ก.ไอซีที แจงการจัดเก็บข้อมูลจราจรทางคอมพิวเตอร์ 90 วัน

ข่าวทั่วไป Monday August 25, 2008 13:59 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--25 ส.ค.--ก.ไอซีที
ตามที่ได้มีกระแสข่าวเกี่ยวกับประกาศกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร เรื่อง หลักเกณฑ์การเก็บรักษาข้อมูลจราจรทางคอมพิวเตอร์ของผู้ให้บริการ พ.ศ.2550 ที่ผู้ให้บริการจะต้องจัดเก็บข้อมูลเอาไว้ 90 วัน โดยจะต้องตั้งนาฬิกาของอุปกรณ์ทุกชนิดให้มีความเที่ยงตรงแม่นยำตามเวลาอ้างอิงสากล ซึ่งประกาศนี้มีผลบังคับใช้ในวันที่ 23 สิงหาคม 2551 นั้น นายภุชพงค์ โนดไธสง ผู้อำนวยการกลุ่มงานประชาสัมพันธ์ และรองโฆษกกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ได้ชี้แจงข้อมูลเกี่ยวกับประเด็นดังกล่าว ว่า “ในพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 ซึ่งมีผลบังคับใช้มาตั้งแต่วันที่ 18 กรกฎาคม 2550 ได้มีประกาศกระทรวงฯ เรื่อง “หลักเกณฑ์การเก็บรักษาข้อมูลจราจรทางคอมพิวเตอร์ของผู้ให้บริการ พ.ศ.2550” ซึ่งประกาศในราชกิจจานุเบกษา มาตั้งแต่วันที่ 21 สิงหาคม พ.ศ.2550 ประกาศนี้ได้ผ่อนผันให้ผู้ให้บริการทางคอมพิวเตอร์มีเวลาเตรียมตัว ก่อนที่จะต้องเริ่มเก็บข้อมูลการจราจรทางคอมพิวเตอร์ตามบริการประเภทต่างๆ แตกต่างกัน เช่น ผู้ให้บริการที่ประกอบกิจการโทรคมนาคมและกิจการกระจายภาพและเสียง ให้เริ่มเก็บสามสิบวันหลังจากประกาศ ผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตสาธารณะ ISP เริ่มเก็บหนึ่งร้อยแปดสิบวันหลังจากประกาศ ส่วนผู้ให้บริการประเภทอื่นๆ นอกจากที่กล่าวมาแล้ว ให้เริ่มเก็บข้อมูลจราจรทางคอมพิวเตอร์เมื่อพ้นหนึ่งปีนับจากวันที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษา ซึ่งจะครบในวันที่ 23 สิงหาคม 2551 นี้ โดยรายละเอียดของข้อมูลการจราจรที่ผู้ให้บริการแต่ละประเภทต้องจัดเก็บนั้น จะมีรายละเอียดแตกต่างกันตามบริการที่แตกต่างกันของผู้ให้บริการ ซึ่งรายละเอียดนั้นมีอยู่ในประกาศของกระทรวงฯ ผู้ที่สนใจสามารถ Download ได้จากเว็บไซต์ของกระทรวงไอซีที” สำหรับผู้ให้บริการในกลุ่มที่จะต้องเริ่มเก็บข้อมูลจราจรตามประกาศในวันที่ 23 สิงหาคมนั้น จะประกอบไปด้วย ผู้ให้บริการเข้าถึงระบบเครือข่ายคอมพิวเตอร์ (Access Service Provider) เช่น ผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต ผู้ประกอบการที่ให้บริการอินเทอร์เน็ตให้กับห้องพัก หรือสถานบริการ รวมถึงองค์กรที่ให้บริการให้กับบุคลากรภายในองค์กรของตนเอง กลุ่มผู้ให้บริการเช่าระบบคอมพิวเตอร์เพื่อให้บริการโปรแกรมประยุกต์ต่างๆ (Hosting Service Provider) เช่น ผู้ให้บริการเช่า Web Server ผู้ให้บริการรับฝากข้อมูลทางอินเทอร์เน็ต, ผู้ให้บริการเข้าถึง e-Mail เป็นต้น และกลุ่มผู้ให้บริการร้านอินเทอร์เน็ต เช่น ร้านเกมออนไลน์, ร้านอินเทอร์เน็ตคาเฟ่ เป็นต้น อย่างไรก็ตาม แม้ว่าประกาศดังกล่าวจะมีผลบังคับใช้ แต่ผู้ให้บริการอย่าได้ตื่นตระหนก เพราะการจัดเก็บข้อมูลการจราจรทางคอมพิวเตอร์ที่ทางกฎหมายบังคับนั้น มีเจตนาเพื่อใช้เป็นเครื่องมือสำหรับพนักงานเจ้าหน้าที่ในการระบุและหาตัวผู้กระทำความผิด ดังนั้น ถ้าองค์กรใดไม่มีผู้กระทำผิดเข้ามาใช้บริการคอมพิวเตอร์เพื่อไปกระทำความผิดตามกฎหมายฯ ฉบับนี้ เจ้าหน้าที่ตำรวจหรือแม้แต่พนักงานเจ้าหน้าที่ตามพ.ร.บ.ฯ ก็ไม่สามารถดำเนินการเข้าขอตรวจสอบข้อมูลการจราจรทางคอมพิวเตอร์ได้ “หากไม่มีการกระทำความผิดตามกฎหมายฯ ฉบับนี้ในหมวดความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พนักงานเจ้าหน้าที่ก็ไม่สามารถเข้าไปตรวจสอบได้ เพราะโดยเจตนาของตัวกฎหมายแล้ว ข้อมูลการจราจรทางคอมพิวเตอร์ที่ผู้ให้บริการต้องจัดเก็บนั้น เป็นไปเพื่อประโยชน์ในการสืบสวนและสอบสวน ในกรณีที่มีเหตุอันควรให้เชื่อได้ว่ามีการกระทำความผิดตามพ.ร.บ.นี้ โดยพนักงานเจ้าหน้าที่ตามพ.ร.บ.ฯ เท่านั้น จึงจะมีอำนาจหน้าที่เฉพาะที่จำเป็น เพื่อประโยชน์ในการใช้เป็นหลักฐานเกี่ยวกับการกระทำความผิดและหาตัวผู้กระทำความผิด ซึ่งอำนาจหน้าที่นั้นก็มี เช่น ทำหนังสือสอบถาม เรียกดูข้อมูลการจราจรทางคอมพิวเตอร์ หรือทำสำเนาข้อมูล เป็นต้น ซึ่งขอเน้นว่า การใช้อำนาจหน้าที่นี้ ทำเฉพาะที่จำเป็นในการหาหลักฐานและหาตัวผู้กระทำความผิดเท่านั้น” นายภุชพงค์ กล่าว สำหรับแนวทางในการปฏิบัติของผู้ให้บริการในเรื่องการจัดเก็บข้อมูลการจราจรทางคอมพิวเตอร์นั้น ผู้ให้บริการจะต้องเร่งดำเนินการตามที่กฎหมายกำหนด โดยกระทรวงไอซีทีได้พยายามเผยแพร่ความรู้ในด้านการจัดเก็บข้อมูลการจราจรทางคอมพิวเตอร์ และให้คำแนะนำการใช้เครื่องมือในรูปแบบของซอฟต์แวร์ที่เป็นลักษณะของ Open-Source เพื่อให้สิ้นเปลืองค่าใช้จ่ายน้อยที่สุดสำหรับผู้ให้บริการซึ่งสามารถ Download ได้จากเว็บไซต์ของกระทรวงไอซีที “ในระหว่างที่กำลังดำเนินการเพื่อจัดเก็บข้อมูลการจราจรทางคอมพิวเตอร์นั้น วิธีการหนึ่งที่มีประสิทธิภาพและมีค่าใช้จ่ายน้อยมาก คือ การประชาสัมพันธ์ให้ผู้ใช้บริการอินเทอร์เน็ตในองค์กรของท่านใช้งานอย่างรับผิดชอบ และไม่สร้างความเดือดร้อน หรือกระทำความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 เพราะการป้องปรามย่อมดีกว่าการแก้ไขเสมอ” นายภุชพงค์ กล่าว ส่วนการปรับตั้งนาฬิกาของอุปกรณ์บริการทุกชนิดให้ตรงกับเวลาอ้างอิงสากล เพื่อให้ข้อมูลจราจรทางคอมพิวเตอร์ที่จัดเก็บมีความถูกต้อง และนำมาใช้ประโยชน์ได้จริงนั้น ผู้ให้บริการสามารถปรับเทียบมาตรฐานเวลาให้มีความเที่ยงตรงและไม่ให้ผิดพลาดเกินกว่า 10 มิลลิวินาทีตามประกาศฯ ได้จากหน่วยงานที่ทำหน้าที่จัดทำและรักษาเวลามาตรฐาน ประเทศไทยตามระบบสากล อาทิ สถาบันมาตรวิทยาแห่งชาติ ซึ่งได้มีการสถาปนาหน่วยวัดมาตรฐานเวลาแห่งประเทศไทยใหม่เมื่อเร็วๆ นี้ เพื่อให้มีความละเอียดและเที่ยงตรงมากยิ่งขึ้น หรือสามารถเทียบมาตรฐานเวลากับกรมอุทกศาสตร์กองทัพเรือก็ได้

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ