กรุงเทพฯ--27 ส.ค.--บีโอไอ
บีโอไอ อนุมัติส่งเสริมการลงทุนให้บริษัทเกร๊ทเตอร์ฟาร์ม่าจับมือศิริราช ผลิตวัคซีนแก้โรคภูมิแพ้ และน้ำยาทดสอบ เพื่อการพาณิชย์ รายแรกในประเทศ รองรับตลาดผู้ป่วยภูมิแพ้พุ่ง 18 ล้านคน มั่นใจช่วยหนุนอุตสาหกรรมในโครงการเทคโนโลยีชีวภาพไทย
นายสาธิต ชาญเชาวน์กุล เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผยว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้ ที่ประชุมคณะทำงานพิจารณาโครงการ ได้มีมติให้ส่งเสริมการลงทุนแก่โครงการขยายกิจการของบริษัท โรงงานเภสัชกรรม เกร๊ทเตอร์ฟาร์ม่า จำกัด ในการผลิตวัคซีนแก้โรคภูมิแพ้ และน้ำยาทดสอบที่ใช้เทคโนโลยีชีวภาพ (น้ำยาสกัดจากสารก่อภูมิแพ้) เช่น ไรฝุ่น แมลงสาบ ละอองเกสรดอกไม้ หญ้า ขน รังแค และน้ำลายสุนัข แมว เชื้อรา เป็นต้น ขนาดกำลังผลิต วัคซีนและน้ำยาทดสอบ ปีละประมาณ 1,200 ลิตร วงเงินลงทุนทั้งสิ้น 37.6 ล้านบาท ตั้งอยู่ที่จังหวัดนครปฐม
ทั้งนี้การดำเนินการตามโครงการดังกล่าว บริษัทฯ ได้ร่วมมือกับโรงพยาบาล ศิริราช ในการผลิตวัคซีนไรฝุ่น โดยเป็นการนำเทคโนโลยีด้านไบโอเทคโนโลยี เคมี เภสัชกรรม และสาขาอื่นที่เกี่ยวข้องมาประยุกต์ใช้ เพื่อให้ได้วัคซีนและน้ำยาทดสอบที่มีประสิทธิผลในการรักษา และให้สามารถทำการผลิตในเชิงพาณิชย์ได้ ซึ่งจะมีราคาถูกกว่าการนำเข้าถึงกว่าร้อยละ 50 และผลผลิตที่ผลิตได้ จะจำหน่ายเพื่อป้อนความต้องการในประเทศทั้งหมด
“บริษัทฯที่ยื่นขอรับส่งเสริมการลงทุนครั้งนี้ เป็นผู้ผลิตยาชั้นนำของคนไทย และถือเป็นรายแรกที่ขอส่งเสริมการลงทุนในโครงการเทคโนโลยีชีวภาพ ที่มีการทำวิจัยและพัฒนาผลิตสารเวชภัณฑ์ที่ใช้เทคโนโลยีชีวภาพ ซึ่งจะทำให้ผู้บริโภคได้มีโอกาสใช้วัคซีนที่มีคุณภาพในราคาไม่สูง นับเป็นโครงการเทคโนโลยีชีวภาพที่เป็นตัวอย่างที่ดีต่อบริษัทฯ อื่น ๆ ที่จะเข้ามาขอส่งเสริมในอนาคต และนับเป็นกิจการที่สอดคล้องกับนโยบายปีแห่งการลงทุนไทยที่ต้องการส่งเสริมกิจการด้านวิจัยและพัฒนา และเทคโนโลยีชีวภาพ” นายสาธิต กล่าว
ปัจจุบันประเทศไทย มีผู้ที่ป่วยด้วยโรคภูมิแพ้ประมาณ 18 ล้านคนโดยเฉพาะสารก่อภูมิแพ้จากไรฝุ่น ซึ่งเป็นโรคภูมิแพ้ของทางเดินหายใจที่คนไทยเป็นกันมากที่สุด ทำให้เสียค่าใช้จ่ายสูงมากในการดูแลรักษา เนื่องจากต้องนำเข้ายาเพื่อใช้ในการวินิจฉัยและรักษาโรคจากต่างประเทศ โดยเฉพาะน้ำยาสกัดจากสารก่อภูมิแพ้มีความสำคัญเป็นอย่างยิ่งในการรักษา และในตลาดโลกจัดเป็นน้ำยาที่มีราคาแพงที่สุดในกลุ่มน้ำยาสกัดจากสารก่อภูมิแพ้ชนิดต่างๆ อย่างไรก็ตามโครงการนี้จะช่วยให้เกิดการใช้วัตถุดิบในประเทศถึงปีละ 15.2 ล้านบาท และประหยัดการนำเข้าได้ถึง 96.4 ล้านบาทต่อปี