สรุปการสัมมนาวิชาการเวทีสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (FPO Forum) ภายใต้โครงการขยายบทบาทสำนักงานเศรษฐกิจการคลังสู่ภูมิภาค ณ จังหวัดนครราชสีมา

ข่าวทั่วไป Monday August 25, 2008 16:52 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--25 ส.ค.--กลุ่มการประชาสัมพันธ์ สำนักงานปลัดกระทรวงการคลัง
สรุปการสัมมนาวิชาการเวทีสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (FPO Forum) ภายใต้โครงการขยายบทบาทสำนักงานเศรษฐกิจการคลังสู่ภูมิภาค ณ จังหวัดนครราชสีมา วันศุกร์ที่ 22 สิงหาคม 2551 เวลา 8.30 — 16.30 น. ณ ห้องแกรนด์บอลรูม โรงแรมเฮอร์มิเทจ รีสอร์ท แอนด์ สปา จังหวัดนครราชสีมา
การสัมมนาวิชาการภายใต้โครงการขยายบทบาท สศค. สู่ภูมิภาค เรื่อง “ ความอยู่รอดของวิสาหกิจฐานราก/SMEs ในสถานการณ์ปัจจุบัน ” ณ จังหวัดนครราชสีมา มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ผู้ประกอบการและประชาชนทราบและเข้าใจถึงวัตถุประสงค์และมาตรการภาษีเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจและส่งเสริมการประกอบธุรกิจของวิสาหกิจชุมชนรวมทั้ง SMEs และเพื่อให้ผู้ประกอบการวิสาหกิจชุมชน/SMEs ได้แสดงความคิดเห็นต่อมาตรการภาษีเพื่อการส่งเสริมวิสาหกิจชุมชน/SMEs และการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านมาตรการภาษีที่ผ่านมา รวมถึงรับฟังข้อคิดเห็นจากภาคเอกชนต่อมาตรการดังกล่าวเพื่อนำไปใช้ประกอบการจัดทำนโยบาย และมาตรการต่างๆ เพื่อสนับสนุนวิสาหกิจชุมชน/SMEs ให้เหมาะสมยิ่งขึ้นต่อไปในอนาคต วิทยากรในภาคบ่ายนี้ ได้รับเกียรติจากนายกำธร อารีกิจเสรี ที่ปรึกษาคณะกรรมการบริหาร หอการค้าจังหวัดนครราชสีมา นางกรพินธ์ บุญไชย ประธานกลุ่มเครือข่ายวิสาหกิจชุมชน
คนโคราช ผศ.ดร.ณัฐพล นิมมานพัชรินทร์ ผู้อำนวยการโครงการศึกษาวิเคราะห์และเตือนภัย SMEs รายสาขา สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) นางลาวัลย์ ภูวรรณ์ ผู้อำนวยการสำนักนโยบายภาษี สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง และนายลวรณ แสงสนิท ผู้อำนวยการส่วนนวัตกรรมด้านภาษี สำนักนโยบายภาษี สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง เป็นผู้ดำเนินรายการ สาระสำคัญจากการอภิปรายสรุปได้ ดังนี้
นางลาวัลย์ ภูวรรณ์ ผู้อำนวยการสำนักนโยบายภาษี ได้กล่าวถึงมาตรการด้านภาษี และการเงินของภาครัฐ เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs และวิสาหกิจชุมชน ให้มีความ สามารถในการแข่งขันระหว่างผู้ประกอบการรายย่อยและผู้ประกอบการรายใหญ่ เพื่อลดภาระต้นทุนด้านภาษีและให้สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนแก่ผู้ประกอบการรายย่อย โดยรัฐบาลได้มีมาตรการภาษีสำหรับผู้ประกอบการวิสาหกิจชุมชนและ SMEs เมื่อวันที่ 4 มีนาคม 2551 ดังนี้ (1) ลดอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคล สำหรับวิสาหกิจขนาดย่อมเป็นอัตราขั้นบันไดโดยยกเว้นภาษีในส่วนกำไรสุทธิที่ไม่เกิน 150,000 บาท (2) ลดอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับวิสาหกิจขนาดกลางที่มีหลักทรัพย์ที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ MAI จากร้อยละ 30 เป็นร้อยละ 20 สำหรับกำไรสุทธิในส่วนที่ไม่เกิน 20 ล้านบาท (3) การหักค่าสึกหรอหรือค่าเสื่อมราคาทรัพย์สินในการคำนวณกำไรสุทธิในอัตราเร่ง และ (4) ยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาให้แก่วิสาหกิจชุมชนที่มีเงินได้พึงประเมินไม่เกิน 1.2 ล้านบาทต่อปี เป็นเวลา 3 ปีตั้งแต่ 1มกราคม 2551 ถึง 31 ธันวาคม 2553 และให้สิทธิประโยชน์ภาษีเงินได้แก่ธุรกิจเงินร่วมลงทุน โดยยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา และนิติบุคคลสำหรับเงินปันผลและผลได้จากทุนของธุรกิจเงินร่วมลงทุน (Venture capital) ที่ลงทุนในหุ้นของ SMEs ทั้งนี้ กระทรวง การคลังมีทิศทางนโยบายและมาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมธุรกิจ SMEs ในอนาคต เช่น ช่วยเหลือ
ผู้ประกอบการในการจัดทำบัญชี ปรับปรุงให้กฎหมายและหลักเกณฑ์การเสียภาษีมีความง่ายในการปฏิบัติต่อทั้งผู้เสียภาษีและผู้จัดเก็บภาษี ส่วนมาตรการด้านการเงิน รัฐได้ให้การส่งเสริมการให้สินเชื่อและการค้ำประกันสินเชื่อผ่านสถาบันการเงินเฉพาะกิจได้แก่ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย ธนาคารออมสิน ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม โดยในปี 2551 มีเป้าหมายในการให้สินเชื่อและค้ำประกันสินเชื่อ 70,500 ล้านบาท รวมทั้งการสนับสนุนด้านการเงินของธนาคารแห่งประเทศไทย ในด้านเงินทุนหมุนเวียน แก่ SMEs การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและผลกระทบจากการแข็งค่าของเงินบาท
ผศ.ดร.ณัฐพล นิมมานพัชรินทร์ ผู้อำนวยการโครงการศึกษาวิเคราะห์และเตือนภัย SMEs รายสาขา สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) ได้กล่าวถึงสถานการณ์ของ SMEs ปี 2551 ว่า SMEs มีส่วนในการขยายตัวของ GDP ถึงร้อยละ 40 โดยมีการจ้างงานเพิ่มขึ้น การส่งออกเพิ่มขึ้น แต่มีกำไรลดลง โดยเฉพาะภาคอุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม ซึ่งจะส่งผลกระทบให้ SMEs ไม่สามารถอยู่ได้ ดังนั้น SMEs ต้องตั้ง เป้าหมายหลักในเรื่องของผลกำไร โดยต้องมีนวัตกรรมใหม่ๆ ลดค่าใช้จ่ายในการผลิต และต้องเพิ่มมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าเพื่อให้สามารถแข่งขันกับต่างประเทศได้ โดยกลุ่มอุตสาหกรรมอาหารแปรรูป และยาสมุนไพรเป็นอุตสาหกรรมที่มีอนาคตเนื่องจากสังคมเปลี่ยนไปสู่สังคมผู้สูงอายุ ส่วนธุรกิจภาคการค้าและบริการ โดยเฉพาะอสังหาริมทรัพย์
การท่องเที่ยว และ คอมพิวเตอร์และซอฟแวร์ มีความน่าเป็นห่วง ทั้งนี้ สสว. ได้ให้การส่งเสริมและช่วยเหลือโดยสร้างขีดความสารถของผู้ประกอบการรายใหม่ โดยให้เงินทุนสนับสนุนแก่วิสาหกิจชุมชนรายใหม่ รวมทั้งการอุดหนุนดอกเบี้ยแก่ผู้ประกอบการรายย่อย นอกจากนั้นยังมีกองทุนรวมเพื่อร่วมลงทุนในวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมเพื่อเพิ่ม
ขีดความสามารถในการแข่งขัน ถึงแม้ว่ากระบวนการร่วมลงทุนของกองทุนรวมเพื่อร่วมลงทุนฯ ยังมีอุปสรรคจากกระบวนการที่ซับซ้อนในการร่วมลงทุนและการลงทุนต้องมีผลกำไร ซึ่ง สสว. อยู่ระหว่างการดำเนินการแก้ไข อย่างไรก็ดี สสว.ได้ให้การส่งเสริมผู้ประกอบการทั้งรายเดิมและรายใหม่ ในด้านการตลาด การบริหารจัดการ และด้านอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้ผู้ประกอบการ SMEs มีความสามารถและอยู่รอดในการทำธุรกิจในทุกสภาวการณ์ต่อไป นอกจากนี้ สสว. อยู่ระหว่างการยกร่างกฎหมายเพื่อให้การส่งเสริมวิสาหกิจขนาดเล็กมาก (Micro Enterprise) ที่มีอยู่จำนวนมากในประเทศ ซึ่งไม่อยู่ในรูปแบบของนิติบุคคล หรือห้างหุ้นส่วนจำกัด โดยต้องเป็นบุคคลธรรมดา 5 คนขึ้นไปในการประกอบธุรกิจ
นางกรพินธ์ บุญไชย ประธานกลุ่มเครือข่ายวิสากิจชุมชนคนโคราช ได้กล่าวถึงความสำคัญของวิสาหกิจชุมชนจึงต้องมีพระราชบัญญัติส่งเสริมวิสาหกิจชุมชน พ.ศ. 2548 ว่า เศรษฐกิจชุมชนเป็นพื้นฐานของเศรษฐกิจพอเพียงและยังไม่พร้อมในการแข่งขันจึงต้องมีกฎหมายให้การส่งเสริมวิสาหกิจชุมชน เพื่อให้เกิดการช่วยเหลือและพึ่งพาตนเองได้ พัฒนาตนเองให้เศรษฐกิจชุมชนมีความเข้มแข็งและสามารถเติบโตเป็น SMEs ได้ในอนาคตต่อไป โดยวิสาหกิจชุมชนแบ่งออกเป็น 2 ประเภท ได้แก่ (1) วิสาหกิจชุมชนพื้นฐาน ซึ่งมาจากชุมชนทั้งหมด ทำอย่างพอเพียง (2) วิสาหกิจก้าวหน้า สร้างเครือข่ายขยายตลาดไปสู่ OTOP โดยองค์ประกอบของวิสาหกิจชุมชนต้องมีกระบวนการผลิต มีการบูรณาการกิจกรรมร่วมกัน มีการเรียนรู้ร่วมกัน เพื่อความอยู่รอดในชุมชน โดยเห็นว่านโยบายของภาครัฐต้องมีความชัดเจนในการให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการรายย่อยในสภาวะน้ำมันมีราคาสูง นอกจากนี้ผู้ประกอบการวิสาหกิจชุมชนต้องปรับตัวเองเพื่อรองรับกับภาวการณ์ปัจจุบันด้วย
นายกำธร อารีกิจเสรี ที่ปรึกษาคณะกรรมการบริหาร หอการค้าจังหวัดนครราชสีมา ได้กล่าวถึงผู้ประกอบSMEs ต้องมีพี่เลี้ยง ได้แก่ สถาบันภาครัฐและองค์กรท้องถิ่นในการดูแล โดยธุรกิจภาคอุตสาหกรรม เกษตร ค้าปลีกเป็นธุรกิจที่มีความสำคัญในจังหวัดนครราชสีมา สำหรับภาคอุตสาหกรรมควรมุ่งเน้นในเรื่องของนวัตกรรมและการสร้างมูลค่าเพิ่ม ลดต้นทุนในการผลิต โดยภาครัฐควรเน้นเรื่องความเชื่อมโยงในการส่งเสริมผู้ประกอบการ SMEs ส่วนภาคเกษตรกรรมต้องส่งเสริมด้านการพัฒนาตลาด การเพิ่มผลผลิต และการผลักดันให้สินค้า OTOP ส่งออกได้ รวมถึงการพัฒนาแหล่งน้ำซึ่งมีความสำคัญกับภาคเกษตรกรรมอย่างยิ่ง
ส่วนการค้าปลีก ปัจจุบันได้รับผลกระทบจากธุรกิจการค้าปลีกขนาดใหญ่ทำให้ผู้ค้าปลีก
รายเล็กต้องปิดกิจการไปแล้วถึงร้อยละ 50 ภาครัฐจึงควรช่วยในการจัดการอุปสงค์และอุปทานอย่างจริงจัง นอกจากนี้ SMEs ยังมีปัญหาในเรื่อง ความสามารถในการจ้างงานของ SMEs ในต่างจังหวัด โดยเฉพาะแรงงานที่มีทักษะเฉพาะด้าน โดยเห็นว่าช่องทางของ Venture Capital สามารถช่วยเหลือผู้ประกอบการรายย่อยได้ซึ่งภาครัฐควรเน้นการให้ความรู้ การฝึกอบรม เพิ่มเติมนอกเหนือไปจากเงินทุน เพื่อให้เกิดการบูรณาการอย่างครบวงจร และควรเน้นการปฏิบัติตามแผนยุทธศาสตร์ในการส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม เพื่อให้เกิดผลในรูปธรรม

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ