สสว.จับมือจุฬาฯตั้งศูนย์บ่มเพาะธุรกิจต้นแบบ แห่งที่ 3

ข่าวทั่วไป Tuesday January 4, 2005 14:31 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--4 ม.ค.--สสว.
สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) จับมือจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยตั้งศูนย์บ่มเพาะธุรกิจต้นแบบ เพื่อสร้างผู้ประกอบการวิสาหกิจรุ่นใหม่ด้านอุตสาหกรรมอาหาร แฟชั่นและผลิตภัณฑ์ที่ใช้ในชีวิตประจำวัน หวังบ่มเพาะธุรกิจไม่ต่ำกว่า 10 ราย ในปี 2548 เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 23 ธันวาคม 2547 ณ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
นางจิตราภรณ์ เดชาชาญ ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม(สสว.) เปิดเผยว่า สสว.ได้ร่วมมือกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในการจัดตั้งศูนย์บ่มเพาะธุรกิจสำหรับวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมต้นแบบ เรียกว่า Out-Wall Incubation Center เพื่อบ่มเพาะผู้ประกอบการ SMEs รายใหม่ ด้านอุตสาหกรรม แฟชั่น และผลิตภัณฑ์ที่ใช้ในชีวิตประจำวัน (Lifestyle Product) ที่มีพื้นฐานความรู้เชิงวิชาการและเทคโนโลยี ตลอดจนการบริหารจัดการของผู้ประกอบการเดิม เพื่อผลักดันให้เกิดเครือข่ายศูนย์บ่มเพาะฯ และสร้างองค์ความรู้ให้ผู้ประกอบการอย่างมีระบบ สามารถเริ่มต้นธุรกิจได้จริง และดำเนินการได้ตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ ภายใต้เงื่อนไขที่ผู้ประกอบการ SMEs สามารถค้นพบศักยภาพที่แท้จริง โดยเลือกทางเดินให้สอดคล้องกับความต้องการของตัวเองได้ โดย สสว. ตกลงสนับสนุนงบประมาณการดำเนินกิจกรรมของศูนย์ฯ และร่วมกับจุฬาฯ ในการจัดหาผู้ทรงคุณวุฒิของมหาวิทยาลัยของมหาวิทยาลัย เพื่อถ่ายทอดความรู้ทางวิชาการ การให้คำปรึกษาแก่ผู้ประกอบการในด้านต่าง ๆ ทั้งการบริหารการผลิต การบริหารการจัดการธุรกิจ การจัดทำบัญชี การตลาด เพื่อผู้ประกอบการจะสามารถผลิตผลิตภัณฑ์ที่ต้องการและจำหน่ายได้จริงในท้องตลาด โดยจะอำนวยความสะดวกในการใช้เครื่องมือและอุปกรณ์ในการผลิต การทดลอง การพัฒนาและทดสอบผลิตภัณฑ์รวมทั้งจัดกิจกรรมเพื่อส่งเสริมความแข็งแกร่งแก่ผู้ประกอบการ SMEs ทั้งการอบรมสัมมนา เพื่อแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นในเครือข่ายพัธมิตร ที่เป็นประโยชน์ต่อการดำเนินการ
“หน่วยบ่มเพาะธุรกิจ ทำหน้าที่เป็นสำนักงานในการเริ่มต้นธุรกิจ ให้ผู้ประกอบการใหม่เข้ามารับการฝึก และรับคำปรึกษาแนะนำ ตลอดจนสนับสนุนในด้านต่าง ๆ ที่จำเป็น เพื่อการประกอบการอย่างครบวงจรในการเริ่มธุรกิจ จนกระทั่งสามารถเป็นผู้ประกอบการที่เข้มแข็งได้ แล้วจึงย้ายออกสู่การผลิตที่สมบูรณ์แบบ ซึ่งอาจเป็นสถานที่หรือพื้นที่ของผู้ประกอบการเอง หรืออาจเป็นอุทยานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี หรือนิคมอุตสาหกรรม” ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมกล่าว
ด้านนายพงษ์ศักดิ์ รักตพงศ์ไพศาล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ประธานในพิธีเปิดศูนย์กล่าวว่า ส่วนที่สำคัญที่สุดของการดำเนินการของภาครัฐ คือ การกระตุ้น ประคับประคอง ส่งเสริมและสนับสนุนให้เศรษฐกิจจุลภาคเจริญเติบโตและยั่งยืน ซึ่งจะส่งผลให้เศรษฐกิจโดยรวมของประเทศเติบโตและมั่นคง ซึ่งการประสานงานระหว่างสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม กับ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อทำกิจกรรมส่งเสริม SMEs ถือเป็นนิมิตรหมายที่ดี ซึ่งแสดงถึงการร่วมมือร่วมใจของภาครัฐ ในการดำเนินการสนับสนุนภาคเอกชน อันจะส่งผลถึงประเทศต่อไป
ขณะที่ศาสตราจารย์ ดร. คุณหญิง สุชาดา กีระนันทน์ อธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยกล่าวว่า จากการสำรวจของคณะพาณิชย์ศาสตร์และการบัญชี จุฬาฯพบว่าผู้ที่จบหลักสูตรการศึกษาอบรมตัดสินใจเป็นผู้ประกอบการ SMEs แทนการเป็นพนักงานบริษัทเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ผู้ประกอบการใหม่มากกว่าร้อยละ 90 ต้องการให้เปิดศูนย์บ่มเพาะอย่างเป็นทางการ เพื่อให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการให้มีศักยภาพด้านต่าง ๆ สูงขึ้น รวมถึงบทบาทในการพัฒนาผู้ประกอบการ SMEs ทั้งผู้ประกอบการรายใหม่และผู้ประกอบการเดิม ซึ่งศูนย์บ่มเพาะฯที่ทั้ง 2 หน่วยงาน ร่วมมือกันจัดตั้งขึ้นนี้จะดำเนินการสอดคล้องกับผลการสำรวจ โดยจะสร้างเครือข่ายเชื่อมโยงกับหน่วยงานต่าง ๆ ภายในมหาวิทยาลัย เพื่อให้เกิดการรวมพลังในการพัฒนาและบ่มเพาะ SMEs ทั้งการสร้างเครือข่ายเชื่อมโยงกับหน่วยงานภายนอกมหาวิทยาลัยทั้งระดับประเทศและระดับนานาชาติ ได้แก่ ความร่วมมือกับสภาอุตสาหกรรม และ Asia link — Eu Program เพื่อสรรหาและคัดเลือกผู้ประกอบการที่มีศักยภาพเข้ามาบ่มเพาะ ก่อให้เกิดธุรกิจที่มีนวัตกรรมและศักยภาพที่จะแข่งขันได้ในระดับประเทศหรือระดับโลก และจะเสริมสร้างการรับรู้และภาพลักษณ์การบ่มเพาะ SMEs ไปยังหน่วยงานและบุคคลที่เกี่ยวข้อง ให้เห็นศักยภาพของศูนย์ฯในการบ่มเพาะผู้ประกอบการแบบมืออาชีพ ด้วยการเชื่อมโยงการนำการวิจัยและพัฒนาเพื่อก่อให้เกิดธุรกิจใหม่ที่มีความเป็นไปได้ สร้างพันธมิตรกับสถาบันการเงินภาครัฐและภาคเอกชนในการสนับสนุน SMEs และสรรหา Business Angel เพื่อสนับสนุนพัฒนา SMEs โดยมีเป้าหมายจะรับบ่มเพาะผู้ประกอบการอุตสาหกรรม อาหาร แฟชั่น และผลิตภัณฑ์ที่ใช้ในชีวิตประจำวัน ในปี 2548 จำนวน 10 ราย ปี 2549 จำนวน 12 ราย และตั้งเป้าหมายการฝึกอบรมว่าจะจัดอบรมให้ความรู้ด้านการเป็นผู้ประกอบการปี 2548 จำนวน 100 ราย
“โครงสร้างการบริหารงาน ประกอบด้วย คณะกรรมการที่ปรึกษาศูนย์เพาะ ซึ่งจะมีผู้บริหารจากภายในและภายนอกมหาวิทยาลัยทั้งประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ประธานสภาหอการค้าไทยปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ส่วนคณะกรรมการบริหารศูนย์บ่มเพาะธุรกิจฯ ประกอบด้วยผู้บริหารภายในคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี ส่วนคณะกรรมการดำเนินงาน ประกอบด้วยคณาจารย์จากคณะฯ 23 คน โดย สสว.ได้ร่วมเป็นคณะกรรมการดำเนินงานของศูนย์บ่มเพาะธุรกิจฯ” ศาสตราจารย์ ดร. คุณหญิง สุชาดา กล่าว
สสว.ได้ลงนามความร่วมมือกับสถาบันการศึกษาในการตั้งศูนย์บ่มเพาะมาแล้ว 2 แห่ง คือ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จัดตั้งศูนย์บ่มเพาะต้นแบบ แบบ Out-Wall Incubator เพื่อบ่มเพาะธุรกิจด้านอาหาร มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี เพื่อเป็นศูนย์บ่มเพาะในลักษณะ In-Wall Incubator ที่เน้นการสร้างผู้ประกอบการด้านเทคโนโลยี โดยเฉพาะด้านอุตสาหกรรมอาหาร การแปรรูป กระบวนการผลิตและอุตสาหกรรมอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง และล่าสุดกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยสสว.ตั้งเป้าหมายในการร่วมดำเนินการสนับสนุนการตั้งศูนย์บ่มเพาะฯไว้ว่าจะมีผู้ประกอบการ SMEs แห่งละไม่ต่ำกว่า 10 ราย เข้ามาใช้บริการบ่มเพาะธุรกิจเทคโนโลยี โดยผู้สนใจสามารถดาวน์โหลดในสมัครได้ที่ www.uto.kmutt.ac.th หรือ www.sme.go.th หรือขอรับในสมัครได้ที่สำนักงานเทคโนโลยี SMEs มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี เลขที่ 91 ถนนประชาอุทิศ แขวงบางมด เขตทุ่งครุ กรุงเทพฯ 10140 โทรศัพท์ 0-2470-8326-8 หรือคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถนนพญาไท ปทุมวัน กรุงเทพฯ 10330 โทรศัพท์ 0-2218-5763-4 หรือสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) เลขที่ 21 อาคารทีเอสทีทาวเวอร์ ชั้น G ถนนวิภาวดีรังสิต เขตจตุจักร กรุงเทพฯ 10900 โทรศัพท์ 0-2278-8800 ต่อ 249--จบ--

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ