กรุงเทพฯ--26 ส.ค.--ทอท.
ในวันนี้ (26 สิงหาคม 2551) เวลา 09.30 น. ณ ห้องประชุม 1 ท่าอากาศยานหาดใหญ่ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) (ทหญ.ทอท.) นายเสรีรัตน์ ประสุตานนท์ ผู้อำนวยการท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ รักษาการ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) เป็นประธาน ในการแถลงข่าว ครบรอบการดำเนินงาน 20 ปี ของ ทหญ.ทอท. ในวันที่ 26 สิงหาคม 2551 โดยกล่าวถึงผลการดำเนินงานด้านต่าง ๆ ของ ทหญ.ทอท. ทั้งเรื่อง การให้บริการ, การพัฒนาท่าอากาศยาน และทิศทางการเติบโตของ ทหญ. ในปี 2551 ดังนี้
การให้บริการด้านอากาศยาน,ผู้โดยสารและสินค้า/ไปรษณียภัณฑ์
ปริมาณการจราจรทางอากาศของ ทหญ. ในรอบ 10 เดือน (ตุลาคม 2550 — กรกฎาคม 2551) เปรียบเทียบกับระยะเวลาเดียวกันของปีที่แล้ว โดยมีจำนวนเที่ยวบินรวมของ ทหญ. ลดลง คิดเป็นร้อยละ 6.78 จำนวนผู้โดยสารรวม เพิ่มขึ้น คิดเป็นร้อยละ 9.73 และปริมาณสินค้าเข้า/ออกรวม ลดลง คิดเป็นร้อยละ 0.50 ทั้งนี้ ปริมาณการจราจรทางอากาศของ ทหญ. ลดลง เนื่องจากปัจจัยภายนอกเกี่ยวกับ
1. สายการบินต้นทุนต่ำยกเลิกเที่ยวบิน ซึ่งบางเที่ยวบินมีผู้โดยสารสำรองที่นั่งจำนวนน้อย
2. ไม่มีเที่ยวบินเส้นทางบินระหว่างประเทศ
3. ผลกระทบจากราคาน้ำมันที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง
ทั้งนี้ ทหญ.ร่วมกับจังหวัดสงขลา พร้อมทั้ง สมาคมโรงแรมหาดใหญ่ -สงขลา, การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สำนักงานหาดใหญ่, นักธุรกิจในจังหวัดสงขลา, ผู้ประกอบการสายการบิน และสื่อมวลชนในท้องถิ่น ได้ร่วมกันประชุมปรึกษาหารือ เพื่อจะกระตุ้นศักยภาพการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจในจังหวัดสงขลา โดยผลักดันให้มีเส้นทางการบินระหว่างประเทศทำการบิน ณ ทหญ. ซึ่งในอดีตเคยมีสายการบิน ต่าง ๆ เช่น มาเลเซียแอร์ไลน์, ซิลค์แอร์, ไทเกอร์แอร์เวย์, แอร์เอเชีย และสายการบินไทย แต่ในปัจจุบันสายการบินดังกล่าวทำการยกเลิกเที่ยวบินระหว่างประเทศไปแล้ว
การพัฒนาท่าอากาศยาน
เพื่อเป็นการพัฒนา/ขยายขีดความสามารถของ ทหญ. ให้เพียงพอต่อปริมาณการจราจรทางอากาศในอนาคต ตามยุทธศาสตร์ระยะยาว ท่าอากาศยานหาดใหญ่ ถูกกำหนดให้อยู่ในโครงการพัฒนาสามเหลี่ยมเศรษฐกิจ อินโดนีเซีย — มาเลเซีย — ไทย (Indonesia — Malaysia — Thailand Growth triangle) (IMT — GT) ในด้านการขนส่งทางอากาศ ซึ่งจะ ทำให้ท่าอากาศยานหาดใหญ่ เป็นจุดเชื่อมต่อกับท่าอากาศยานอื่น ๆ ภายในประเทศ และระหว่างประเทศ เพื่อเป็นการพัฒนาและปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับปริมาณจราจรทางอากาศอย่างเพียงพอ รวมทั้ง ระบบการรักษาความปลอดภัยและสิ่งแวดล้อมที่ได้มาตรฐานในระดับสากล พร้อมทั้งสิ่งอำนวย ความสะดวกและการบริการอย่างมีประสิทธิภาพ ทหญ.จึงได้มีแผนพัฒนาท่าอากาศยาน หาดใหญ่ ดังนี้
1. มีโครงการขยายพื้นที่จอดรถยนต์ด้านทิศเหนือของอาคารท่าอากาศยาน มีพื้นที่ประมาณ 12,500 ตารางเมตร สามารถจอดรถยนต์ได้เพิ่มอีก 250 คัน (พื้นที่เดิม จอดรถฯ ได้ประมาณ 423 คัน) ในปีงบประมาณ 2552
2. ปรับระดับ
2. ปรับระดับชั้นการดับเพลิงและกู้ภัยเป็น Category 9
ตามที่องค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ICAO) กำหนดให้ท่าอากาศยานพาณิชย์สากลทุกแห่งจะต้องจัดเตรียมการด้านการดับเพลิงและกู้ภัย เพื่อรองรับเหตุฉุกเฉินที่อาจเกิดขึ้นกับอากาศยานที่มาขึ้น — ลง ณ ท่าอากาศยาน นั้น ๆ โดยในส่วนของ ท่าอากาศยานหาดใหญ่ ได้ออกประกาศใน AIP Thailand เมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน 2546 กำหนดระดับชั้นการดับเพลิงและกู้ภัยเป็น Category 7 เนื่องจากปัจจุบัน ท่าอากาศยานหาดใหญ่ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) (ทหญ.ทอท.) ได้เตรียมการด้านการดับเพลิงและกู้ภัยให้มีขีดความสามารถรองรับเหตุฉุกเฉินที่อาจเกิดขึ้นกับอากาศยานที่มาขึ้น — ลง ณ ทหญ. ได้มากกว่า Category 7 โดยมีปริมาณน้ำ อัตราฉีดป้อมปืน ปริมาณน้ำยาดับเพลิงขั้นต้น จำนวนรถดับเพลิงอากาศยาน รวมถึงความสามารถในการรองรับอากาศยานที่มีขนาดใหญ่ที่สุดที่มาขึ้น — ลง ณ ทหญ. ได้ในระดับ Category 9 ทหญ.ทอท.จึงได้ปรับระดับชั้นการดับเพลิงและกู้ภัยจาก Category 7 เป็น Category 9 เมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2551
มาตรการรักษาความปลอดภัย
ตามผนวกที่ 17 (Annex 17) ขององค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (International Civil Aviation Organization : ICAO) ได้กำหนดให้รัฐผู้ทำสัญญาแต่ละรัฐ จะต้องจัดให้มีมาตรการในการป้องกันการกระทำอันเป็นการแทรกแซงโดยมิชอบด้วย กฎหมาย ประกอบกับเหตุการณ์ก่อการร้ายและเหตุการณ์ความไม่สงบในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ในส่วนของ ทหญ.ทอท. ได้เข้มงวดกวดขันในการปฏิบัติตามมาตรการรักษาความปลอดภัย เพื่อให้ผู้โดยสารหรือผู้มาใช้บริการท่าอากาศยานเกิดความมั่นใจ กล่าวคือ
- ตั้งจุดตรวจยานพาหนะเข้า — ออก ท่าอากาศยานหาดใหญ่
- ตั้งจุดตรวจค้นบุคคลและสัมภาระ ก่อนเข้าภายในอาคารท่าอากาศยาน และ ในเร็ววันนี้จะเพิ่มจุดตรวจค้นดังกล่าวเพิ่มขึ้นอีก 1 จุด อยู่ระหว่างดำเนินการ
- มาตรการความปลอดภัยในการพกพาอาวุธปืนเข้าภายในอาคารผู้โดยสาร
- จัดหากำลังผสมทหาร ตำรวจ และพนักงานท่าอากาศยานหาดใหญ่ ลาดตระเวนพื้นที่ภายใน — ภายนอกอาคารท่าอากาศยาน และพื้นที่โดยรอบ ตลอด 24 ชั่วโมง
- ติดตั้งกล้องโทรทัศน์วงจรปิดเพิ่มเติม
- ประชุมกองกำลังร่วมรักษาความปลอดภัย ประกอบด้วยทหารอากาศ, ทหารบก, เจ้าหน้าที่ตำรวจ, สายการบิน และท่าอากาศยานหาดใหญ่ เพื่อวางแผนปรับ
เปลี่ยนมาตรการให้ทันต่อเหตุการณ์ตลอดเวลา สัปดาห์ละ 2 ครั้ง
และจากการเสวนาพันธมิตรธุรกิจและท่าอากาศยานหาดใหญ่ เมื่อวันที่ 21 สิงหาคม 2551 มีข้อเสนอแนะในด้านการอำนวยความสะดวกต่อผู้ใช้บริการท่าอากาศยานในด้านการรักษาความปลอดภัย ท่าอากาศยานหาดใหญ่ ซึ่งได้เร่งดำเนินการแล้ว อาทิ เช่น การเพิ่ม ประสิทธิภาพในการตรวจค้นยานพาหนะที่เข้าในเขตท่าอากาศยาน, การเพิ่มกำลังเจ้าหน้าที่ที่ผ่านการฝึกอบรมในการรักษาความปลอดภัย, การกำกับดูแลแรงงานจัดจ้างภายนอกตามเกณฑ์มาตรฐานขององค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ, การยกเว้นไม่เก็บค่าจอดรถในเขตท่าอากาศยานกรณีจอดไม่เกิน 15 นาที เป็นต้น
ท่าอากาศยานหาดใหญ่กับสิ่งแวดล้อม
การรักษาสิ่งแวดล้อมในเขตท่าอากาศยาน และชุมชนโดยรอบให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐานตามที่กฎหมายกำหนด ถือเป็นภารกิจที่ท่าอากาศยานหาดใหญ่ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) (ทหญ.ทอท.) ตระหนักและให้ความสำคัญในการดูแลจัดการกับสิ่งแวดล้อมในทุก ๆ ด้าน กล่าวคือ การบำบัดน้ำเสีย คุณภาพอากาศ ระดับเสียง การกำจัดขยะมูลฝอย การควบคุมแมลงและสัตว์พาหะนำโรค การสุขาภิบาล น้ำดื่มน้ำใช้ นอกจากนี้ ทหญ.ทอท. ได้ดำเนินการตรวจสอบศึกษาสภาพสิ่งแวดล้อม ประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมของทรัพยากรกายภาพและชีวภาพ รวมทั้ง กำหนดมาตรการป้องกันแก้ไขและติดตามตรวจสอบคุณภาพสิ่งแวดล้อมดังกล่าว
ในส่วนของน้ำเสียที่ผ่านการบำบัดแล้วก่อนทิ้งลงสู่ธารสาธารณะของ ทหญ.ทอท. มีคุณภาพตรงตามประกาศกระทรวงวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม เรื่อง กำหนดมาตรฐานการควบคุมการระบายน้ำทิ้งจากอาคารบางประเภทและบางขนาด
การพัฒนาบุคคล
ในช่วงการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญในธุรกิจการบิน ซึ่งเกิดจากการเปลี่ยนแปลงด้านเศรษฐกิจระหว่างประเทศ เทคโนโลยี และสถานการณ์ก่อการร้าย ซึ่งส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงในด้านการบริหารจัดการ โดยเฉพาะธุรกิจท่าอากาศยานทั่วโลกต่างเร่งปรับกลยุทธ์ต่าง ๆ เพื่อพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันขององค์การ และปัจจัยที่สำคัญที่สุดในการพัฒนาดังกล่าว คือ การพัฒนาทรัพยากรบุคคลให้มีสมรรถนะและขีดความสามารถพร้อมที่จะแข่งขันและช่วงชิงความได้เปรียบในธุรกิจ ทอท. ในฐานะเป็นองค์การที่มีหน้าที่ในการบริหารและให้บริการ ท่าอากาศยานด้วยมาตรฐานความปลอดภัย คุณภาพการให้บริการ สิ่งอำนวยความสะดวกในระดับสากล และมาตรฐานองค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ จึงตระหนักถึงความสำคัญความรับผิดชอบในการเตรียมความพร้อมของบุคลากร และมุ่งเน้นการบริหารทุนมนุษย์ (Human Capital Management) เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม (Value Added) ให้บุคลากรในองค์การมีสมรรถนะสูงขึ้น โดยมุ่งพัฒนาบุคลากรให้มีองค์ความรู้ (Knowledge) ความเข้าใจ (Understanding) ทักษะ (Skill) ทัศนคติ (Attitude) ค่านิยม (Value) และวัฒนธรรม (Culture) ในการทำงานที่ถูกต้องเหมาะสม โดยเฉพาะเรื่องความปลอดภัย (Safety) และการรักษาความปลอดภัย (Security) ในกิจการการบิน รวมทั้งมุ่งส่งเสริมแนวคิดในการพัฒนาตนเอง (Self — Development) ของบุคลากรให้ใฝ่ศึกษาหาความรู้ และปรับตัวให้เหมาะสมกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปตลอดเวลา
นอกจากนี้ ยังได้นำการบริหารบุคลากรยุคใหม่ โดยนำแนวคิดเชิงธุรกิจมาผสมผสานในการบริหารท่าอากาศยาน โดยใช้แนวคิดการบริหารการตลาดเชิงรุก และการบริหารความสัมพันธ์ลูกค้า (Customer Relationship Management : CRM) เพื่อเสริมสร้างศักยภาพการหารายได้และการสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับลูกค้า ซึ่ง ทอท. เชื่อมั่นว่าจะสามารถพัฒนาท่าอากาศยานหาดใหญ่ ให้มีคุณภาพ การให้บริการเพื่อสร้างความประทับใจให้แก่ผู้มาเยือน รวมทั้งรักษาความเป็นศูนย์กลางการขนส่งทางอากาศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ให้ผู้ใช้บริการได้รับการบริการที่เป็นเลิศ และสูงกว่าระดับที่คาดหวังต่อไป
กิจกรรมชุมชนสัมพันธ์ของ ทหญ.
ทหญ. ให้ความสำคัญในการร่วมกิจกรรมต่าง ๆ มากมาย อาทิเช่น
- จัดกิจกรรมเดินเทิดพระเกียรติโครงการ “ทอท. รวมใจภักดิ์รักในหลวง” ทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาค
- การอำนวยความสะดวกให้กับพี่น้องมุสลิมที่เดินทางไปประกอบพิธีฮัจย์เป็นประจำทุกปี
- จัดเลี้ยงอาหารกลางวันสำหรับเด็กพิการทางปัญญาบ้านสงขลา พร้อมทั้งมอบเงินสนับสนุน
- เปิดโอกาสให้นักเรียน นักศึกษา เข้าเยี่ยมและดูงานภายใน ทหญ.
- ทหญ. ร่วมกับ ศูนย์เร่งรัดพัฒนาชนบท, การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค หาดใหญ่ และทางหลวงชนบทที่ 12 สงขลา ปรับปรุงถนนบริเวณโดยรอบ ทหญ.
- ทอท. ให้การส่งเสริมคุณภาพการศึกษา พร้อมทั้งสนับสนุนอุปกรณ์การเรียน ให้กับโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนการท่าอากาศยานแห่งประเทศไทย เฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี
การอำนวยความสะดวกผู้เดินทางไปประกอบพิธีฮัจย์ ณ นครมักกะห์
ทหญ.ร่วมกับจังหวัดสงขลาและศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.)ได้ให้การสนับสนุนและอำนวยความสะดวกผู้เดินทางไปประกอบพิธีฮัจย์ ณ นครมักกะห์ ประเทศซาอุดิอาระเบีย ตลอดจนญาติพี่น้องที่เดินทางมารอรับ — ส่งในช่วงการประกอบพิธีฮัจย์เป็นประจำทุกปี นั้น สำหรับในปี 2550 ทหญ.,จังหวัดสงขลา และ ศอ.บต. ได้ให้การอำนวยความสะดวกผู้เดินทางไปประกอบพิธีดังกล่าวโดยแยกรายละเอียดดังนี้
1. ด้านการบิน สายการบินที่ได้รับอนุญาตในการรับ — ส่งผู้เดินทางไปแสวงบุญ จำนวน 2 บริษัท/ สายการบิน ได้แก่
1.1 บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) เข้า/ออก จำนวน 40 เที่ยวบิน
1.2 สายการบินมาเลเซีย แอร์ไลน์ เข้า/ออก จำนวน 4 เที่ยวบิน ปี 2550 มีเที่ยวบินขาไป จำนวน 22 เที่ยวบิน เปรียบเทียบปี 2549 มีเที่ยวบินขาไป จำนวน 18 เที่ยวบิน เพิ่มขึ้นร้อยละ 22.22 และเที่ยวบินขากลับปี 2550 จำนวน 22 เที่ยวบิน เปรียบเทียบปี 2549 มีเที่ยวบินขากลับ จำนวน 19 เที่ยวบิน เพิ่มขึ้นร้อยละ 15.79 หมายเหตุ ปี 2550 รวมเที่ยวบินขาไป — ขากลับ จำนวน 44 เที่ยวบิน และปี 2549 รวมขาไป — ขากลับ จำนวน 37 เที่ยวบิน
2. ด้านผู้โดยสาร
2.1 บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) มีผู้โดยสารขาไป จำนวน 7,473 คน และขากลับจำนวน 7,463 คน รวมขาไป - ขากลับ จำนวน 14,936 คน
2.2 สายการบินมาเลเซีย แอร์ไลน์ มีผู้โดยสารขาไป จำนวน 249 คน และขากลับ จำนวน 285 คน รวมขาไป — ขากลับ จำนวน 534 คน ทั้งนี้ มีผู้โดยสารผ่านลำ (TRANSIT) ขาไป — ขากลับ จำนวน 502 คน
ช่วงขาไป มีผู้โดยสารขึ้นจาก ทหญ. จำนวน 7,722 คน (เฉลี่ย 351 คน/เที่ยวบิน) เปรียบเทียบปี 2549 มีผู้โดยสารขึ้นจาก ทหญ. จำนวน 6,416 คน (เฉลี่ย 356 คน/เที่ยวบิน) เพิ่มขึ้น 1,306 คน คิดเป็นร้อยละ 20.36 และขากลับมีผู้โดยสารลง ณ ทหญ. จำนวน 7,748 คน (เฉลี่ย 352 คน/เที่ยวบิน) เปรียบเทียบกับปี 2549 มีผู้โดยสารลง ณ ทหญ. จำนวน 6,458 คน (เฉลี่ย 340 คน/เที่ยวบิน) เพิ่มขึ้น 1,290 คน คิดเป็นร้อยละ 19.98
ในส่วนของปี 2551 ยังไม่ทราบกำหนดการที่แน่นอน รอผลสรุปจากการประชุมคณะกรรมการกรมการศาสนา