กรุงเทพฯ--29 ส.ค.--คต.
นางอภิรดี ตันตราภรณ์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศเปิดเผยว่า กรมการค้าต่างประเทศ (คต.) จะจัดสัมมนาเรื่อง “ EU’ s New Organic Farming Legislation and Access to the EU Market ” ในวันจันทร์ที่ 15 กันยายน 2551 ณ ห้องริชมอนด์ บอลรูม โรงแรมริชมอนด์ จังหวัดนนทบุรี
สินค้าเกษตรอินทรีย์เป็นสินค้าที่ได้รับความนิยมเพิ่มมากขึ้นในตลาดสหภาพยุโรปซึ่งถือเป็นตลาดที่ใหญ่และมีความสำคัญเป็นอันดับหนึ่งของโลก เนื่องจากการค้าสินค้าเกษตรอินทรีย์กว่าครึ่งหนึ่งทั่วโลกอยู่ที่ยุโรป เฉพาะอังกฤษนำเข้าสินค้าเกษตรอินทรีย์ถึงร้อยละ 56 โดยเนื้อสัตว์ปีกอินทรีย์ที่ผลิตในอังกฤษได้รับความนิยมและประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก อย่างไรก็ดี ตลาดสินค้าเกษตรอินทรีย์ในสหภาพยุโรปเป็นตลาดใหม่ที่ยังมีส่วนแบ่งตลาดน้อยหรือคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 1 เมื่อเทียบกับตลาดสินค้าเกษตรทั้งหมดในสหภาพยุโรป โดยมีเยอรมนีเป็นตลาดการค้าสินค้าเกษตรอินทรีย์ที่ใหญ่ที่สุดหรือคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 30 ของตลาดสินค้าเกษตรอินทรีย์ทั้งหมดในยุโรป ขณะที่สินค้าเกษตรอินทรีย์หลักของไทย ได้แก่ ข้าวประมาณร้อยละ 80 ผัก พืชไร่ และผลไม้ ซึ่งการส่งออกมีสัดส่วนตลาดเพียงประมาณร้อยละ 0.02 ของสินค้าส่งออกของไทยทั้งหมดหรือไม่เกิน 1,000 ล้านบาทต่อปี และ ส่วนใหญ่เป็นการส่งออกสินค้าขั้นต้น เช่น ข้าวหอมมะลิ ผัก ผลไม้ สมุนไพรแห้ง ฯลฯ ซึ่งมูลค่าค่อนข้างต่ำ ในขณะที่สินค้าแปรรูปซึ่งมีมูลค่าเพิ่มสูงและเป็นสินค้าที่ไทยมีโอกาสในการแข่งขันสูงยังมีจำกัดและไม่แพร่หลาย
อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศกล่าวเพิ่มเติมว่า สินค้าเกษตรอินทรีย์หลักของไทยดังกล่าวเป็นสินค้าที่มีศักยภาพ มีช่องทางและโอกาสที่ดีในตลาดยุโรป แต่การที่จะสามารถส่งออกสินค้าเกษตรอินทรีย์ไปสหภาพยุโรปได้จะต้องปฏิบัติตามระเบียบที่ 2092/91 ซึ่งเป็นระเบียบที่ใช้ในปัจจุบัน และขณะนี้คณะกรรมาธิการยุโรปด้านการเกษตรได้มีการปฏิรูปกฎระเบียบว่าด้วยเกษตรอินทรีย์ฉบับใหม่ โดยออกระเบียบที่ 834/2007 กำหนดมาตรฐานการผลิตสินค้าเกษตรอินทรีย์ ระบบการตรวจรับรอง การใช้ตรารับรองเพื่อให้ผู้บริโภคสามารถแยกแยะความแตกต่างจากผลิตภัณฑ์ทั่วไปได้ง่าย ตลอดจนการติดฉลาก การนำเข้าจากประเทศที่อยู่นอกสหภาพยุโรปหรือประเทศที่สาม และวิธีการปฏิบัติเพื่อให้ได้รับการยอมรับเป็น Third Country List ของสหภาพยุโรป เป็นต้น ซึ่งระเบียบใหม่นี้ จะมีผลบังคับใช้ในปี 2552 ดังนั้น จึงเป็นโอกาสดีที่ผู้ประกอบการไทยและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะหน่วยตรวจสอบรับรองระบบการผลิตและรับรองคุณภาพสินค้า จะได้รับทราบและทำความเข้าใจข้อกำหนดต่างๆ ของระเบียบเกษตรอินทรีย์ฉบับใหม่ เพื่อเตรียมความพร้อมและปฏิบัติให้ถูกต้อง สามารถส่งออกสินค้าเกษตรอินทรีย์ไปสหภาพยุโรปได้ ทั้งนี้ ผู้สนใจที่ประสงค์จะเข้าร่วมสัมมนาสามารถ Download กำหนดการสัมมนาพร้อมแบบตอบรับเข้าร่วมสัมมนาได้ที่ http://www.dft.go.th และจัดส่งมาทางโทรสารหมายเลข 0 2547 4736 โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ หรือติดต่อสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่สำนักมาตรการทางการค้า โทรศัพท์ 0 2547 4734 หรือ 0 2547 4771-86 ต่อ 4706, 4756