เรือท้องแบน อุปกรณ์ต่างๆ เข้าช่วยเหลือขนย้ายทรัพย์สินสิ่งของ และอพยพผู้ประสบภัยไปอาศัยอยู่ในพื้นที่ปลอดภัยแล้ว รวมทั้งได้นำเครื่องสูบน้ำกว่า 1,200 เครื่อง สูบน้ำออกจากพื้นที่แล้ว และนำกระสอบทรายไปเสริมเป็นแนวกั้นน้ำตลอดพื้นที่เสี่ยงริมแนวฝั่งแม่น้ำโขง ตลอดจนได้นำถุงยังชีพไปมอบให้แก่ผู้ประสบภัยในพื้นที่ต่างๆ แล้ว รวมถึง ปภ.ยังได้จัดเจ้าหน้าที่ทั้งอาสาสมัครแจ้งเตือนภัยดินถล่ม (มิสเตอร์เตือนภัย) สมาชิกอาสาสมัครป้องกันภัยฝ่ายพลเรือน (อปพร.) และทีมกู้ชีพกู้ภัยประจำตำบล ติดตามข้อมูลข่าวสารพยากรณ์อากาศ และ การขึ้น-ลง ของน้ำในแม่น้ำโขงอย่างใกล้ชิดตลอด24 ชั่วโมง หากสถานการณ์รุนแรง จะได้แจ้งเตือนประชาชนที่อาศัยอยู่ริมฝั่งแม่น้ำอพยพออกจากพื้นที่อย่างเร่งด่วน นอกจากนี้ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย (นายประสงค์ โฆษิตานนท์) พร้อมด้วย รองอธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (นายฉัตรชัย พรหมเลิศ) จะได้เดินทางไปตรวจสถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่จังหวัด ที่ตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำโขง พร้อมหารือร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการกำหนดแนวทางการแก้ไข และบรรเทาปัญหาน้ำล้นตลิ่งในเบื้องต้น นายอนุชา กล่าวเตือนประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ลุ่มของแม่น้ำโขง ลำน้ำสาขาต่างๆ ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้แก่ มุกดาหาร อำนาจเจริญ และอุบลราชธานี ระมัดระวังอันตรายจากภาวะน้ำล้นตลิ่ง และน้ำท่วมฉับพลันในระยะ 1 — 2 วันนี้ โดยให้หมั่นติดตามรับฟังพยากรณ์อากาศจากกรมอุตุนิยมวิทยา ระดับน้ำขึ้น — ลง จากกรมอุทกศาสตร์อย่างใกล้ชิด นำกระสอบทรายจัดทำคันกั้นน้ำหรือเสริมแนวคันกั้นน้ำให้สูงขึ้น และหมั่นตรวจสอบความแข็งแรงของคันกั้นอย่างสม่ำเสมอ เพื่อเตรียมรับมือกับสภาวะน้ำเอ่อล้นตลิ่งเข้าท่วมบ้านเรือน หากได้รับประกาศเตือน ให้รีบขนย้ายสิ่งของเครื่องใช้ที่จำเป็น เช่น ปลั๊กไฟ เครื่องใช้ไฟฟ้า แล้วนำไปเก็บไว้ในที่สูงหรือบริเวณที่น้ำท่วมไม่ถึง แต่หากพบว่าปริมาณน้ำเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องจนเกินจุดวิกฤติ ให้รีบอพยพออกจากบริเวณที่กระแสน้ำหลากหรือริมตลิ่งทันที อย่ามัวแต่ห่วงทรัพย์สินหรือของมีค่าอื่นใด ควรอพยพหนีเอาตัวรอดเพื่อป้องกันอันตรายจากการพลัดตกหรือจมน้ำเสียชีวิตได้ อย่างไรก็ตาม ขอให้ประชาชนในพื้นที่เสี่ยงภัย อย่าหลงเชื่อข่าวลือ และอย่าตื่นตระหนก และขอให้ติดตามรับฟังคำประกาศแจ้งเตือนภัยจากกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างใกล้ชิด เพื่อความปลอดภัยในการดำเนินชีวิต สุดท้ายนี้ หากประชาชนในพื้นที่ใด ได้รับความเดือดร้อนจากสถานการณ์อุทกภัย สามารถติดต่อขอความช่วยเหลือได้ที่สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดในพื้นที่ ศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขต 1 — 18 กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย หรือทางสายด่วน 1784ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อประสานและให้การช่วยเหลือโดยด่วนต่อไป

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ