แพทย์เตือนผู้ปกครองเฝ้าระวังโรคติดเชื้อไอพีดี ย้ำไม่ใช่โรคใหม่ แต่เป็นแล้วอันตรายและรุนแรง

ข่าวทั่วไป Monday August 25, 2008 11:29 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--25 ส.ค.--คอมมูนิเคชั่น แอนด์ มอร์
กุมารแพทย์โรคติดเชื้อเตือนให้พ่อแม่ผู้ปกครองเฝ้าระวังโรคติดเชื้อไอพีดี ย้ำไม่ใช่โรคใหม่ แต่มีความรุนแรงมากกว่าเดิม เนื่องจากมีเชื้อดื้อยาจำนวนเพิ่มขึ้น และมีโอกาสเกิดการติดเชื้อ สูง เน้นสร้างภูมิคุ้มกันแก่ทารก เด็กเล็ก ตลอดจนฝึกสุขนิสัยที่ดีแก่สมาชิกในครอบครัว
ศ.เกียรติคุณ นพ.ธีรชัย ฉันทโรจน์ศิริ ประธานชมรมโรคระบบหายใจและเวชบำบัดวิกฤตในเด็ก แห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า จากข่าวการเสียชีวิตของน้องโฟร์โมสต์อายุ 1 ขวบ 8 เดือน ที่เสียชีวิตภายในระยะเวลาอันสั้น หลังจากที่ไปพบแพทย์ด้วยอาการไข้ขึ้นสูงและช็อก และแพทย์สันนิษฐานว่าอาจมีความเป็นไปได้ที่ติดเชื้อนิวโมคอคคัสชนิดรุนแรง (โรคไอพีดี) หรือ เกิดจากการติดเชื้อไวรัส ซึ่งขณะนี้ยังอยู่ระหว่างการตรวจหาสาเหตุที่แน่ชัดอยู่นั้น อาจทำให้พ่อแม่ที่มีเด็กเล็กเกิดความตื่นตระหนกเกี่ยวกับโรคดังกล่าว ซึ่งอันที่จริงแล้วโรคไอพีดีนี้ ไม่ใช่โรคใหม่สำหรับคนไทย โดยโรคไอพีดี เป็นโรคที่เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียที่ชื่อ นิวโมคอคคัส หรือ สเตรปโตคอคคัส นิวโมเนียอี และมีการแพร่กระจายที่รุนแรงไปยังอวัยวะอื่นๆ โดยเชื้อนี้สามารถพบอยู่ในโพรงจมูกและลำคอของคนทั่วไป ทั้งในเด็กและผู้ใหญ่ ทำให้เชื้อสามารถแพร่กระจายสู่คนอื่นได้ง่ายคล้ายไข้หวัด จากการไอหรือจาม ทำให้ละอองเสมหะแพร่กระจายออกไป และเมื่อไรก็ตามที่เชื้อเข้าสู่ร่างกายจะสามารถก่อให้เกิดโรคได้ โดยพบว่าอัตราการเป็นพาหะในเด็ก (มีเชื้อในโพรงจมูก แต่ไม่แสดงอาการใดๆ) เฉลี่ยแล้วสูงถึงร้อยละ 26 หรือคิดเป็นอัตรา 1 ใน 4 ของประชากร และปัจจุบันสามารถเพิ่มภูมิต้านทานในการป้องกันโรคด้วยการฉีดวัคซีนไอพีดีในเด็กเล็ก
กลุ่มเสี่ยงต่อการเกิดโรคไอพีดีคือเด็กอายุต่ำกว่า 2 ปี เพราะภูมิคุ้มกันของเด็กยังไม่แข็งแรงเท่าเด็กโตหรือผู้ใหญ่ ถึงแม้ว่าจะเป็นเด็กสุขภาพดีก็ตาม และโอกาสเสี่ยงจะเพิ่มสูงขึ้นในเด็กที่อยู่ในสถานเลี้ยงเด็กกลางวัน เด็กที่อยู่ในชุมชนแออัด ในเด็กที่เป็นโรคเรื้อรังต่างๆ เช่น โรคปอด โรคเบาหวาน และโรคซิกเคิลเซลล์ และในกลุ่มเด็กที่มีภูมิต้านทานต่ำ เช่น ผู้ที่ตัดม้ามออก หรือม้ามทำงานไม่ปกติ ผู้ป่วยติดเชื้อเอชไอวี เป็นต้น นอกจากนี้ ยังพบว่าสภาพแวดล้อมมีผลต่อการเพิ่มความเสี่ยงต่อการเป็นโรคติดเชื้อไอพีดี เช่น ในสถานเลี้ยงเด็กกลางวัน (Day care) หรือ เนอสเซอรี่ (Nursery) ที่เด็กเล็กอยู่รวมกันมากๆ และในเมืองใหญ่ที่มีประชากรอาศัยอยู่หนาแน่น
“เนื่องจากโรคไอพีดี เป็นโรคที่มีระยะเวลาการดำเนินการของโรคสั้นมาก เพียง 2-3 วัน รวมทั้งอาการเริ่มแรกของโรคคล้ายการเป็นไข้หวัด คล้ายกับโรคติดเชื้อทั่วไป คนส่วนใหญ่จึงมักคิดว่าเป็นไข้ธรรมดา ซึ่งถ้าไม่พาไปพบแพทย์และรับการรักษาได้ทันเวลา เชื้อโรคอาจลุกลามจนทำให้เด็กอาการมากขึ้น ในบางรายถ้าติดเชื้อรุนแรงอาจทำให้เด็กทารกเสียชีวิตจากโรคได้ภายใน 48 ชั่วโมง นอกจากนั้นยังพบว่าปัจจุบันโรคติดเชื้อไอพีดี ยังมีความรุนแรงมากขึ้นกว่าเดิม เนื่องจากพบว่าปัจจุบันเชื้อนิวโมคอคคัสมีอัตราการดื้อยาสูง อีกทั้งยังมีโอกาสเกิดจากการติดเชื้อแทรกซ้อนทั้งจากเชื้อแบคทีเรียและเชื้อไวรัส ส่งผลให้ทำการรักษาได้ยากขึ้น ทำให้ผู้ป่วยมีโอกาสพิการ และเสียชีวิตสูง”
อย่างไรก็ตาม อาการและระดับความรุนแรงของโรคติดเชื้อไอพีดี จะขึ้นอยู่กับอวัยวะที่ติดเชื้อ ได้แก่ 1) การติดเชื้อเยื่อหุ้มสมองอักเสบ เด็กจะมีไข้สูง ปวดศีรษะรุนแรง คลื่นไส้ อาเจียน คอแข็ง ในเด็กทารกจะวินิจฉัยยากขึ้นเพราะอาการเบื้องต้นอาจจะยังไม่ชัดเจน เด็กอาจมีอาการงอแง ซึม ไม่กินนม และชักได้ ถ้ารักษาไม่ทันท่วงทีอาจเสียชีวิตหรือเกิดความพิการเช่น เป็นโรคลมชัก หูหนวก ปัญญาอ่อน 2) การติดเชื้อในกระแสเลือด เด็กจะมีไข้สูง ร้องกวน งอแง อาจเกิดภาวะแทรกซ้อนตามมา เช่น ช็อก เสียชีวิต นอกจากนี้เชื้ออาจกระจายไปสู่อวัยวะอื่นๆ เช่น เยื่อหุ้มสมอง ปอด กระดูกและข้อ เป็นต้น และ 3) ปอดบวมหรือปอดอักเสบที่เกิดจากการติดเชื้อในกระแสเลือด หรือเกิดจากเชื้อโรคที่เข้าไปในปอดโดยตรง เด็กจะมีอาการไข้ ไอ หายใจเร็ว หอบ เขียว เนื่องจากขาดออกซิเจน ซึ่งอาจรุนแรงถึงต้องใส่เครื่องช่วยหายใจและเสียชีวิตได้
อย่างไรก็ตาม เราสามารถป้องกันได้ง่ายๆ โดย การสร้างสุขอนามัยที่ดี ล้างมือบ่อยๆ และ ปิดปาก ปิดจมูกทุกครั้งที่ไอจาม และที่สำคัญที่สุดคือ การสร้างภูมิคุ้มกันให้กับทารก และเด็กเล็กด้วยการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ เพื่อให้มีภูมิต้านทานจากแม่ส่งผ่านไปลูกทางน้ำนม และในปัจจุบันมีวัคซีนป้องกันโรคไอพีดี ซึ่งเป็นอีกวิธีที่มีประสิทธิภาพสูง พ่อแม่และผู้ปกครองอาจต้องพิจารณาถึงความคุ้มค่าในการฉีดให้ลูกหลาน” ศ.เกียรติคุณ นพ.ธีรชัย ฉันทโรจน์ศิริ กล่าวทิ้งท้าย
สื่อมวลชนต้องการข้อมูลเพิ่มเติมติดต่อ
บุษบา (บุษ) / พิธิมา (ก้อย)
โทร. 0-2718-3800 ต่อ 133/135

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ