กรุงเทพฯ--19 ส.ค.--ปภ.
รายงานสถานการณ์อุทกภัยจากภาวะน้ำโขงล้นตลิ่งยังคงมีน้ำท่วมขังในที่ลุ่มริมฝั่งแม่น้ำโขงจำนวน 4 จังหวัด ได้แก่ เชียงราย หนองคาย นครพนม และมุกดาหาร ส่วนระดับน้ำโขงในพื้นที่จังหวัดหนองคาย นครพนม และมุกดาหาร ยังอยู่ในระดับสูงกว่าตลิ่ง ส่วนที่จังหวัดเชียงราย ต่ำกว่าตลิ่งจังหวัดอุบลราชธานี ต่ำกว่าตลิ่งและมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ทั้งนี้ได้ประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่งให้การช่วยเหลือผู้ประสบภัยและจัดเจ้าหน้าที่เฝ้าระวังติดตามสถานการณ์ตลอด 24 ชั่วโมง
นายอนุชา โมกขะเวส อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เปิดเผยว่า ฝนที่ตกหนักทางตอนบนของประเทศ ส่งผลให้ระดับน้ำในแม่น้ำโขง มีปริมาณเพิ่มสูงขึ้น และเอ่อล้นตลิ่งท่วมพื้นที่ลุ่มริมฝั่ง โดยขณะนี้ ยังคงมีน้ำท่วมขังในพื้นที่ ๔ จังหวัด ที่ตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำโขง ได้แก่ จังหวัดเชียงราย หนองคาย นครพนม และมุกดาหาร ดังนี้ เชียงราย ปริมาณน้ำในลุ่มน้ำต่างๆ มีปริมาณมาก และเอ่อล้นตลิ่งเข้าท่วมพื้นที่การเกษตร ๓ อำเภอ ได้แก่ อำเภอเชียงแสน เวียงแก่น และเชียงของ หนองคาย สถานการณ์น้ำที่ท่วมขังในเขตเทศบาลเมืองหนองคาย คลี่คลายเข้าสู่สภาวะปกติแล้ว แต่ปริมาณในแม่น้ำโขงยังมีปริมาณสูงขึ้นเอ่อล้นตลิ่งเข้าท่วมพื้นที่ทางการเกษตรใน ๙ อำเภอ นครพนม พื้นที่การเกษตรได้รับความเสียหาย ๕ อำเภอ ๑๘ ตำบล ๒๔๐ หมู่บ้าน มีน้ำท่วมขังในพื้นที่ลุ่มต่ำของเขตเทศบาลเมือง มุกดาหาร น้ำจากแม่น้ำโขงที่ไหลมาจากจังหวัดนครพนมมีปริมาณสูงขึ้นและเอ่อล้นตลิ่งเข้าท่วมพื้นที่ ๒ อำเภอ ๕ ตำบล ๑๘ หมู่บ้าน
ทั้งนี้ จากการติดตามสถานการณ์ปริมาณการไหล และระดับการขึ้น — ลง ของน้ำแม่น้ำโขง พบว่า ระดับน้ำโขงในพื้นที่จังหวัดหนองคาย นครพนม และมุกดาหาร ยังอยู่ในระดับสูงกว่าตลิ่ง แต่มีแนวโน้มลดลง ส่วนที่จังหวัดเชียงราย ต่ำกว่าตลิ่ง และมีแนวโน้มลดลง สำหรับจังหวัดอุบลราชธานี ต่ำกว่าตลิ่งและมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น จึงขอให้ประชาชนที่อาศัยอยู่ริมแนวฝั่งแม่น้ำโขงและลำน้ำสาขาแม่น้ำโขงในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เตรียมความพร้อมรับมือภาวะน้ำล้นตลิ่ง และน้ำท่วมฉับพลันต่อไปอีก เพราะยังคงมีฝนตกหนักในพื้นที่ดังกล่าว สำหรับการให้ความช่วยเหลือ ปภ.ได้สั่งการให้สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดในพื้นที่ที่ประสบภัยประสานจังหวัด อำเภอ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจัดกำลังเจ้าหน้าที่ ระดมเครื่องจักรกล ยานพาหนะ เรือท้องแบน อุปกรณ์ต่างๆ เข้าช่วยเหลือและฟื้นฟูบูรณะในพื้นที่ที่ประสบอุทกภัย รวมทั้งได้นำเครื่องสูบน้ำกว่า ๑,๒๐๐ เครื่อง สูบน้ำออกจากพื้นที่แล้ว และนำกระสอบทรายไปเสริมเป็นแนวกั้นน้ำตลอดพื้นที่เสี่ยงริมแนวฝั่งแม่น้ำโขง ตลอดจนได้นำถุงยังชีพไปมอบให้แก่ผู้ประสบภัยในพื้นที่ต่างๆ แล้ว
รวมถึง ปภ.ยังได้จัดเจ้าหน้าที่ทั้งอาสาสมัครแจ้งเตือนภัยดินถล่ม (มิสเตอร์เตือนภัย) สมาชิกอาสาสมัครป้องกันภัยฝ่ายพลเรือน (อปพร.) และทีมกู้ชีพกู้ภัยประจำตำบล ติดตามข้อมูลข่าวสารพยากรณ์อากาศ และการขึ้น-ลง ของน้ำในแม่น้ำโขงอย่างใกล้ชิดตลอด ๒๔ชั่วโมง หากสถานการณ์รุนแรง จะได้แจ้งเตือนประชาชนที่อาศัยอยู่ริมฝั่งแม่น้ำอพยพออกจากพื้นที่อย่างเร่งด่วน สุดท้ายนี้ หากประชาชนในพื้นที่ใด ได้รับความเดือดร้อนจากสถานการณ์อุทกภัย สามารถติดต่อขอความช่วยเหลือได้ที่สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดในพื้นที่ ศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขต ๑ — ๑๘ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย หรือทางสายด่วน ๑๗๘๔ ตลอด ๒๔ ชั่วโมง เพื่อประสานและให้การช่วยเหลือโดยด่วนต่อไป