โครงการสัมมนา เรื่อง โครงการการพัฒนาภาคใต้ ให้อะไรกับประชาชนในพื้นที่

ข่าวทั่วไป Friday August 29, 2008 10:41 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--29 ส.ค.--
โครงการสัมมนา เรื่อง โครงการการพัฒนาภาคใต้ ให้อะไรกับประชาชนในพื้นที่
๑. หลักการและเหตุผล
จากการที่คณะรัฐมนตรีได้เห็นชอบให้สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ได้ศึกษาการพัฒนาพื้นที่ภาคใต้เพื่อรองรับการพัฒนาอุตสาหกรรมและการบริการที่มีศักยภาพของประเทศในอนาคต โดยให้มีการศึกษาความเหมาะสมของพื้นที่อุตสาหกรรมปิโตรเคมี และพลังงานในอนาคต ให้สอดคล้องกับศักยภาพ และภูมิสังคมของพื้นที่ และสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนและชุมชนตั้งแต่ขั้นเริ่มต้น เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจและเกิดการยอมรับจากประชาชนก่อนการดำเนินโครงการพัฒนาอุตสาหกรรมพื้นที่ใหม่ เน้นการดูแลสุขภาวะของประชาชนเป็นสำคัญ และมีผลการศึกษาเบื้องต้นสรุปว่าพื้นที่ตลอดแนวชายฝั่งภาคใต้ทั้งสองด้านมีความเหมาะสมที่จะพัฒนาเป็นพื้นที่รองรับกิจกรรมในลักษณะเครือข่ายวิสาหกิจ (Cluster) ที่สำคัญ คือ กลุ่มการท่องเที่ยว ได้แก่ กลุ่มจังหวัดชายฝั่งทะเลอันดามัน และกลุ่มชายฝั่งทะเลอ่าวไทย กลุ่มอุตสาหกรรมเหล็กต้นน้ำ ซึ่งพื้นที่ที่เหมาะสม คือ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ และจังหวัดชุมพร สามารถพัฒนาเป็นฐานอุตสาหกรรมเหล็กขั้นต้นเพื่อผลิตเหล็กคุณภาพสูง การแปรรูปเกษตรและพืชพลังงาน โดยเฉพาะการแปรรูปยางพารา การผลิตไบโอดีเซลจากปาล์มน้ำมันในกลุ่มจังหวัดฝั่งอ่าวไทย และกลุ่มจังหวัดชายแดนภาคใต้ กลุ่มอุตสาหกรรมปิโตรเคมีและพลังงาน พื้นที่ซึ่งมีศักยภาพตั้งแต่จังหวัดนครศรีธรรมราช สงขลา ปัตตานี
เนื่องจากรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. ๒๕๕๐ มาตรา ๖๖ และมาตรา ๖๗กำหนดให้กระบวนการพัฒนาใดๆ ที่จะกระทำลงในพื้นที่ ต้องให้ประชาชนที่อาศัยในพื้นที่ดังกล่าวมีส่วนร่วม ตั้งแต่ต้นกระบวนการ และมีส่วนร่วมในการพัฒนา ตลอดจนต้องมีส่วนร่วมในกระบวนการในการตรวจสอบผลกระทบต่อวิถีชีวิต ความเป็นอยู่โดยปกติสุข และสามารถเสนอหนทางในการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น และหน่วยงานภาครัฐต้องรับฟังกระบวนการภาคประชาชน ดังนั้น จึงจำเป็นที่จะต้องจัดให้ความรู้ความเข้าใจ และกระตุ้นให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการพัฒนาดังกล่าว เพื่อป้องกันการละเมิดต่อประชาชน และชุมชน
๒. วัตถุประสงค์
๒.๑ เพื่อให้ประชาชนซึ่งอยู่ในพื้นที่การพัฒนาได้ตื่นตัวและเฝ้าระวังการพัฒนาอันอาจส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิต
๒.๒ เพื่อส่งเสริมกระบวนการภาคประชาชนให้เข้าไปมีส่วนร่วมในโครงการพัฒนาของรัฐ
๒.๓ เพื่อสร้างเครือข่ายการเฝ้าระวังการละเมิดสิทธิชุมชน โดยโครงการภาครัฐ
๓. กลุ่มเป้าหมาย จำนวน ๒๖๐ คน
(ครั้งละ ๑๐๐ คน จำนวน ๒ ครั้ง )
๓.๑ นักวิชาการ
๓.๒ ประชาชนผู้อยู่ในพื้นที่
๓.๓ ประชาชนซึ่งมีประสบการณ์จากการพัฒนาของรัฐ
๓.๔ นักพัฒนาเอกชน
๓.๕ ตัวแทนองค์กรภาครัฐ
๓.๖ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ
๓.๗ เจ้าหน้าที่สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ
๔. ผลที่คาดว่าจะได้รับ
๔.๑ ประชาชนในพื้นที่โครงการมีความตื่นตัวต่อการพัฒนา และได้รับทราบข้อมูลอันเกี่ยวกับการ
พัฒนาทั้งผลดี และผลกระทบของโครงการ
๔.๒ เกิดกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนในโครงการพัฒนาต่างๆของรัฐ
๔.๓ สร้างเครือข่ายเฝ้าระวังการละเมิดสิทธิมนุษยชน และเครือข่ายประสานงานในพื้นที่ดำเนิน
โครงการ
๕. วิธีการดำเนินการ
การอภิปรายและจัดเวทีแสดงความคิดเห็น
๖. ระยะเวลา และสถานที่ดำเนินการ
๖.๑ ครั้งที่ ๑ ณ ห้องโกเมน โรงแรมไดมอนด์ จังหวัดสุราษฎร์ธานี
วันที่ ๑ กันยายน ๒๕๕๑
๖.๒ ครั้งที่ ๒ ณ ห้องระเบียงทะเล โรงแรมชุมพร คาบาน่า รีสอร์ท จังหวัดชุมพร
วันที่ ๓ กันยายน ๒๕๕๑
๗. งบประมาณ
จากเงินงบประมาณสำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ
รหัสรหัสกิจกรรม ๑M๒ ๒๑๗๐๐
๘. ผู้รับผิดชอบโครงการ
กลุ่มงานประสานงานเครือข่าย สำนักส่งเสริมและประสานงานเครือข่าย สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ