กรุงเทพฯ--19 ธ.ค.--โอกิลวี่ พับลิค รีเลชั่นส์ เวิลด์วายด์
มร. จิม พาดิลลา ประธานกรรมการและประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการของฟอร์ด มอเตอร์ คอมปานี กล่าวย้ำพันธะสัญญาของฟอร์ดต่อประเทศไทย ในระหว่างเข้าพบนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม
มร. พาดิลลาได้ยืนยันว่าฟอร์ด มอเตอร์ คอมปานี กำลังเร่งขยายการลงทุนระยะที่ 2 ของโรงงานออโต้อัลลายแอนซ์ ประเทศไทย (AAT) ฐานการผลิตรถกระบะฟอร์ดและมาสด้า ตามที่ มร. บิล ฟอร์ด ได้ประกาศไว้ในเดือนตุลาคม 2546
ขณะเดียวกัน การดำเนินแผนการลงทุนมูลค่า 20,000 ล้านบาท (500 ล้านเหรียญสหรัฐ) ของฟอร์ด มอเตอร์ คอมปานี เพื่อพัฒนารถยนต์รุ่นใหม่ ปรับปรุงโรงงาน และเพิ่มกำลังการผลิตในประเทศไทย กำลังเดินหน้าไปด้วยดี
มร. จิม พาดิลลา ประธานกรรมการและประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการของฟอร์ด มอเตอร์ คอมปานี ได้เข้าพบนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม แสดงพันธสัญญาของฟอร์ดต่ออุตสาหกรรมยานยนต์ในประเทศไทย โดยมร. พาดิลลาประกาศจะเร่งขยายการลงทุนในระยะที่ 2 ของโรงงาน ออโต้อัลลายแอนซ์ ประเทศไทย ฐานการผลิตรถยนต์กระบะฟอร์ดและมาสด้า (AAT) ที่เริ่มดำเนินการในปี 2548-2551 และแสดงความเชื่อมั่นในความสำคัญของประเทศไทยในการเป็นศูนย์ผลิตรถกระบะ 1 ตันที่สำคัญของฟอร์ด
“ก่อนอื่นผมขอแสดงความยินดีที่ประเทศไทยประสพความสำเร็จครั้งสำคัญในการผลิตรถยนต์ครบ 1,000,000 ล้านคันต่อปีเป็นครั้งแรกในปี 2548นี้ นับว่าเป็นก้าวสำคัญสู่ความมุ่งมั่นเป็นศูนย์กลางการผลิตรถยนต์ของเอเชีย หรือดีทรอยต์แห่งเอเชีย (Detroit of Asia) ฟอร์ดขอมีส่วนร่วมสนับสนุนให้ประเทศไทยบรรลุจุดมุ่งหมายดังกล่าว และเนื่องจากไทยเป็นฐานการผลิตรถกระบะ 1 ตันของฟอร์ด บริษัทฯ จึงได้ตัดสินใจเร่งลงทุนในไทยเพื่อแสดงให้ถึงความสำคัญของประเทศไทยต่อยุทธศาสตร์การผลิตในภูมิภาคเอเชียของเรา” มร. พาดิลลา กล่าว
ออโต้อัลลายแอนซ์ ประเทศไทย โรงงานผลิตรถฟอร์ดและมาสด้า ได้จัดทำแผนขยายอัตราการเติบโตในการลงทุนระยะที่ 2 มูลค่า 20,000 ล้านบาท (500 ล้านเหรียญสหรัฐ) สำหรับในช่วง 3 ปีข้างหน้า ซึ่งรวมถึงการยกระดับโรงงาน การพัฒนาเครื่องมือการผลิต และงานด้านวิศวกรรมยานยนต์ โดยฟอร์ดและมาสด้าจะสามารถเพิ่มกำลังการผลิตจาก 155,000 คันต่อปี ในปัจจุบันขึ้นเป็น 200,000 คันภายในปี 2551
ออโต้อัลลายแอนซ์ (AAT) ซึ่งก่อตั้งเมื่อปี 2538 โดยใช้เงินลงทุนเริ่มต้น 500 ล้านเหรียญ (20,000 ล้านบาท) พัฒนาขึ้นเป็นโรงงานผลิตครบวงจรที่ได้มาตรฐานระดับโลก เริ่มผลิตรถกระบะฟอร์ดและมาสด้าตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2541 ซึ่งสามารถสร้างรายได้สุทธิให้กับประเทศแล้วถึง 108,000 ล้านบาท (2,700 ล้านเหรียญ) และในสิ้นปี 2548 โรงงานนี้ได้ประสบความสำเร็จครั้งสำคัญอีกครั้ง ด้วยยอดการผลิตที่คาดว่าจะสูงถึง 155,000 คัน ซึ่ง 122,000 คันในจำนวนนี้จะส่งออกสู่ตลาดต่างประเทศ
ฟอร์ดและมาสด้า ได้สนับสนุนผู้ผลิตชิ้นส่วนในประเทศเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยปัจจุบันออโต้อัลลายแอนซ์ได้ใช้ชิ้นส่วนในประเทศถึง 80% จากผู้ผลิตในประเทศกว่า 148 ราย รวมมูลค่าสั่งซื้อปีละกว่า 30,000 ล้านบาท (752 ล้านเหรียญ) เพื่อผลิตรถยนต์คุณภาพสูงส่งออกสู่ตลาดสำคัญกว่า 130 ประเทศทั่วโลก
ฟอร์ดตระหนักดีว่าธุรกิจในภูมิภาคนี้จะมีแนวโน้มการเติบโตที่ดี แต่มร. พาดิลลา ได้ชี้ให้เห็นถึงปัจจัยท้าทายที่สำคัญซึ่งบริษัทต้องเผชิญอย่างต่อเนื่อง อันได้แก่ ปัจจัยด้านกฎระเบียบการส่งออกและนำเข้าที่แตกต่างกันในแต่ละประเทศ โครงสร้างภาษีที่แตกต่างกัน และข้อตกลงเขตการค้าเสรีกับแต่ละประเทศ
มร. พาดิลลากล่าวสรุปว่า ในขณะนี้ หากรัฐบาลของประเทศต่างๆ ในภูมิภาคนี้ ได้ร่วมมือกับผู้ประกอบการ ทุกฝ่ายก็จะสามารถมีบทบาทสำคัญในการเอาชนะปัจจัยท้าทายต่างๆ ดังกล่าว เพื่อผลักดันให้เกิดการขยายตัวทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน
บริษัท ฟอร์ด มอเตอร์ คอมปานี ซึ่งมีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ที่เมืองเดียร์บอร์น รัฐมิชิแกน สหรัฐอเมริกา เป็นหนึ่งในผู้นำอุตสาหกรรมยานยนต์โลก ดำเนินธุรกิจการผลิตและจัดจำหน่ายรถยนต์ในกว่า 200 ตลาดใน 6 ทวีป บริษัทฯ มีพนักงานกว่า 324,000 คนทั่วโลก มีแบรนด์รถยนต์ในเครือได้แก่ แอสตันมาร์ติน ฟอร์ด จากัวร์ แลนด์โรเวอร์ ลินคอล์น มาสด้า เมอร์คิวรี่ และวอลโว่ รวมทั้งมีบริษัทสินเชื่อรถยนต์ในเครือ คือ บริษัท ฟอร์ด มอเตอร์ เครดิต
สามารถคลิกดูภาพประกอบได้ที่ www.thaipr.net--จบ--