โครงการฟิสิกส์สัประยุทธ์: ทัพหน้า

ข่าวทั่วไป Tuesday August 19, 2008 09:14 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--19 ส.ค.--สสวท.
หลักการและเหตุผล
ฟิสิกส์เป็นวิชาที่ศึกษาเกี่ยวกับแรงและอันตรกิริยาระหว่างอนุภาค และนำความรู้ที่ได้นี้มาอธิบายปรากฏการณ์ต่าง ๆ ในธรรมชาติ ไม่ว่าจะเป็นการตกของวัตถุสองก้อนที่มีมวลต่างกัน การจมการลอย การมองเห็นท้องฟ้าเป็นสีฟ้า การแผ่รังสีของธาตุกัมมันตรังสี เป็นต้น จะเห็นได้ว่า ปรากฏการณ์เหล่านี้เป็นสิ่งที่ใกล้ตัวเรามาก พบเห็นได้ในชีวิตประจำวัน บางอย่างสามารถอธิบายได้อย่างง่าย ๆ โดยไม่จำเป็นต้องอาศัยความรู้ทางฟิสิกส์ที่ซับซ้อนมากนัก แต่คนจำนวนมากก็ยังมองว่าฟิสิกส์เป็นสิ่งที่ไกลตัวมาก ไม่มีประโยชน์ในชีวิตประจำวัน แท้จริงแล้ว เบื้องหลังความสำเร็จของเทคโนโลยีต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นการคมนาคมขนส่ง การสื่อสาร การแพทย์ อุตสาหกรรม ล้วนแต่มีที่มาจากการศึกษาฟิสิกส์ในชีวิตประจำวัน แม้แต่อินเตอร์เนตที่ใช้กันอย่างแพร่หลายในโลกปัจจุบันก็คิดค้นโดยนักฟิสิกส์ ดังนั้น การแสดงให้คนทั่วไปเห็นถึงความเชื่อมโยงของวิชาฟิสิกส์กับสิ่งต่าง ๆ ในชีวิตประจำวันจึงเป็นสิ่งที่ไม่ควรจะถูกละเลย
ในโอกาสที่สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) จักได้จัดกิจกรรมสัปดาห์วิทยาศาสตร์ ในระหว่างวันที่ ๑๘ — ๒๔ สิงหาคม ๒๕๕๑ นั้น ภาควิชาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยซึ่งเป็นภาควิชาฟิสิกส์แห่งแรกของประเทศ และ สสวท. ซึ่งเป็นแหล่งข้อมูลและให้บริการทางวิชาการด้านการเรียนการสอนวิชาวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์และเทคโนโลยี ได้ตระหนักถึงความสำคัญและภาระหน้าที่ในการเผยแพร่ความรู้ทางฟิสิกส์สู่สังคม และสร้างความตระหนักถึงความสำคัญของการศึกษาวิชาฟิสิกส์ จึงได้ร่วมกันจัดโครงการดังกล่าวขึ้นเพื่อกระตุ้นการเรียนรู้วิชาฟิสิกส์และวิทยาศาสตร์แขนงต่าง ๆ ในประเทศไทยให้มากขึ้น เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศต่อไป
วัตถุประสงค์
๑. เพื่อเผยแพร่ความรู้ทางฟิสิกส์ให้แก่นักเรียน นิสิต นักศึกษา และผู้สนใจ
๒. เพื่อสร้างความตระหนักถึงความสำคัญของวิชาฟิสิกส์ และวิทยาศาสตร์แขนงอื่นที่เกี่ยวข้องในชีวิตประจำวัน
๓. เพื่อกระตุ้นให้เกิดกระบวนการเรียนรู้แบบคิดเป็น ทำเป็น แก้ปัญหาเป็น และการทำงานเป็นทีม
รูปแบบโครงการ
การประลองความรู้ ความสามารถ ทักษะและกระบวนการแก้ปัญหาทางฟิสิกส์ โดยแบ่งการแข่งขันออกเป็น ๒ รอบ ดังนี้
รอบที่ ๑ รอบท้าดวล
เป็นการสัประยุทธ์ระหว่างนักรบแต่ละทัพบนเวทีประลองยุทธ์ โดยแต่ละโรงเรียนคัดเลือกนักรบทัพละ ๓ คนเข้าทำการสัประยุทธ์ การจับคู่ท้าประลองจะทำโดยการสุ่มจับคู่ ในแต่ละคู่ นักรบแต่ละทัพจะทำการสัประยุทธ์กัน ๒ ยก ดังนี้
ยกที่ ๑ ทัพ ก ทำหน้าที่เป็นฝ่ายรับ ทัพ ข ทำหน้าที่เป็นฝ่ายรุก
ยกที่ ๒ ทัพ ข ทำหน้าที่เป็นฝ่ายรับ ทัพ ก ทำหน้าที่เป็นฝ่ายรุก
โดยฝ่ายรุกจะเป็นผู้เลือกปัญหาเพื่อให้ฝ่ายรับนำเสนอผลการศึกษาสำหรับปัญหานั้น ในกรณีที่ฝ่ายรับปฏิเสธ ให้ฝ่ายรุกเลือกปัญหาอื่นที่เหลืออยู่ นักรบฝ่ายรับทำการนำเสนอ ๑๐ นาที จากนั้นนักรบฝ่ายรุกทำการซักถามซักค้าน ๑๐ นาที
ทัพที่ได้คะแนนสูงสุด ๒ อันดับแรกจะผ่านเข้าสู่รอบที่ ๒ ต่อไป
รอบที่ ๒ รอบฟันธง
ทัพที่เข้าสู่รอบฟันธงจะทำการสัประยุทธ์กัน ๒ ยกในลักษณะเดียวกับรอบที่ ๑ แต่ละทัพจะเป็นผู้เลือกปัญหาที่จะนำเสนอเองแต่จะต้องไม่เป็นปัญหาที่ได้นำเสนอไปแล้วในรอบที่ ๑ และจะต้องไม่ซ้ำกัน โดยทัพที่ได้คะแนนสูงกว่ามีสิทธิ์เลือกก่อน การสัประยุทธ์ในรอบนี้จะไม่นำเอาคะแนนในรอบที่ ๑ มาคิด
ผู้ชนะอันดับ ๑ คือ ทัพที่ได้คะแนนสูงสุดในรอบที่ ๒
ผู้ชนะอันดับ ๒ คือ ทัพที่ได้คะแนนรองลงมาในรอบที่ ๒
นักรบทุกคนจะได้รับเกียรติบัตรในการสัประยุทธ์จากภาควิชาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
ผู้รับผิดชอบโครงการ
ภาควิชาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (อ.ดร.บุรินทร์ อัศวพิภพ และคณะ)
สาขาฟิสิกส์ สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (อ.ราม ติวารี และคณะ)
เวลาและสถานที่
วันที่ ๑๘ — ๒๔ สิงหาคม ๒๕๕๑ สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
ผลที่คาดว่าจะได้รับ
๑. นักเรียน นิสิต นักศึกษา และผู้สนใจ เข้าใจธรรมชาติของวิชาฟิสิกส์ และเห็นความสำคัญในการนำความรู้ทางฟิสิกส์มาใช้เพื่ออธิบายสิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้นรอบตัว
๒. นักเรียน นิสิต นักศึกษา และผู้สนใจ ตระหนักถึงความสำคัญของวิชาฟิสิกส์ และวิทยาศาสตร์แขนงอื่นที่เกี่ยวข้องในชีวิตประจำวัน
๓. นักเรียน นิสิต นักศึกษา และผู้สนใจ เกิดกระบวนการเรียนรู้แบบคิดเป็น ทำเป็น และแก้ปัญหาเป็น มีการทำงานเป็นทีม โดยสามารถนำความรู้ในศาสตร์ต่างๆ ที่เรียนมาเพื่อใช้ให้เกิดประโยชน์จริงในรูปแบบความรู้เชิงบูรณาการ

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ