นักวิชาการชี้จุดอับ ท่อระบายน้ำ มีโอกาสเสี่ยงระเบิดได้

ข่าวทั่วไป Wednesday August 20, 2008 16:09 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--20 ส.ค.--สวทช.
จากกรณีเหตุการณ์ระเบิดเป็นแถวยาวในท่อระบายน้ำริมถนนพหลโยธินแถวซอย 45-49 ระยะทางกว่า 1 กิโลเมตร ทำให้ฝาท่อระบายน้ำแตกกระจายไป 37 ฝา และมีผู้ได้รับบาดเจ็บจากแรงระเบิด 1 คน เมื่อเร็วๆนี้ ผลการสอบสวนพบมีเทนและคราบน้ำมันมากผิดปกติผสมอยู่ด้วยซึ่งสันนิษฐานเบื้องต้นว่าถูกทิ้งมาจากปั้มน้ำมันและพอดีอาจมีใครโยนก้นบุหรี่ลงไป ขณะที่นักวิชาการชี้ว่าบริเวณจุดอับอากาศและมีการเน่าเปื่อย มีออกซิเจนน้อย เช่นท่อระบายน้ำ ห้องน้ำ บ่อหมัก แม้ไม่มีคราบน้ำมันก็นับเป็นจุดเสี่ยงที่มีโอกาสระเบิดได้ หากมีการทิ้งประกายไฟลงไป ที่สำคัญยังมีผลให้คนทำงานในบริเวณดังกล่าวมีโอกาส วูบ หมดสติเนื่องจากขาดอากาศหายใจ
รศ.สุชาตา ชินะจิตร ผู้ช่วยผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย กล่าวว่า คนส่วนใหญ่อาจเข้าใจว่าต้องบริเวณที่มีน้ำมันเป็นเชื้อเพลิงเท่านั้นจึงทำให้เกิดการลุกไหม้หรือระเบิดได้ แต่ปกติแล้วในท่อระบายน้ำหรือบริเวณที่อับอากาศซึ่งออกซิเจนน้อย จะมีผลทำให้ขยะหรือสารอินทรีย์เกิดการย่อยสลายไม่สมบูรณ์เกิดแก๊สมีเทนซึ่งไวไฟสะสมแทนคาร์บอนไดออกไซด์(เมื่อมีการเผาไม้สมบูรณ์)ซึ่งไม่ติดไฟ และด้วยแก๊สมีเทนซึ่งมีคุณสมบัติไวไฟมาก เมื่อมีอะไรที่สามารถจุดไฟขึ้นมาได้ อาทิ ก้านไม้ขีด หรือก้นบุหรี่ที่ยังไม่ดับทิ้งลงไปก็จะลุกเป็นไฟ และหากมีแก๊สมีเทนสะสมมากจะก่อให้เกิดการขยายตัวของแก๊สรุนแรงเป็นแรงระเบิดได้ ทั้งนี้ความเสี่ยงอีกประการหนึ่งที่คือ ในที่อับอากาศและมีแก๊สมีเทนสูงจะทำให้ปริมาณออกซิเจนน้อย คนที่ลงไปทำความสะอาดในท่อระบายน้ำ ถังหมักจึงควรระมัดระวัง เพราะมีโอกาสขาดอากาศหายใจ ซึ่งอาจวูบไปโดยไม่รู้ตัว
"สิ่งสำคัญคืออยากให้ประชาชนมีความระมัดระวังในการทิ้งบุหรี่หรือประกายไฟในบริเวณจุดเสี่ยงมากขึ้น เนื่องจากก๊าซมีเทนมีความไวไฟสูง ซึ่งเราไม่มีทางรู้ได้ว่าในท่อระบายน้ำ หรือจุดอับมีการสะสมของก๊าซมีเทนมากเท่าใดแล้ว แม้โอกาสเสี่ยงในการระเบิดจะมีน้อยแต่ก็มีความเป็นไปได้ ดังนั้นหนทางที่ดีที่สุดคือการดับบุหรี่ให้สนิทและทิ้งลงถังขยะเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดกรณีเช่นนี้อีก" รศ.สุชาตา กล่าว
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ศูนย์สื่อสารวิทยาศาสตร์ไทย ส่วนงานกลาง สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ โทรศัพท์ 0-2564-7000 ต่อ 1461 ,1462 โทรสาร 0-2564-7000 ต่อ 1482 e-mail : thaismc@nstda.or.th

แท็ก สวทช.  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ