กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ ได้จัดสัมมนาเวทีสาธารณะภายใต้หัวข้อ “ความตกลงการค้าเสรีอาเซียน-เกาหลี: เสียงจากประชาชน”

ข่าวทั่วไป Friday August 22, 2008 17:15 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--22 ส.ค.--ปชส.จร.
เมื่อวันศุกร์ที่ 22 สิงหาคม 2551 กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ ได้จัดสัมมนาเวทีสาธารณะภายใต้หัวข้อ “ความตกลงการค้าเสรีอาเซียน-เกาหลี: เสียงจากประชาชน” ณ ห้องบางกอกคอนเวนชั่น ชั้น 5 โรงแรมโซฟิเทลเซ็นทาราแกรนด์ ลาดพร้าว เพื่อเปิดโอกาสให้ประชาชนทั่วไปได้รับฟังข้อมูลและข้อเสนอแนะ รวมทั้งแสดงทัศนะและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับตัวแทนภาคการเมือง ภาครัฐ ภาควิชาการ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม อันจะนำไปสู่การเสนอมาตรการป้องกันหรือรองรับผลกระทบจากการเปิดเสรีการค้า โดยเฉพาะภายใต้กรอบอาเซียน-เกาหลี (AKFTA) อย่างเหมาะสม เพื่อให้กรมเจรจาฯ นำไปใช้ปรับปรุงนโยบายการเปิดเสรีให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อไป
นางสาวชุติมา บุญยประภัศร อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กล่าวว่า กรมเจรจาฯ มีบทบาทหน้าที่ในการเจรจาเปิดเสรีการค้าให้เกิดประโยชน์ต่อส่วนรวม แต่การรับรู้ข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับความตกลงที่เป็นพันธกรณี/ข้อผูกพันระหว่างประเทศ อาจจำกัดวงอยู่ในหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนหรือประชาชนเพียงไม่กี่กลุ่มที่เกี่ยวข้อง ทำให้ประชาชนบางส่วนขาดข้อมูลข่าวสารและความรู้ความเข้าใจในประเด็นต่างๆที่กรมเจรจาฯได้ดำเนินการไปแล้ว ดังนั้น การจัดสัมมนาเวทีสาธารณะเป็นครั้งที่ 2 หลังจากที่จัดไปครั้งแรกเมื่อวันศุกร์ที่ 8 สิงหาคม 2551 ที่ผ่านมา ภายใต้หัวข้อ “ความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจอาเซียน-ญี่ปุ่น: เสียงจากประชาชน” จึงนับเป็นอีกหนึ่งเวทีที่ทางกรมเจราฯ เล็งเห็นว่า เมื่ออาเซียนได้ดำเนินการเจรจาเปิดเสรีการค้ากับญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ ไทยในฐานะประเทศสมาชิกอาเซียน จึงควรจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นจากสาธารณชนตามที่รัฐธรรมนูญบัญญัติไว้ เพื่อให้กระบวนการเจรจาและจัดทำหนังสือสัญญาระหว่างประเทศของไทยเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและธรรมาภิบาล โดยมีวัตถุประสงค์ที่สำคัญ คือ เพื่อเป็นเวทีแผยแพร่ความรู้และแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับการเจรจาเปิดเสรีการค้า เพราะการมีส่วนร่วมของประชาชนถือเป็นหัวใจของกระบวนการเจรจาเปิดเสรีการค้า
นายไชยา สะสมทรัพย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า “หากกล่าวถึงความสัมพันธ์และยุทธศาสตร์การค้าระหว่างไทย อาเซียน และเกาหลี การค้าระหว่างอาเซียนและเกาหลีนับว่าขยายตัวอย่างรวดเร็วในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา (ปี 2545-2550) โดยมูลค่าการค้ารวมระหว่างอาเซียนและเกาหลีขยายตัวเฉลี่ยกว่าร้อยละ 15 ต่อปี ขณะเดียวกัน มูลค่าการค้ารวมระหว่างไทยกับเกาหลีก็ขยายตัวในระดับสูงเฉลี่ยกว่าร้อยละ 27 ต่อปี นอกจากความสำคัญด้านการค้าดังกล่าวแล้ว เกาหลีให้ความสำคัญกับอาเซียนในฐานะที่เป็นภูมิภาคสำคัญทางยุทธศาสตร์การค้าการลงทุน เนื่องจาก ปัจจุบัน คู่แข่ง เช่น ญี่ปุ่น จีน และอินเดีย ต่างก็แสดงเจตจำนงที่จักทำความตกลงการค้าเสรีกับอาเซียน การช่วงชิงความได้เปรียบ โดยการเร่งรัดจัดทำเขตการค้าเสรีกับอาเซียน จึงเป็นกลยุทธ์หนึ่งในการป้องกันการสูญเสียตลาดของเกาหลีให้กับประเทศคู่แข่งดังกล่าว อีกทั้งยังเป็นการแสดงจุดยืนว่าเกาหลีให้ความสำคัญกับอาเซียนในฐานะที่เป็นฐานการผลิตการลงทุน” ไทยจึงมีความจำเป็นเร่งด่วนที่จะต้องร่วมมือกับอาเซียนในการมองหาพันธมิตรใหม่ๆในการขยายตลาดและเพิ่มอำนาจต่อรองของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ความตกลงการค้าเสรีอาเซียน-เกาหลี จึงเป็นหนึ่งในยุทธศาสตร์นี้
ดร. ณรงค์ชัย อัครเศรณี ที่ปรึกษากิตติมศักดิ์ สถาบันวิจัยนโยบายเศรษฐกิจการคลัง ได้กล่าวปาฐกถาพิเศษเรื่อง “เกาหลีกับประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน: ย่างก้าวหรือยาวไกล” โดยเล่าถึงประวัติศาสตร์ว่า ประมาณ 50 ปีก่อน เกาหลีใต้เป็นประเทศขาดแคลนทรัพยากรและยากจนกว่าไทย แต่ได้ก้าวขึ้นมาเป็นเศรษฐกิจใหญ่อันดับที่ 12 ของโลก ส่วนไทยยังอยู่อันดับที่ 35 เหมือนเดิม ในขณะที่กระแสการแข่งขันทางการค้าการลงทุนระหว่างเกาหลี ญี่ปุ่น และจีน รุนแรงขึ้นเรื่อยๆ และมูลค่าการค้ากับประเทศไทยเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จึงเป็นปัจจัยให้เกิดการรวมกลุ่มในภูมิภาคและขยายจากอาเซียนเดิม 5 ประเทศเป็น 10 ประเทศและอาเซียน+3 ในที่สุด แต่อย่างไรก็ตาม การรวมกลุ่มในอาเซียนเป็นแบบหลวมๆ ต่างจากการรวมตัวของสหภาพยุโรปที่มีวิสัยทัศน์ผู้นำและแบบแผนชัดเจน อาเซียนจึงไม่สามารถใช้ประโยชน์ได้อย่างเต็มที่
จากนั้นมีการเสวนาสภากาแฟ “กรองสถานการณ์การค้า” โดยคุณชุติมา บุณยประภัศร อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กล่าวว่า การเจรจากับเกาหลีในตอนแรกไม่สำเร็จ เพราะไทยหวังเปิดตลาดสินค้าข้าว มันสำปะหลัง ไก่ และกุ้ง แต่เกาหลีไม่ยอมเปิดตลาดเพราะเป็นสินค้าที่อ่อนไหวของเกาหลี ส่งผลให้ไทยไม่ยอมรับข้อตกลงทั้งๆที่ประเทศอาเซียนอื่นๆ 9 ประเทศลงนามไปก่อน แต่ในที่สุด ไทยกับเกาหลีก็สามารถเจรจามอบสิทธิประโยชน์ให้กับไทย โดยยอมยืดเวลาการเปิดเสรีการค้าสำหรับสินค้าอ่อนไหวของไทยไปจนถึงปี 2559 เพื่อให้ผู้ประกอบการมีเวลาเตรียมตัวรองรับผลกระทบที่จะเกิดขึ้น เพราะอาจมีสินค้าบางรายการได้รับผลกระทบ เช่น พลาสติก เหล็ก โทรทัศน์ เครื่องใช้ไฟฟ้า แต่ถึงแม้ไม่มี FTA ผู้ประกอบการเองก็ต้องปรับตัว เพราะการแข่งขันในปัจจุบันสูงมาก
ดร. คณิศ แสงสุพรรณ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยนโยบายเศรษฐกิจการคลัง กล่าวเสริมว่า ปัจจุบันไทยพึ่งพาตลาดอาเซียนเกือบร้อยละ 50 การทำ FTA กับอาเซียนและเกาหลีจึงเป็นสิ่งที่ดี เพราะก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างการผลิต แต่ละประเทศจะได้เน้นผลิตสินค้าที่ถนัดแล้วพัฒนาให้เกิดประโยชน์สูงสุด ภายใต้ข้อตกลงกับเกาหลี ไทยมีเวลาปรับตัวพอสมควร แต่สิ่งที่สำคัญไม่น้อยไปกว่ากัน คือ ภาครัฐต้องมีวิธีการเยียวยาช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบ และใช้งบประมาณกองทุนอย่างมีประสิทธิภาพ
ต่อจากนั้น ดร.วิเชียร อินทะสี กรรมการสถาบันเอเชียตะวันออกศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า เหตุผลที่เกาหลีไม่ยอมเปิดตลาดสินค้าเกษตร เพราะคนเกาหลีเป็นเกษตรกรกว่า 3 ล้านคน จึงต้องการความมั่นคงด้านอาหาร ถึงแม้ไทยจะไม่ได้ประโยชน์จากการเปิดสินค้าเกษตร แต่ก็ได้ประโยชน์จากสินค้าอื่นๆ นอกจากนั้น ชาวเกาหลีมาเที่ยวไทยเฉลี่ย 1 ล้านคนต่อปี แต่อย่างไรก็ตาม ไทยเองจำเป็นต้องพัฒนาทั้งสินค้าและบริการให้มีคุณภาพดีขึ้นถึงแม้จะมี FTA หรือไม่ก็ตาม
ในอีกมุมมองหนึ่ง คุณเกียรติ สิทธีอมร ตัวแทนฝ่ายการเมือง แสดงความกังวลว่ากระบวนการเจรจา FTA ไม่โปร่งใส สร้างปัญหาและความไม่ไว้วางใจแก่ประชาชน โดยเฉพาะ SMEs ที่คาดว่าจะได้ผลกระทบมากที่สุดแต่เสียงเบา ถึงแม้ข้อตกลงอาจจะดี แต่ประชาชนส่วนหนึ่งไม่สนับสนุนเพราะไม่เข้าถึงข้อมูล กรมเจรจาฯ จึงต้องเพิ่มการมีส่วนร่วมและนำ FTA ทุกฉบับมาประมวลเพื่อจัดทำยุทธศาสตร์รายสินค้า/อุตสาหกรรม รวมทั้งเอาจริงเอาจังกับการจัดตั้งกองทุนช่วยเหลือผู้ได้ผลกระทบ เพราะรัฐตั้งงบประมาณในการแก้ปัญหาถึง 1,000 ล้านบาท แต่ใช้ไปน้อยมาก
เมื่อเสร็จสิ้นช่วงสภากาแฟแล้ว ในช่วงเวทีเสวนา “มองต่างมุม อาเซียน-เกาหลี” นายนพดล สระวาสี รองอธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กล่าวว่า ภายในปี 2560 ไทยจะลดภาษีให้อาเซียนและเกาหลีเป็นศูนย์ในสินค้าร้อยละ 91 ของรายการทั้งหมด สำหรับผลกระทบรายธุรกิจนั้น ไม่ว่าจะเป็น SMEs หรือธุรกิจขนาดใหญ่ ผลกระทบคงไม่แตกต่าง กรมเจรจาฯ เน้นใช้กองทุนเป็นการแก้ปัญหาเป็นหลัก ถึงแม้ปัจจุบันธุรกิจบริการยังไม่ได้รับผลกระทบ แต่ในอนาคตก็คงต้องเตรียมรับมือผลกระทบในภาคบริการที่อาจจะเกิดขึ้น รวมทั้งพยายามให้เกิดการถ่ายทอดเทคโนโลยีจากเกาหลี ซึ่งเป็นสิ่งที่ผู้ประกอบการไทยจะได้ประโยชน์อย่างยิ่ง
คุณวีรชัย วงศ์บุญสิน กรรมการบริหาร สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวเสริมคุณเกียรติ สิทธี อมรว่า ผู้ประกอบการส่วนใหญ่ยังใช้ประโยชน์จาก FTA น้อยมาก เพราะยังไม่เข้าถึงข้อมูล ในอนาคต จึงน่าจะมีการจัดตั้งหน่วยงานที่ให้ข้อมูลการใช้ประโยชน์และมาตรการเยียวยาจาก FTA โดยตรง
ในขณะที่ดร. วุฒิพงษ์ เพรียบจริยวัฒน์ ผู้อำนวยการสถาบันสหสวรรษ ตัวแทนภาคประชาสังคมและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า การเปิดเสรีการค้าเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่ไทยมีปัญหาเรื่องการบริหารจัดการยุทธศาสตร์ คงต้องกลับมานั่งทบทวนว่า กระทรวงพาณิชย์เปิดเกมยุทธศาสตร์ไว้แล้ว แต่จะแก้ปัญหาของธุรกิจที่ได้รับผลกระทบ โดยเฉพาะ SMEs อย่างไร เพื่อไม่ให้ประโยชน์ของ FTA จำกัดในส่วนของการแลกเปลี่ยนผลประโยชน์ระหว่างยักษ์ใหญ่กับยักษ์ใหญ่ ดังนั้น จึงจำเป็นต้องยกระดับทุนมนุษย์ควบคู่ไปกับส่งเสริมเศรษฐกิจทุนนิยม โดยอาจจะใช้ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาประกอบ ซึ่งจะทำให้คนส่วนใหญ่สามารถพึ่งตนเองได้ ไม่ใช่เน้นแต่ความสามารถทางการตลาดเพียงอย่างเดียว
สุดท้ายนั้น ดร. เดือนเด่น นิคมบริรักษ์ ผู้อำนวยการด้านการบริหารจัดการระบบเศรษฐกิจ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย ตัวแทนภาควิชาการ กล่าวว่า FTA ไม่ควรมาเป็นตัวแปรในการกำหนดทิศทางเศรษฐกิจ เพราะจากผลการศึกษา ถือว่ามีผลกระทบน้อยมาก แต่ควรเป็นตัวเสริมมากกว่า เช่น ตั้งคำถามว่าการทำ FTA กับเกาหลีจะช่วยไทยได้อย่างไรบ้าง โดยอาจมีเงื่อนไขในการถ่ายทอดเทคโนโลยี และมีการติดตามว่ามีการถ่ายทอดจริงหรือไม่

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ