กรุงเทพฯ--28 ส.ค.--เบทาโกร
ย้ำภาพผู้นำอุตสาหกรรมเกษตรและอาหารครบวงจรด้วย 2 นวัตกรรมล่าสุด ทั้งระบบควบคุมสภาวะอากาศในโรงเรือนแบบปิด (VenTECH) และพัดลมประหยัดพลังงานขนาด 50 นิ้ว สำหรับฟาร์มเลี้ยงไก่และหมูระบบปิด (PowerTECH) พร้อมลุยอีก 6 โครงการ ด้วยงบสนับสนุนรวมกว่า 10 ล้านบาท ชี้ช่วยเพิ่มคุณภาพผลผลิต ลดการใช้พลังงาน และเพิ่มศักยภาพอุตสาหกรรมการเกษตรไทย ก้าวต่อไปเตรียมต่อยอดนวัตกรรมไทยส่งขายในตลาดโลก วันนี้ (28 สิงหาคม 2551 - เบทาโกร ทาวเวอร์) เครือเบทาโกร โดยบริษัท บี. อินเตอร์เนชั่นแนล แอนด์ เทคโนโลยี่ จำกัด ผู้ผลิต จัดจำหน่าย และให้บริการด้านอุปกรณ์ฟาร์มครบวงจร ร่วมกับ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) โดยใช้กลไกโครงการสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีของอุตสาหกรรมไทย (iTAP) ภายใต้ศูนย์บริหารจัดการเทคโนโลยีของสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) จัดพิธีลงนามความร่วมมือในการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมเพื่ออุตสาหกรรมเกษตร ต่อเนื่องเป็นครั้งที่ 2 รวมทั้งแถลงผลงานความสำเร็จในการวิจัยและพัฒนาตามโครงการความร่วมมือครั้งที่ 1 (พ.ศ. 2548 — สิงหาคม 2549) โดยมีจุดมุ่งหมายสำคัญ คือ เพื่อส่งเสริมการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมเทคโนโลยีโดยนักวิจัยชาวไทย และสร้างสรรค์ผลงานที่จะนำมาใช้พัฒนาอุตสาหกรรมเกษตรของไทยให้มีศักยภาพมากยิ่งขึ้น ภายในงานมีการนำเสนอผลงานของโครงการวิจัยและพัฒนาที่ประสบผลสำเร็จและมีผลิตภัณฑ์ที่มีการจัดจำหน่ายแล้ว 2 โครงการ ได้แก่ โครงการพัฒนาระบบควบคุมสภาวะอากาศในโรงเรือนแบบปิด (VenTECH) และการพัฒนาพัดลมประหยัดพลังงาน ขนาด 50 นิ้ว (PowerTECH) นอกจากนี้ ยังมีโครงการที่อยู่ในระหว่างการพัฒนาอีก 6 โครงการ ได้แก่ 1) โครงการพัฒนาระบบเครื่องชั่งน้ำหนักอาหารในถังไซโล 2) โครงการพัฒนาแผ่นความร้อนสำหรับให้ความอบอุ่นลูกสุกร 3) โครงการพัฒนาระบบผลิตก๊าซชีวภาพ และบริหารจัดการสำหรับฟาร์มสุกร 4) โครงการพัฒนา Inverter เพื่อประหยัดพลังงานในโรงเรือนแบบปิด 5) โครงการพัฒนาประสิทธิภาพของ Cooling Pad เพื่อประหยัดพลังงาน 6) โครงการพัฒนาคุณสมบัติความยืดหยุ่นของวัสดุ PVC ซึ่งทั้งหมดอยู่ในระหว่างการพัฒนาและคาดว่าจะผลิตออกสู่ตลาดเร็วๆ นี้ รศ.ดร. ศักรินทร์ ภูมิรัตน ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กล่าวในนามของโครงการสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีของอุตสาหกรรมไทย (iTAP) ว่า การเป็นหุ้นส่วนคนกลางในการส่งเสริมความร่วมมือด้านการวิจัยและพัฒนาระหว่างมหาวิทยาลัยและภาคอุตสาหกรรม เพื่อสร้างสรรค์นวัตกรรมที่สามารถนำไปพัฒนาขีดความสามารถของอุตสาหกรรม ถือเป็นภารกิจสำคัญของ สวทช. และความสำเร็จในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ระบบ VenTECH และ PowerTECH โดยการร่วมกันกับ มจธ. และ เครือเบทาโกร ซึ่งเริ่มพัฒนาตั้งแต่การออกแบบไปจนถึงกลายเป็นผลิตภัณฑ์ที่สู่ตลาดได้นั้น ถือเป็นอีกหนึ่งความภาคภูมิใจของ สวทช. ที่ได้มีส่วนร่วมพัฒนาเทคโนโลยีและผลิตภัณฑ์ที่เป็นประโยชน์ต่ออุตสาหกรรมเกษตรและอาหารของไทยให้ก้าวหน้าไปอีกขั้น ด้าน รศ.ดร. วนิดา พวกุล รองอธิการบดีฝ่ายวิจัย มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี กล่าวว่า โครงการความร่วมมือดังกล่าวถือเป็นความภาคภูมิใจของมหาวิทยาลัย ในฐานะที่ได้นำความรู้ในศาสตร์ที่เกี่ยวข้องมาประยุกต์ใช้สร้างสรรค์นวัตกรรมที่เอื้อประโยชน์ต่ออุตสาหกรรมและธุรกิจไทยโดยรวม และที่สำคัญเป็นโอกาสดีของคณาจารย์และนักศึกษาที่จะได้เพิ่มพูนความรู้จากการแลกเปลี่ยนและประสบการณ์จริง ซึ่งเป็นพื้นฐานสำคัญของการคิดค้นและพัฒนาสิ่งใหม่ๆ ในอนาคต ด้าน นายวนัส แต้ไพสิฐพงษ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ เครือเบทาโกร กล่าวว่า เครือเบทาโกร และบริษัท บี. อินเตอร์เนชั่นแนล แอนด์ เทคโนโลยี่ จำกัด มีความยินดีที่ได้มีส่วนร่วมในความสำเร็จและเห็นผลงานนวัตกรรมอันเกิดมาจากความตั้งใจของนักวิจัยคนไทย และสร้างประโยชน์ในวงการอุตสาหกรรมเกษตรของไทยอย่างเป็นรูปธรรม ผ่านการจัดจำหน่ายและพัฒนาตลาดของบริษัทฯ โดยนวัตกรรมทั้ง 8 โครงการ หากถูกนำมาใช้ประโยชน์ในวงกว้าง คาดว่าจะเป็นส่วนหนึ่งในการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต และลดการใช้พลังงาน ซึ่งสอดคล้องกับแนวคิดด้านพลังงานที่ทั่วโลกกำลังให้ความสำคัญในขณะนี้ “เราใช้งบสนับสนุนการวิจัยและพัฒนาครั้งนี้ไปกว่า 10 ล้านบาท รวมทั้งงบการตลาดเพื่อให้เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายอีก 5 ล้านบาท ซึ่งเมื่อเทียบกับคุณภาพของผลงานถือว่ามีความคุ้มค่า เห็นได้จากผลงานนวัตกรรม 2 ชิ้นแรกที่ได้ทำตลาดไป เกษตรกรนำไปใช้ในฟาร์มแล้วได้ผลดี ไม่ว่าจะเป็นระบบควบคุมสภาวะอากาศในโรงเรือนแบบปิด VenTECH ที่ช่วยให้โรงเรือนเลี้ยงไก่มีอุณหภูมิและความชื้นเหมาะสม ไก่มีการเจริญเติบโตเต็มที่ โดยจัดจำหน่ายมาแล้วเป็นเวลา 1 ปี และมียอดจัดจำหน่าย 230 เครื่อง (หรือ 230 โรงเรือน) ทั้งหมดเป็นการจำหน่ายในประเทศ ซึ่งขณะนี้มีฟาร์มไก่และสุกร 22 จังหวัดได้ติดตั้งอุปกรณ์ดังกล่าว” “นอกจากนี้ ทางบริษัทฯ ยังวางแผนพัฒนาอุปกรณ์นี้เพื่อใช้ในอุตสาหกรรมเกษตรอื่นๆ เช่น โรงเรือนพืชและดอกไม้พันธุ์ต่างประเทศ ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมที่กำลังเติบโตและน่าจับตามองอย่างยิ่งในเมืองไทย และในปีหน้าพร้อมส่งออก VenTECH ไปยังตลาดต่างประเทศ เช่น เวียดนาม ลาว เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีการนำระบบและเครื่อง VenTECH ไปใช้ในการควบคุมอุณหภูมิในตลาดสดเพื่อเพิ่มความเย็นสบายและสุขอนามัยในตลาดอีกด้วย โดยเริ่มที่ตลาดยิ่งเจริญ สะพานใหม่ ดอนเมือง ปัจจุบันบริษัทฯ มีกำลังการผลิตอุปกรณ์นี้ 1,000 ชุดต่อปี มูลค่ารวมประมาณ 15-20 ล้านบาท” ส่วนพัดลมประหยัดพลังงาน PowerTECH เป็นพัดลมประสิทธิภาพสูงขนาด 50 นิ้ว สำหรับฟาร์มเลี้ยงไก่และหมูระบบปิด ช่วยประหยัดพลังงานและมีต้นทุนในการผลิตต่ำ ทำให้เข้าถึงผู้ใช้ได้ในวงกว้าง ปัจจุบันบริษัทฯ มีกำลังการผลิตอยู่ที่ 360 ตัว/เดือน โดยหลังจากเริ่มจำหน่ายตั้งแต่เดือน มิ.ย.51เป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน มียอดจำหน่ายทั้งสิ้น 359 ตัว นายวนัส กล่าวในตอนท้ายว่า สำหรับอีก 6 โครงการ ขณะนี้ส่วนใหญ่อยู่ในระหว่างการเตรียมความพร้อมก่อนเข้าสู่ตลาด และวางแผนที่จะทำตลาดผลงานที่มีศักยภาพสูงในตลาดต่างประเทศ โดยเริ่มที่ประเทศเพื่อนบ้านอย่าง เวียดนาม กัมพูชา บังคลาเทศ ภายในปี พ.ศ. 2552 อนึ่ง โครงการความร่วมมือดังกล่าว เริ่มต้นเป็นครั้งแรกเมื่อ พ.ศ 2548 โดยมีโครงการสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีของอุตสาหกรรมไทย (iTAP) ของ สวทช. เป็นผู้ให้การสนับสนุนในด้านเงินทุนวิจัยและเสาะหาเชื่อมโยงผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านจากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรีเพื่อเป็นผู้ดำเนินการวิจัยและพัฒนาด้านฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์ และบริษัท บี. อินเตอร์เนชั่นแนล แอนด์ เทคโนโลยี่ จำกัด ในเครือเบทาโกร เป็นผู้นำผลงานไปต่อยอดและทำตลาดผลิตภัณฑ์เพื่อให้เกิดประโยชน์กับอุตสาหกรรมไทยในวงกว้าง
สอบถามข้อมูลข่าวเพิ่มเติมได้ที่ ฝ่ายสื่อสารองค์กร เครือเบทาโกร อานนท์
โทร.0 2833 8316 อีเมล์ arnonj@betagro.com ขนิษฐา โทร. 0 2833 8317 อีเมล์ kanittal@betagro.com