ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมกรกฎาคม 2551 ฟื้น รับอานิสงส์น้ำมันขาลง

ข่าวทั่วไป Thursday August 21, 2008 11:47 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--21 ส.ค.--สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย
นายสันติ วิลาสศักดานนท์ ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยผลการสำรวจความเชื่อมั่นของภาคอุตสาหกรรมไทย (Thai Industries Sentiment Index: TISI) ในเดือนกรกฎาคม 2551 ที่ได้จากการสำรวจกลุ่มตัวอย่างจำนวน 1,048 ตัวอย่าง ครอบคลุม 39 กลุ่มอุตสาหกรรมของสภาอุตสาหกรรมฯ ว่าค่าดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมอยู่ที่ 76.9 เพิ่มขึ้นจากเดือนมิถุนายน 2551 ที่อยู่ในระดับ 73.6 โดยได้รับผลดีจากราคาน้ำมันที่ปรับตัวลดลง ส่งผลดีต่อต้นทุนการประกอบการที่ลดลง ด้านยอดคำสั่งซื้อและยอดขายยังคงมีการปรับเพิ่มขึ้น ประกอบกับค่าเงินบาทที่อ่อนค่าเป็นเดือนที่ 4 ติดต่อกัน ทำให้ความสามารถในการแข่งขันปรับตัวดีขึ้น ส่งผลให้ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมมีความเชื่อมั่นเพิ่มขึ้นตามไปด้วย เช่นเดียวกับความเชื่อมั่นคาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าที่ปรับเพิ่มขึ้นจากระดับ 77.0 เป็น 82.9 โดยคาดว่าได้รับผลดีจากสถานการณ์ปัจจุบันราคาน้ำมันที่ปรับตัวลดลง ค่าเงินบาทที่อ่อนค่า
ด้านความเชื่อมั่นกลุ่มอุตสาหกรรมต่างๆ พบว่า อุตสาหกรรมที่ค่าดัชนีปรับตัวเพิ่มขึ้นและอยู่ในระดับที่สูงกว่า 100 มี 4 อุตสาหกรรมประกอบด้วย อุตสาหกรรมพลังงานทดแทน อุตสาหกรรมการจัดการของเสียและวัสดุเหลือใช้ อุตสาหกรรมโรงกลั่นน้ำมันปิโตรเลียม และอุตสาหกรรมก๊าซ โดยสังเกตได้ว่าเป็นอุตสาหกรรมด้านพลังงาน 3 อุตสาหกรรมที่ได้รับผลดีต่อเนื่องจากราคาพลังงานที่ปรับเพิ่มสูงขึ้นในช่วงที่ผ่านมา
ส่วนความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการอุตสาหกรรมจำแนกตามภูมิภาค พบว่า ความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการในภูมิภาคต่างๆ ปรับตัวเพิ่มขึ้น (ยกเว้นภาคตะวันออก) โดยได้รับผลดีจากต้นทุนการประกอบการที่ปรับตัวลดลง ขณะที่กำลังซื้อและความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในภูมิภาคต่างๆ ปรับตัวดีขึ้น ส่งผลดีต่อยอดคำสั่งซื้อและยอดขายของกิจการ ขณะที่อุตสาหกรรมภาคตะวันออก ผู้ประกอบการมีความเชื่อมั่นที่ลดลงเล็กน้อย จากการปรับตัวลดลงของอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ อุตสาหกรรมเครื่องปรับอากาศและเครื่องทำความเย็น รวมทั้งอุตสาหกรรมชิ้นส่วนและอะไหล่ยานยนต์เป็นสำคัญ (ภาคตะวันออกเป็นที่ตั้งโรงงานที่สำคัญของอุตสาหกรรมเหล่านี้รองจากภาคกลาง)
ทั้งนี้ความเชื่อมั่นของอุตสาหกรรมจำแนกตามสัดส่วนการส่งออกพบว่า ผู้ประกอบการที่เน้นจำหน่ายทั้งตลาดในประเทศและตลาดต่างประเทศต่างมีความเชื่อมั่นปรับเพิ่มสูงขึ้น โดยผู้ประกอบการที่เน้นจำหน่ายตลาดในประเทศได้รับผลดีจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ ที่ช่วยให้กำลังซื้อของผู้บริโภคเพิ่มขึ้น ส่งผลให้ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคเริ่มปรับตัวดีขึ้น ขณะที่ผู้ประกอบการที่เน้นจำหน่ายตลาดต่างประเทศได้รับผลดีจากทั้งยอดคำสั่งซื้อและยอดขายที่ยังคงปรับเพิ่มขึ้น แสดงให้เห็นถึงเศรษฐกิจที่คาดว่าจะยังคงสามารถขยายได้ในระยะ 3 เดือนข้างหน้า ประกอบกับค่าเงินบาทที่ยังคงอ่อนค่าต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 ส่งผลดีต่อขีดความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรม ส่วนอุตสาหกรรมที่เน้นจำหน่ายทั้งตลาดในประเทศและต่างประเทศผู้ประกอบการมีความเชื่อมั่นทรงตัวในทิศทางที่ลดลงเล็กน้อย
สำหรับสภาวะแวดล้อมการดำเนินกิจการในเดือนกรกฎาคม ถือเป็นเดือนแรกของปี 2551 ที่ปัจจัยแวดล้อมในการดำเนินกิจการผ่อนคลายมากขึ้นกล่าวคือ ราคาน้ำมันปรับตัวลดลง อัตราแลกเปลี่ยนมีเสถียรภาพในทิศทางที่อ่อนค่าเล็กน้อย เศรษฐกิจโลกยังคงขยายตัวได้ ส่วนการปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยเพื่อลดแรงกดดันเงินเฟ้อมีความจำเป็นน้อยลง
ด้านข้อเสนอแนะของผู้ประกอบการต่อภาครัฐ ผู้ประกอบการส่วนใหญ่มีความเห็นสอดคล้องกันว่าภาครัฐควรกำหนดนโยบายพลังงานทดแทนที่ชัดเจน พร้อมหามาตรการส่งเสริมระยะยาว ให้สถาบันการเงินปล่อยสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำเพื่อให้ภาคอุตสาหกรรมมีเงินทุนหมุนเวียน ดูแลค่าเงินบาทให้มีเสถียรภาพ รวมถึงส่งเสริมและพัฒนาฝีมือแรงงาน เพิ่มอัตราค่าจ้างและสวัสดิการ เพื่อลดปัญหาการขาดแคลนแรงงาน โดยเฉพาะแรงงานที่มีฝีมือ และเร่งสร้างเสถียรภาพทางการเมืองสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนต่างชาติ
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมติดต่อ
ฝ่ายประชาสัมพันธ์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย
โทร. 0-2345-1017 โทรสาร 0-2345-1296-9

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ