กรุงเทพฯ--17 พ.ค.--โอกิววี่ พับลิค รีเลชั่นส์ เวิลด์วายด์
ฟอร์ดอยู่ระหว่างศึกษาโครงการรถยนต์เล็กเพื่อเข้าร่วมโครงการอีโคคาร์ของรัฐบาลไทย ใช้ระบบ Global Shared Technologies เทคโนโลยีร่วมของฟอร์ดทั่วโลก ในการออกแบบและผลิต มีโอกาส ที่จะลงทุนเปิดสายการผลิตรถยนต์ขนาดเล็กในประเทศไทย
ฟอร์ด ประเทศไทย ประกาศโครงการพัฒนารถยนต์ขนาดเล็ก สนองนโยบายรถยนต์ประหยัดน้ำมันอีโคคาร์ของรัฐบาลไทย
มร. จอห์น ฟิลิซ ประธาน ฟอร์ด ประเทศไทย กล่าวว่า “ฟอร์ดมีแผนที่จะพัฒนารถยนต์ขนาดเล็ก ซึ่งจะช่วยให้ประเทศไทยสามารถบรรลุเป้าหมายในด้านการผลิตรถยนต์ประหยัดน้ำมันหรืออีโคคาร์ได้ เราเชื่อมั่นว่า นโยบายอีโคคาร์ของรัฐบาลไทยนั้น จะช่วยให้ประเทศไทยก้าวขึ้นสู่การเป็น “ดีทรอยท์แห่งเอเชีย” ได้อย่างแน่นอน
“การส่งเสริมการผลิตรถยนต์ประเภทใหม่เช่น อีโคคาร์ โดยการให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีและด้านอื่นๆ นั้น จะช่วยให้ประเทศไทยสามารถดึงดูดผู้ผลิตรถยนต์ให้มาลงทุนเพิ่มในโรงงานผลิต เพื่อทำให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตและส่งออกของภูมิภาคสำหรับรถยนต์ขนาดเล็ก ยุทธศาสตร์การลงทุนในผลิตภัณฑ์ประเภทใหม่เช่นนี้ เคยเอื้อประโยชน์มหาศาลให้แก่ประเทศไทยมาแล้ว เมื่อประเทศไทยประกาศนโยบายที่จะสนับสนุนการผลิตรถกระบะ 1 ตัน”
วิสัยทัศน์ของประเทศไทย ที่จะก้าวขึ้นเป็นดีทรอยท์แห่งเอเชีย มีการพัฒนาไปอย่างรวดเร็ว มร. ฟิลิซ กล่าวเสริมว่า “ประเทศไทย ได้รับการยอมรับว่าเป็นศูนย์กลางหรือ Center of Excellence แห่งการผลิตรถกระบะ 1 ตันของโลก ซึ่งเห็นได้จากความสำเร็จของ บริษัท ออโต้ อัลลายแอนซ์ (ประเทศไทย) จำกัด หรือเอเอที ซึ่งเป็นบริษัทร่วมทุนระหว่างฟอร์ดและมาสด้า ที่จังหวัดระยอง เอเอทีเป็นผู้ผลิตรถกระบะฟอร์ด เรนเจอร์ และมาสด้า ไฟเตอร์ รวมทั้งรถออฟโรดฟอร์ด เอเวอเรสต์ เพื่อส่งออกไปยังกว่า 130 ประเทศทั่วโลก”
จากตัวเลขของสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ระบุว่า ในช่วงไตรมาสแรกปีนี้ ออโต้อัลลายแอนซ์ (ประเทศไทย) ก้าวขึ้นเป็นอันดับ1 ในฐานะผู้ส่งออกรถยนต์สำเร็จรูป หรือ CBU ของประเทศไทย ด้วยยอดส่งออกจำนวน19,388 คัน คิดเป็นส่วนแบ่ง 22.29% ของการส่งออก CBU ของประเทศ โดยมีมูลค่าในส่วนนี้ 8.05 พันล้านบาท และส่งออกชิ้นส่วนรถยนต์สำเร็จรูป หรือ CKD 10,060 คัน มูลค่า 2.21 พันล้านบาท ทำให้ส่งออกรวมไตรมาสแรก 1.026 หมื่นล้านบาท
ประเทศไทย มีแรงงานที่มีฝีมือในการผลิตรถยนต์อยู่เป็นจำนวนมาก มีฐานการผลิตชิ้นส่วนและอะไหล่รถยนต์ที่เข้มแข็ง รวมทั้งมีสาธารณูปโภคทั้งในด้านพลังงานและการขนส่งที่ดี ปัจจัยเหล่านี้เป็นปัจจัยพื้นฐานที่สำคัญและจะทำให้ประเทศไทยประสพความสำเร็จในการดำเนินนโยบายสู่การเป็นศูนย์ผลิตรถยนต์ใหญ่ในเอเชีย
ขณะนี้ สถาบันยานยนต์ ได้ระบุบางคุณสมบัติของอีโคคาร์ เช่น ขนาดตัวรถ ปริมาณสิ้นเปลืองเชื้อเพลิง ขนาดเครื่องยนต์ และระบบเชื้อเพลิงต่างๆ ซึ่งมร. ฟิลิซ ได้ให้ความเห็นว่า “เราเข้าใจว่ารัฐบาลจำเป็นต้องวางแนวคุณสมบัติ อีโคคาร์บางอย่างให้แก่กลุ่มผู้ผลิตรถยนต์ แต่ฟอร์ดก็เชื่อว่ารัฐบาลจะต้องรับฟังความคิดเห็นจากผู้ผลิตรถยนต์ทุกรายเช่นกัน ซึ่งถือเป็นเรื่องที่สำคัญมาก เพราะการพัฒนารถยนต์ขนาดเล็กต้องใช้ต้นทุนสูงมาก การจะมีจำนวนผลิตมากพอคุ้มการลงทุน หรือ Economy of Scale และทำให้ประเทศไทยเป็นศูนย์การส่งออกรถยนต์ขนาดเล็กนั้น จะต้องผลิตรถยนต์รุ่นดังกล่าวให้ได้มาตรฐานสากลอื่นๆ ด้วย เพื่อให้ถูกใจกับลูกค้าในตลาดอื่นๆ ทั่วโลก ด้วยเช่นกัน”
ฟอร์ดจะศึกษาทางเลือกพัฒนารถยนต์หลายรูปแบบ โดยใช้เทคโนโลยีร่วมทั่วโลก (Global Shared Technologies — GST) ของฟอร์ดมอเตอร์คอมปานี โดยหลักการแล้ว เทคโนโลยีร่วม ทั่วโลก คือการนำเอาเทคโนโลยีพื้นฐานของรถยนต์ยี่ห้อต่างๆ ในเครือฟอร์ด สามารถนำไปพัฒนาเป็นรถยนต์ประเภทต่างๆ ที่สอดคล้องกับตลาดต่างๆ ของตนทั่วโลก โดยการเพิ่มเอกลักษณ์ด้านการตกแต่งภายใน รูปทรงภายนอก และระบบเครื่องยนต์ของตนเข้าไป นับเป็นวิธีการที่ทันสมัยในการเพิ่มประสิทธิผลด้านวิศวกรรมยานยนต์ การจัดซื้อวัตถุดิบ และการผลิต รวมทั้งทำให้รถยนต์แต่ละยี่ห้อและทั้งหมดในเครือฟอร์ด มีผลิตภัณฑ์ต่างๆ นำเสนอมากขึ้น
“พร้อมๆ กันกับที่พัฒนาโครงการรถยนต์เล็กรุ่นใหม่ในอนาคต หรือ Next Generation เรายังอยู่ในช่วงของการศึกษาความเป็นไปได้ เพื่อตัดสินใจเลือกศูนย์กลางในการผลิตสำหรับรถยนต์เล็กนี้ ซึ่งเรากำลังศึกษาอยู่หลายแห่ง แต่เรายืนยันได้ว่า ประเทศไทยเป็นหนึ่งในแหล่งผลิตรถยนต์ที่มีโอกาสสูง” มร. ฟิลิซ กล่าวสรุป
ข่าวประชาสัมพันธ์
ติดต่อ: นที ศาสตร์ยังกุล
โทร. 0 2 686 4000 ต่อ 4635 โทรสาร 0 2 264 1006--จบ--