กรุงเทพฯ--21 เม.ย.--กรมพัฒนาที่ดิน
ดินเค็มอีสานยังวิกฤต กรมพัฒนาที่ดินเผยผลการศึกษาร่วมมหาลัยดังจากออสเตรเลีย ชี้ต้นเหตุสำคัญจากเกษตรกรใช้ที่ดินไม่เหมาะสม ระบุหาก 30 ปียังมีการใช้ประโยชน์ที่ดินปลูกมันสำปะหลังเท่ากับปัจจุบัน ดินเค็มมีโอกาสกระจายสูงถึง 22% ตีเป็นมูลค่าความเสียหายกว่า 400 ล้านบาท
นายอรรถ สมร่าง อธิบดีกรมพัฒนาที่ดิน เปิดเผยว่า ปัญหาดินเค็มในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่มีมากกว่า 17.8 ล้านไร่ หรือ คิดเป็นหนึ่งในสามของพื้นที่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ถือเป็นปัญหาสำคัญที่ต้องเร่งดำเนินการแก้ไขและป้องกันไม่ให้เกิดการแพร่กระจายของพื้นที่ดินเค็มมากขึ้น ซึ่งที่ผ่านมากรมพัฒนาที่ดินได้ประสานงานกับหน่วยงานของรัฐ สถาบันการศึกษา ตลอดจนหน่วยงานต่างประเทศเพื่อศึกษาถึงแนวทางแก้ไขมาโดยตลอด และล่าสุดได้ร่วมกับ University of Technology Sydney ประเทศออสเตรเลีย โดยมี ACIAR เป็นผู้ให้การสนับสนุน ศึกษาแบบจำลองเบื้องต้นสำหรับประเมินการแพร่กระจายดินเค็ม จากข้อมูลการเปลี่ยนแปลงการใช้ที่ดินและสมดุลน้ำในระดับลุ่มน้ำ (ICHAM)
นางอรุณี ยูวะนิยม หัวหน้าส่วนวิจัยและพัฒนาดินเค็ม สถาบันวิจัยเพื่อการป้องกันการเป็นทะเลทรายและการเตือนภัย กรมพัฒนาที่ดิน กล่าวว่า จากการศึกษาการเปลี่ยนแปลงการใช้ประโยชน์ที่ดินที่มีผลต่อการเปลี่ยนสมดุลของน้ำใต้ดินในลุ่มน้ำภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยใช้แบบจำลอง ICHAM ศึกษาที่บริเวณอ.ขามทะเลสอ จ.นครราชสีมาพบว่า ในอีก 30 ปีข้างหน้า หากยังคงมีการใช้ประโยชน์ที่ดินเพื่อการเกษตรกรรมในแบบปัจจุบันต่อไปเรื่อยๆ พื้นที่ดินเค็มจะขยายตัวเพิ่มขึ้นจากเดิม 13% เป็น 22% ส่งผลกระทบต่อรายได้ของเกษตรกร โดยมีมูลค่าความเสียหายประเมินแล้วสูงถึง 440 ล้านบาท
สำหรับวิธีการป้องกันเพื่อไม่ให้เกิดการแพร่กระจายดินเค็มนั้น จำเป็นต้องมีการรณรงค์และสนับสนุนให้เกษตรกรมีการใช้ประโยชน์ที่ดินอย่างเหมาะสม โดยเฉพาะการปลูกไม้ยืนต้นบนพื้นที่รับน้ำ เช่น สะเดา ยูคาลิปตัส ต้นไม้พื้นเมือง ส่วนในพื้นที่ดินเค็มจัดที่อยู่ในที่ลุ่มควรปลูกต้นไม้ทนเค็ม เช่น กระถินออสเตรเลีย หญ้าดิ๊กซี่ เพื่อลดระดับน้ำใต้ดินที่จะไหลลงไปเพิ่มเติมระดับน้ำใต้ดินเค็ม อันเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดการแพร่กระจายของดินเค็ม ตลอดจนการลดพื้นที่ปลูกมันสำปะหลัง ซึ่งปัจจุบันใน อ.ขามทะเลสอ มีมากถึง 111,217 ไร่ เกินกว่าระดับความเหมาะสมถึง 20,827 ไร่ หรือ ปลูกแพหญ้าแฝกสลับในไร่มันสำปะหลัง ก็จะเป็นอีกวิธีหนึ่งที่จะช่วยป้องกันการชะล้างพังทลายของดินและรักษาความชื้นในดินไว้ได้--จบ--