กรุงเทพฯ--21 มี.ค.--สกว.
ชี้วิทยาศาสตร์กับงานโบราณคดีไทยยังอยู่ในวงจำกัด ส่งผลให้การตรวจพิสูจน์ หาข้อมูล และการบูรณปฏิสังขรณ์โบราณสถาน-โบราณวัตถุทำได้ช้า ระบุไทยควรเร่งสร้างเครือข่ายและพัฒนางานอนุรักษ์สมบัติทางวัฒนธรรมของชาติเป็นไปตามมาตรฐานสากลโดยเร็ว พร้อมเชิญชวนผู้ที่สนใจร่วมเรียนรู้ เจาะลึกเบื้องหลังการทำงาน การบูรณปฏิสังขรณ์โบราณสถาน รวมทั้งขั้นตอนการดำเนินงานกว่าจะเป็นวัตถุโบราณที่นำมาจัดแสดงในพิพิธภัณฑ์ ได้ในงานสัมมนา “ วิทยาศาสตร์กับการอนุรักษ์โบราณสถาน” เนื่องในวันอนุรักษ์มรดกไทย ซึ่งจะจัดขึ้น ณ ห้องประชุมโรงแรมกรุงศรีริเวอร์ จังหวัดพระนครศรีอยุธยาในวันที่ 7-8 เมษายน 2547 นี้
ดร.ศิริชัย หวังเจริญตระกูล ศูนย์ปฏิบัติการอนุรักษ์โบราณสถาน นครประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา กล่าวถึงที่มาในการจัดงานครั้งนี้ว่า ทุกวันนี้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีได้ก้าวมาเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตและการงานในทุกแขนง ไม่เว้นแม้แต่ในส่วนของงานโบราณคดี ผู้ที่ทำงานอนุรักษ์โบราณสถานโบราณวัตถุ นอกจากจะต้องมีความรู้ เข้าใจหลักการและแนวความคิดในการอนุรักษ์แล้ว ยังจำเป็นต้องนำวิธีการทางวิทยาศาสตร์เข้ามาเป็นตัวช่วยสำคัญในการทำงานทั้งการตรวจพิสูจน์ หาข้อมูล และการบูรณปฏิสังขรณ์ด้วย
“การค้นพบโบราณวัตถุบางครั้ง โลหะบางชิ้นเกิดสนิมและถูกหินปูนหุ้มจนไม่เห็นรูปร่าง เราอาศัยการถ่ายภาพเอกซเรย์เพื่อศึกษาโครงสร้างวัตถุก่อนที่จะนำมาทำความสะอาด เพื่อป้องกันความเสียหายเวลาใช้เครื่องมือ สกัดดิน หิน ที่เกาะจับออก ในกรณีที่สืบหาข้อมูลทางโบราณคดี เช่น ต้องการตรวจอายุขัยของวัตถุก็ใช้วิธีการกำหนดอายุศิลปโบราณวัตถุด้วยวิธี คาร์บอน 14 และวิธีอิเลคตรอนสปินรีโซแนนซ์ หรือหากต้องการทราบองค์ประกอบทางเคมีของโบราณวัตถุ ก็สามารถใช้วิธีทางนิวเคลียร์ การถ่ายภาพด้วยรังสีเอ็กซ์ และรังสีอินฟราเรด เป็นต้น
แม้แต่ในส่วนงานอนุรักษ์ บูรณปฏิสังขรณ์ก็ต้องมีการศึกษาถึงการเสื่อมสภาพของโบราณสถานและโบราณวัตถุก่อนว่าเกิดจากปัจจัยใด แล้วจึงหาวัสดุ เคมีภัณฑ์ ที่เหมาะสมต่อการแก้ไขฟื้นฟู และป้องกันการผุกร่อนให้ช้าที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ เช่นการวิจัยทดสอบผสมปูนโบราณ เพื่อให้ได้ปูนที่มีเนื้อสีที่ใกล้เคียงกับของเดิมมากที่สุด”
หากแต่ว่าการนำวิทยาศาสตร์มาใช้ในงานโบราณคดีในเมืองไทยยังอยู่ในวงจำกัด จำเป็นต้องขยายงาน และต้องการความร่วมมือจากนักวิชาการหลากหลายสาขา องค์กรต่างๆ ในการระดมความรู้ งานวิจัยด้านวิทยาศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับงานโบราณคดีอีกมาก เพื่อสร้างเครือข่ายและพัฒนางานอนุรักษ์สมบัติทางวัฒนธรรมของชาติเป็นไปตามมาตรฐานสากล สำนักงานโบราณคดีจึงได้จัดงานสัมนาเรื่อง “วิทยาศาสตร์กับการอนุรักษ์โบราณสถาน” เนื่องในวันอนุรักษ์มรดกไทยขึ้น เพื่อเทิดพระเกียรติและแสดงความสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ที่ส่งเสริมและทรงอนุกรักษ์การดำเนินงานที่เกี่ยวเนื่องด้วยศิลปวัฒนธรรมทุกแขนงของชาติ
โดยภายในงานสัมมนาครั้งนี้จะมีการนำเสนอผลงานการศึกษาวิจัยของศูนย์ปฏิบัติการอนุรักษ์โบราณสถานนครประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา รวมทั้งวิทยากรสาขาต่างๆ ที่มาบรรยายและนำเสนอผลงานทางวิทยาศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับงานด้านโบราณคดี อาทิ น้ำใต้ดินกับการอนุรักษ์โบราณสถาน , เลเซอร์กับงานศิลปกรรม,เผาเทียน เล่นไฟ ในเขตโบราณสถาน เป็นต้น
นอกจากนี้ยังมีการนำชมศูนย์ปฏิบัติการอนุรักษ์ ให้ผู้ชมได้เห็นกิจกรรมของศูนย์ฯ ว่าเมื่อนักโบราณคดีขุดค้นพบศิลปโบราณวัตถุประเภทต่างๆ จากแหล่งโบราณคดี แล้วส่งเข้ามายังศูนย์ปฏิบัติการอนุรักษ์ฯ ผู้ชมจะได้เห็นเทคนิค วิธีการอนุรักษ์โบราณวัตถุจากแหล่งขุดค้นอย่างถูกต้องตามหลักวิชาสากล เช่น การอนุรักษ์เครื่องปั้นดินเผาจากแหล่งโบราณคดีหมู่บ้านฮอลันดา การอนุรักษ์พระพุทธรูปสำริด ฯลฯ
อย่างไรก็ตามการอนุรักษ์สมบัติทางโบราณคดีของชาตินับเป็นหน้าที่ของคนไทยทุกคน ทางกรมศิลปากรจึงขอใคร่เชิญชวนนักวิชาการ ผู้ทำงานด้านอนุรักษ์ นักเรียน นักศึกษา และประชาชนผู้สนใจ แจ้งความจำนงเข้าร่วมสัมมานาในครั้งนี้ ซึ่งจะจัดขึ้นในวันที่ 7-8 เมษายน 2547 ณ ห้องประชุมโรงแรมกรุงศรีริเวอร์ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ทั้งนี้สามารถติดต่อขอรายละเอียดได้ที่ ศูนย์ปฏิบัติการอนุรักษ์โบราณสถาน นครประวัติศาสตร์พระนคร ศรีอยุธยา กรมศิลปากร โทร (035)242-284 , (035)242-286--จบ--