กรุงเทพฯ--19 ส.ค.--กรมอุตุนิยมวิทยา
ตามที่ได้มีกระแสข่าวเกี่ยวกับการเกิดสตอมเซอจ (Storm Surge) โดยคาดว่าจะเกิดขึ้นบริเวณพื้นที่ชายฝั่งทะเลรอบอ่าวไทย โดยความรุนแรงเท่ากับพายุไซโคลน นาร์กีส ก่อให้เกิดความแตกตื่นของประชาชนโดยทั่วไป นั้น
กรมอุตุนิยมวิทยา ในฐานะหน่วยงานที่รับผิดชอบโดยตรง ขอชี้แจงข้อเท็จจริงเพื่อประกอบการตัดสินใจ ดังนี้
1. จากการวิเคราะห์ข้อมูลทางสถิติในรอบ 57 ปี ที่ผ่านมา พบว่ามีพายุเคลื่อนตัวเข้ามาในอ่าวไทยตอนบน ในช่วงเดือนกันยายนถึงเดือนพฤศจิกายน แต่ความแรงลมของพายุมักน้อยกว่า 100 กิโลเมตรต่อชั่วโมง
2. การเคลื่อนตัวของพายุในอ่าวเบงกอลที่เข้าประเทศพม่าเกิดจากลมที่มีความชื้นมาก ทำให้พายุมีกำลังแรงขึ้นก่อนขึ้นฝั่ง แต่พายุที่เคลื่อนตัวเข้าอ่าวไทย เกิดจากลมที่มีความชื้นน้อย ซึ่งจะทำให้พายุอ่อนกำลังลง และมีแรงลมน้อยกว่า 100 กิโลเมตรต่อชั่วโมง
3. สตอมเซอจที่เป็นอันตราย ส่วนมากเกิดจากพายุที่มีแรงลมมากกว่า 100 กิโลเมตรต่อชั่วโมง
4. ลักษณะภูมิประเทศของพม่าเป็นแบบเปิดรับลมแรงจากพายุพัดเข้าฝั่ง ส่วนอ่าวไทยตอนบนเป็นแบบแคบและปิด รวมทั้งลมแรงที่พัดเข้าหาพายุ เป็นลมที่พัดออกจากฝั่ง มิได้พัดเข้าบริเวณก้นอ่าวไทย
5. พื้นที่ชายฝั่งทะเลรอบอ่าวไทยตอนบนเคยเกิดสตอมเซอจ เมื่อครั้งพายุไต้ฝุ่นเกย์ ที่ขึ้นฝั่งจังหวัดชุมพร ในปี 2532 และพายุไต้ฝุ่นลินดา ที่ขึ้นฝั่งจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ในปี 2540 แต่ไม่รุนแรง ซึ่ง กรมอุตุนิยมวิทยา ยืนยันว่าถ้าจะมีพายุเคลื่อนตัวเข้ามาอีก ความรุนแรงที่เกิดขึ้นจะไม่รุนแรงมาก จะใกล้เคียงกับที่เคยเกิดจากอิทธิพลของพายุเกย์และพายุลินดา
6. จากการติดตามการก่อตัวของพายุ กรมอุตุนิยมวิทยา ยังไม่พบปัจจัยในการก่อตัวของพายุที่จะเคลื่อนตัวเข้าอ่าวไทยในระยะนี้ หากพบการก่อตัวของพายุและมีแนวโน้มว่าจะมีผลกระทบต่อประเทศไทย กรมอุตุนิยมวิทยา สามารถแจ้งเตือนให้ทราบล่วงหน้า เพื่อเตรียมป้องกันได้ไม่น้อยกว่า 5 วัน
สำนักพยากรณ์อากาศ กรมอุตุนิยมวิทยา
กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร
สำนักพยากรณ์อากาศ
โทร 0-2398-9830, 0-2399-4012-4 หรือ 1182
www.tmd.go.th