ทริสเรทติ้งประกาศอันดับเครดิตองค์กร “บ. น้ำประปาไทย” ที่ระดับ “AA-/Stable”

ข่าวเศรษฐกิจ Friday August 22, 2008 08:02 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--22 ส.ค.--ทริสเรทติ้ง
บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ประกาศอันดับเครดิตองค์กรของ บริษัท น้ำประปาไทย จำกัด (มหาชน) ที่ระดับ “AA-” ด้วยแนวโน้ม “Stable” หรือ “คงที่” โดยอันดับเครดิตสะท้อนสถานะของบริษัทในการเป็นผู้ให้บริการน้ำประปาเอกชนรายใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ตลอดจนกระแสเงินสดที่สม่ำเสมอจากสัญญาขายน้ำขั้นต่ำระยะยาว แนวโน้มการเติบโตที่ดีของธุรกิจน้ำประปา และความเสี่ยงในการดำเนินงานที่อยู่ในระดับต่ำ โดยอันดับเครดิตดังกล่าวยังพิจารณาถึงความสามารถของคณะผู้บริหารและอุปสรรคในการเข้าสู่ธุรกิจที่อยู่ในระดับสูง อย่างไรก็ตาม ความแข็งแกร่งดังกล่าวถูกลดทอนลงบางส่วนจากการที่บริษัทมีสัดส่วนเงินกู้จำนวนหนึ่งสำหรับใช้ลงทุนในโรงผลิตน้ำประปาและท่อจ่ายน้ำ รวมถึงการมีกระแสเงินสดที่ขึ้นอยู่กับผลการดำเนินงานของการประปาส่วนภูมิภาค (กปภ.) เป็นหลัก และพระราชบัญญัติทรัพยากรน้ำที่ยังไม่มีข้อสรุป
แนวโน้มอันดับเครดิต “Stable” หรือ “คงที่” สะท้อนถึงการคาดการณ์ว่าบริษัทจะสามารถรักษาสถานะผู้นำในการเป็นผู้ให้บริการน้ำประปาเอกชนและคงความสามารถในการสร้างกระแสเงินสดเอาไว้ได้ โดยที่การดำเนินธุรกิจของบริษัทไม่น่าจะได้รับผลกระทบที่รุนแรงจากการออกพระราชบัญญัติทรัพยากรน้ำ นอกจากนี้ การลงทุนในอนาคตควรได้รับการพิจารณาอย่างรอบคอบโดยจะต้องไม่มีผลกระทบต่อฐานะทางการเงินและสภาพคล่อง ทั้งนี้ การให้การสนับสนุนทางการเงินแก่บริษัทแม่ที่มีฐานะทางการเงินที่อ่อนกว่าจะส่งผลกระทบต่ออันดับเครดิตของบริษัท
ทริสเรทติ้งรายงานว่า บริษัทน้ำประปาไทยซึ่งเดิมชื่อ บริษัท วีเคซีเอส (ประเทศไทย) จำกัด เป็นผู้ให้บริการน้ำประปาเอกชนรายใหญ่ที่สุดในประเทศไทยซึ่งมีกำลังการผลิตทั้งสิ้นจำนวน 628,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน (ลบ.ม./วัน) บริษัทก่อตั้งโดย บริษัท ช. การช่าง จำกัด (มหาชน) และ บริษัท เธมส์ วอเตอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล (ประเทศไทย) จำกัด ในปี 2543 โดยมีสัดส่วนการถือหุ้นเท่าๆ กัน ปัจจุบัน บริษัท ช. การช่าง เป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ในสัดส่วน 35.3% ในขณะที่ บริษัท มิตซุย วอเตอร์ โฮลดิ้ง (ประเทศไทย) จำกัด ถือ 25.9% บริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2551 บริษัทเป็นผู้ให้บริการน้ำประปาในพื้นที่ 2 เขต ได้แก่ เขตพื้นที่จังหวัดนครปฐมและสมุทรสาครซึ่งบริษัทเป็นผู้ดำเนินการโดยตรง และพื้นที่เขตจังหวัดปทุมธานีซึ่งดำเนินการโดยบริษัทลูกที่บริษัทถือหุ้น 98% คือ บริษัท ประปาปทุมธานี จำกัด บริษัทมีกำลังการผลิตน้ำประปารวม 320,000 ลบ.ม./วัน ในขณะที่บริษัทประปาปทุมธานีมี 308,000 ลบ.ม./วัน รายได้ของบริษัทได้รับการประกันโดยสัญญาซื้อขายน้ำะยะยาวที่มีกับ กปภ. โดยมีการกำหนดปริมาณน้ำขั้นต่ำที่ต้องรับซื้อ และบริษัทยังเป็นเจ้าของท่อน้ำประธานและท่อจ่ายน้ำบางส่วนซึ่งเป็นอุปสรรคต่อผู้ประกอบการรายใหม่ในพื้นที่ให้บริการของบริษัท ในวันที่ 20 กันยายน 2543 บริษัทได้ทำสัญญาซื้อขายน้ำประปากับ กปภ. ระยะเวลา 30 ปี ระหว่าง 21 กรกฎาคม 2547-20 กรกฎาคม 2577 เพื่อดำเนินการผลิตและจ่ายน้ำประปาโดยมีลักษณะสัญญาแบบ Build-Own-Operate ส่วนบริษัทประปาปทุมธานีมีสัญญาซื้อขายน้ำประปากับ กปภ. ระยะเวลา 25 ปี ระหว่าง 15 ตุลาคม 2541-14 ตุลาคม 2566 โดยมีลักษณะสัญญาแบบ Build-Own-Operate-Transfer นอกจากนี้ ณ วันที่ 15 กันยายน 2549 บริษัทยังได้ทำสัญญาซื้อขายน้ำประปาเพิ่มอีกจำนวน 70,000 ลบ.ม./วันกับ กปภ. โดยสัญญามีการประกันปริมาณน้ำขั้นต่ำที่ กปภ. จะต้องรับซื้อ และสูตรการคำนวณอัตราค่าน้ำจะเป็นไปตามดัชนีราคาผู้บริโภค ส่งผลให้บริษัทมีรายได้ที่แน่นอนภายใต้สัญญาระยะยาวดังกล่าว แต่ก็มีความเสี่ยงจากการที่มี กปภ. เป็นลูกค้าเพียงรายเดียว ในด้านความน่าเชื่อถือนั้น กปภ. เป็นรัฐวิสาหกิจที่มีหน้าที่รับผิดชอบในการให้บริการน้ำประปาในส่วนภูมิภาคทั่วประเทศ ซึ่งสามารถสร้างผลกำไรจำนวน 260-994 ล้านบาทในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา โดยที่สินทรัพย์รวมและส่วนของผู้ถือหุ้นของ กปภ. ณ สิ้นปีงบประมาณ 2550 อยู่ที่ 54,881 ล้านบาท และ 35,759 ล้านบาทตามลำดับ
ทริสเรทติ้งกล่าวว่า การดำเนินงานของบริษัทน้ำประปาไทยในช่วงแรกได้รับการสนับสนุนจากบริษัทเธมส์ วอเตอร์ โดยบริษัทมีผลการดำเนินงานอยู่ในระดับสูงอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ก่อตั้งแม้จนกระทั่งเมื่อบริษัทเธมส์ วอเตอร์ได้ถอนหุ้นจากบริษัทไปเมื่อปี 2548 บริษัทและบริษัทประปาปทุมธานีมีความเสี่ยงจากการดำเนินงานในระดับต่ำเมื่อเทียบกับสาธารณูปโภคอื่นๆ เนื่องจากเทคโนโลยีในการผลิตน้ำประปาไม่ซับซ้อน ทั้งนี้ งานที่ชะงักส่วนใหญ่เกิดจากกระแสไฟฟ้าขัดข้องซึ่งส่งผลให้เกิดความไม่ต่อเนื่องในการจ่ายน้ำ อย่างไรก็ตาม อัตรางานที่ชะงักมีระดับต่ำกว่า 0.5% ของเวลาในการดำเนินงานทั้งหมดของบริษัททั้งสองในช่วง 4 ปีที่ผ่านมาเนื่องจากมีการติดตั้งเครื่องกำเนิดไฟฟ้าสำรองเอาไว้ แหล่งน้ำที่เพียงพอและคุณภาพน้ำเป็นปัจจัยสำคัญในการผลิตน้ำประปา บริษัทใช้น้ำจากแม่น้ำท่าจีนและแม่น้ำเจ้าพระยาเป็นแหล่งน้ำดิบที่สำคัญซึ่งมีปริมาณน้ำที่เพียงพอ โดยน้ำดิบจากแหล่งน้ำทั้ง 2 แห่งมีคุณภาพที่แตกต่างกันซึ่งบริษัทสามารถนำไปผลิตเป็นน้ำประปาคุณภาพสูงได้ บริษัทได้รับประโยชน์จากนโยบายของภาครัฐที่ให้ระงับการใช้น้ำบาดาลซึ่งส่งผลให้ยอดขายน้ำของบริษัทในพื้นที่ให้บริการทั้ง 2 แห่งเติบโตอย่างมีนัยสำคัญ บริษัทเริ่มให้บริการน้ำประปาในจังหวัดนครปฐมและสมุทรสาครในปี 2547 โดยมียอดขายน้ำประปาเพิ่มขึ้น 23.7% ในปี 2549 และ 11.8% ในปี 2550 และคาดว่าอัตราการเติบโตจะสูงยิ่งขึ้นในปี 2551 บริษัทประปาปทุมธานีเริ่มดำเนินกิจการในปี 2541 และบริษัทน้ำประปาไทยได้เข้าซื้อกิจการในกลางปี 2550 บริษัทประปาปทุมธานีมีอัตราเติบโตเฉลี่ยของยอดขายปีละ 12.3% ในช่วงปี 2545-2550 อย่างไรก็ตาม ในปี 2551 อัตราการเติบโตอาจลดลงเนื่องจากนิคมอุตสาหกรรมบางแห่งมีการสร้างโรงผลิตน้ำประปาเพื่อใช้เอง
บริษัทน้ำประปาไทยมีฐานะทางการเงินที่แข็งแกร่งเนื่องจากการมีสัญญาที่ดีกับ กปภ. อีกทั้งยังมีความต้องการน้ำที่อยู่ในระดับสูง บริษัทมีกระแสเงินสดภายในเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วนับแต่เริ่มเปิดดำเนินการ ในปี 2550 รายได้รวมของบริษัทเพิ่มขึ้น 53% สู่ระดับ 2,590 ล้านบาทเนื่องจากการซื้อกิจการของบริษัทประปาปทุมธานีในไตรมาสที่ 2 และความต้องการน้ำเป็นอย่างมากของอุตสาหกรรมในจังหวัดสมุทรสาคร ในครึ่งแรกของปี 2551 ยอดขายของบริษัทมีสัดส่วน 65% ของรายได้ทั้งหมด และส่วนที่เหลือมาจากบริษัทประปาปทุมธานี ปัจจัยที่ส่งผลต่อการเติบโตของการบริโภคน้ำประปาเกิดจากการที่ผู้บริโภคได้เปลี่ยนมาบริโภคน้ำประปาแทนน้ำบาดาลเพราะคุณภาพน้ำบาดาลที่ต่ำลงและการก่อสร้างที่อยู่อาศัยใหม่ในพื้นที่ให้บริการ จากปี 2549 ถึงช่วงครึ่งแรกของปี 2551 บริษัทมีอัตราส่วนกำไรจากการดำเนินงานก่อนค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายต่อรายได้จากการขายอยู่ในระดับสูงที่ 79% เงินทุนจากการดำเนินงานในปี 2550 อยู่ที่ระดับ 1,434 ล้านบาท เทียบกับ 532 ล้านบาทในปี 2547 และระดับ 981 ล้านบาทในช่วงครึ่งแรกของปี 2551 เงินกู้รวมของบริษัทเพิ่มขึ้นอย่างมากจากระดับ 6,720 ล้านบาท ณ สิ้นปี 2549 เป็น 13,678 ล้านบาท ณ สิ้นปี 2550 เนื่องจากการรวมหนี้ของบริษัทประปาปทุมธานีและการกู้เงินจำนวน 4,000 ล้านบาทเพื่อใช้ในการซื้อหุ้น 98% ของบริษัทประปาปทุมธานี ซึ่งส่งผลให้อัตราส่วนเงินทุนจากการดำเนินงานต่อเงินกู้รวมลดลงจาก 13.8% ในปี 2549 เป็น 10.5% ในปี 2550 ในขณะที่อัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนเพิ่มขึ้นสู่ระดับ 74.4% ณ สิ้นปี 2550 จากระดับ 63.3% ในปี 2549 อย่างไรก็ตาม ฐานะทางการเงินของบริษัทปรับตัวดีขึ้นมากหลังจากการจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ เงินกู้รวมของบริษัท ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2551 ลดลงอย่างมากสู่ระดับ 10,048 ล้านบาทหลังจากที่บริษัทนำเงินที่ได้จากการขายหุ้นสามัญแก่ประชาชนครั้งแรกไปใช้จ่ายคืนหนี้จำนวน 3,000 ล้านบาท ในช่วงครึ่งแรกของปี 2551 บริษัทมีอัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนอยู่ที่ระดับ 55.1% และมีเงินทุนจากการดำเนินงานอยู่ที่ 9.8% โดยคาดว่าอัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนของบริษัทในระยะปานกลางจะไม่ปรับตัวดีขึ้นเนื่องจากบริษัทมีแผนกู้เงินเพื่อนำมาใช้ในการขยายกำลังการผลิตจำนวน 100,000 ลบ.ม./วัน และมีแผนในการขยายระยะเวลาการชำระเงินกู้ระยะยาวที่มีอยู่เพื่อให้สอดคล้องกับสัญญาซื้อขายน้ำระยะยาวที่ทำไว้กับ กปภ. ทริสเรทติ้งกล่าว
บริษัท น้ำประปาไทย จำกัด (มหาชน) (TTW)
อันดับเครดิตองค์กร: AA-
แนวโน้มอันดับเครดิต: Stable

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ