กรุงเทพฯ--29 ส.ค.--อาร์ค เวิลดไวด์
“ตอนที่แม่เสีย ทำอะไรไม่ถูกเลย มืดแปดด้านไปหมด แต่สิ่งหนึ่งที่คิดได้ในตอนนั้น คือ เราจะต้องมีชีวิตอยู่ต่อไปให้ได้ และจะต้องเป็นคนดีตามที่แม่เคยสอนสั่ง เพราะแม่เป็นผู้ให้ “ชีวิต” ให้ในสิ่งที่สำคัญที่สุดกับเรามาแล้ว”
หลังจากแม่ผู้ให้กำเนิด ต้องเสียชีวิตลงด้วยโรคมะเร็งสมอง ซึ่งตอนนั้นเป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อของชีวิตเด็กคนหนึ่งที่กำลังจะเข้าสู่รั้วมหาวิทยาลัย ชุมนุมพร เดชหัสดิน หรือ หญิง ได้เลือกสาขาเทคนิคการแพทย์ คณะสหเวชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นสาขาวิชาที่เลือกเรียน เพราะมีแรงบัลดาลใจมาจากแม่ที่ต้องเข้าออกโรงพยาบาลเป็นประจำ
ปัจจุบันหญิงได้ทำงาน เป็นนักเทคนิคการแพทย์ 3 ฝ่ายธนาคารเลือด โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ตามที่ได้ตั้งใจไว้ตั้งแต่แรก ด้วย ปริญญาตรี วท.บ.เทคนิคการแพทย์ เกียรตินิยมอันดับสอง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และได้ทำความฝันและสิ่งที่ยึดมั่นไว้ตั้งแต่วันที่แม่เสียได้เป็นผลสำเร็จ นั้นก็คือ จะดำเนินชีวิตต่อไปและเป็นคนดีช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ เพื่อมอบเป็นของขวัญให้กับแม่ที่ล่วงลับไปแล้ว แม้ว่าวันนี้แม่จะไม่ได้อยู่ข้างๆ แต่ก็รู้ว่าแม่อยู่กับหญิงตลอดเเสมอ
หญิงได้เล่าย้อนไปเมื่อครั้งที่พ่อและแม่ต้องเสียชีวิตไปในเวลาใกล้เคียงกันว่า “พ่อเสียชีวิตด้วยอุบัติเหตุตอนที่เรียนอยู่ ม.6 และแม่ก็มาป่วยเป็นมะเร็งที่สมองระยะสุดท้ายและเสียชีวิตในเวลาต่อมา ซึ่งเป็นช่วงที่หญิงสอบติดคณะสหเวชศาสตร์ เทคนิคการแพทย์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พอดี ตอนนั้นบอกตามตรงว่าไม่คิดว่าจะได้เรียนต่อแน่นอน เพราะสาขาวิชานี้มีค่าใช้จ่ายสูง และพ่อแม่เพิ่งมาเสียไป เรื่องเรียนคงหมดหวัง เพราะตอนนั้นพี่สาวและน้องชายก็ยังเรียนอยู่ ทางญาติก็ไม่ค่อยมีฐานะที่จะส่งเสียให้เรียนได้ คนแถวบ้านก็จับตามองว่าเราจะไปรอดหรือเปล่า แต่เราก็กัดฟันสู้ เพราะตั้งใจไว้แล้วว่าจะไม่ทำให้แม่ต้องผิดหวังเสียใจเด็ดขาด วันที่ต้องเข้ารายงานตัวที่มหาวิทยาลัยวันแรก ก็ไปเลยไปทั้งที่ไม่มีเงินสักบาทเดียวนั่นแหละ (หัวเราะ) แต่ก็ถือว่าโชคดีมากที่ได้อาจารย์ที่สัมภาษณ์ มาบอกว่า ตอนนี้ทางสมาคมเทคนิคการแพทย์แห่งประเทศไทย และ
บริษัท พรอคเตอร์ แอนด์ แกมเบิล เทรดดิ้ง (ประเทศไทย) จำกัด เปิดรับสมัครผู้รับทุนการศึกษา ของสมาคมเทคนิคการแพทย์แห่งประเทศไทย — เซฟการ์ด อยู่ ซึ่งทางสมาคมฯ จะเป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายให้ทั้งหมดตลอดระยะเวลาที่เรียนโดยไม่ต้องคืนทุนหรือใดๆ ทั้งสิ้นเลย พอได้ฟังอาจารย์บอกมาก็ดีใจ เหมือนเริ่มเห็นความหวัง เลยลองไปสมัครดูและได้เรียกสัมภาษณ์ต่อมา ตอนนั้นดีใจมากที่ได้เรียกสัมภาษณ์ เพราะคิดว่าเราไม่ได้เป็นคนที่เรียนเก่งอะไร ไม่รู้ว่าทางสมาคมเทคนิคการแพทย์แห่งประเทศไทย และบริษัท พรอคเตอร์ แอนด์ แกมเบิล เทรดดิ้ง (ประเทศไทย) จำกัด จะให้หรือเปล่าก็ยังไม่รู้”
“จำได้ว่าตอนนั้นที่สัมภาษณ์ ทางคณะกรรมการถามว่าทำไมถึงเลือกเรียนสาขานี้ เราเลยเล่าเรื่องที่แม่ป่วยให้ทางคณะกรรมการฟังว่า ตอนที่แม่ป่วยเราจะต้องไปอยู่เฝ้าแม่ทุกวัน และตอนนั้นเป็นโรงพยาบาลเล็กๆ เราอยากช่วยพี่ๆ พยาบาล เลยอาสาเอาปัสสาวะแม่ไปตรวจที่ห้องแล็บ พอตอนเห็นคนที่ทำงานในห้องแล็บครั้งแรก ก็ชอบเลย บอกกับตัวเองเลยว่าจะจะทำงานแบบนี้ เลยไปศึกษาดูว่าที่พี่เขาทำกัน เขาเรียกว่าอาชีพอะไร พอรู้ว่าเป็นสาขาเกี่ยวกับเทคนิคการแพทย์ ตอนเอ็นทรานซ์เลยเลือกสาขานี้ทั้งสี่อันดับเลย ซึ่งทางคณะกรรมการคงเห็นถึงความตั้งใจของเราประกอบกับทางบ้านขาดแคลนทางทุนทรัพย์ และเราเลือกสายนี้เป็นอันดับหนึ่ง เลยให้ทุนตรงนี้มา”
เมื่อหญิงได้มีโอกาสเข้ามาทำสายงานนี้หลังจากศึกษาจบ ยิ่งทำให้หญิงรักงานนี้มากขึ้น หญิงบอกว่างานนี้เหมือนปิดทองหลังพระ แต่ทุกคนที่ปิดทองกับพระแล้วมักอิ่มใจเสมอเมื่อได้ทำ เหตุที่กล่าวอย่างนี้เป็นเพราะเมื่อทุกคนคิดถึงโรงพยาบาล สิ่งที่ทุกคนจะให้สำคัญมากที่สุดก็คือแพทย์ เพราะแพทย์เป็นผู้ที่รักษาผู้ป่วย ซึ่งนั้นก็คือความจริง แต่ ยังมีกลุ่มคนอีกหนึ่งกลุ่มที่ถือว่าสำคัญและเป็นผู้ช่วยของแพทย์ ให้สามารถวิเคราะห์และวินิจฉัยหาสาเหตุที่แท้จริงของโรคผู้ป่วย เพื่อให้แพทย์ได้หาวิธีรักษาได้ตรงจุดของผู้ป่วยมากที่สุด นั้นก็คือ นักเทคนิคการแพทย์ นั้นเอง
หน้าที่หลักของนักเทคนิคการแพทย์ มีหน้าที่ตั้งแต่กระบวนการรับสิ่งส่งตรวจจากผู้เข้ามารับบริการ หรือ ผู้ป่วย เช่น เลือด ปัสสาวะ อุจจาระ โดยจะทำการตรวจสอบชื่อและสิ่งส่งตรวจของผู้ป่วยว่าเป็นคนเดียวกัน และจะตรวจดูคุณภาพของสิ่งส่งตรวจนั้นๆ ว่าเหมาะสมสำหรับนำมาทดสอบทาง ห้องปฏิบัติการหรือไม่ เนื่องจากสิ่งส่งตรวจที่ไม่เหมาะสมจะมีผลต่อการผลทดสอบด้วย หลังจากนั้น จะนำสิ่งส่งตรวจไปทำการตรวจวิเคราะห์ทางห้องปฏิบัติการทางการแพทย์เพื่อวินิจฉัย พยากรณ์ ติดตาม หรือประเมินสุขภาวะของผู้เข้ามารับบริการหรือ ผู้ป่วย ซึ่งจะรายงานผลให้แก่แพทย์หรือ ผู้ป่วยได้ทราบต่อไป นอกจากนั้น นักเทคนิคการแพทย์ยังต้องควบคุมคุณภาพต่าง ๆ ภายในห้องปฏิบัติการทางการแพทย์ อาทิเช่น การควบคุมคุณภาพของการรับสิ่งส่งตรวจ ขั้นตอน
ระหว่างการทดสอบ และตรวจสอบความถูกต้องของผลทดสอบ โดยปกตินั้น นักเทคนิคการแพทย์จะทำการลงชื่อเพื่อรับรองผลการทดสอบทุกครั้งก่อนรายงานผลทางห้องปฏิบัติการ
หญิงบอกว่าหากไม่ได้รับทุนการศึกษา ของสมาคมเทคนิคการแพทย์แห่งประเทศไทย — เซฟการ์ดในวันนั้น หญิงคงไม่ได้มีโอกาสมายืนอยู่ตรงจุดนี้ได้ ทุนนี้ถือเป็นเกียรติประวัติในชีวิตของหญิงเลย เป็นจุดเริ่มต้นของทุกอย่างที่ทำให้มีวันนี้ เพราะเธอจะภูมิใจทุกครั้งที่จะบอกกับทุกคนว่าเธอเป็นนักเรียนทุนของสมาคมเทคนิคการแพทย์แห่งประเทศไทย — เซฟการ์ด ที่ทำให้เธอได้มีโอกาสเรียนจนจบและได้ทำงานในสายอาชีพที่ได้ฝันไว้จนเป็นจริงขึ้นมา
และในที่ฐานะหญิงเคยได้รับทุนสมาคมเทคนิคการแพทย์แห่งประเทศไทย — เซฟการ์ด ปี 2544 ปีนี้หญิงได้มีโอกาสไปพูดให้ข้อคิดแก่น้องที่ได้รับทุนว่า “ทุนนี้เป็นทุนที่มีเกียรติ พี่จึงอยากให้น้องทุกคนตั้งเรียนให้ดีที่สุด ตั้งใจเรียนอย่างสุดความสามารถ ให้สมกับที่สมาคมเทคนิคการแพทย์แห่งประเทศไทย และ เซฟการ์ดได้หยิบยื่นโอกาสนี้ให้ เพราะว่าทุนนี้มีคนมากมายที่อยากได้ แต่ไม่มีโอกาส เมื่อน้องได้รับสิ่งนี้มาแล้ว ต้องทำให้เต็มที่และดีที่สุด”
สุดท้าย สิ่งที่หญิงอยากจะฝากบอกกับน้องๆ ทุกคนที่อ่านอยู่ตอนนี้ ในฐานะที่หญิงเป็นลูกคนนึง คือ อยากให้ทุกคนเป็นคนดีของพ่อและแม่ เพราะสิ่งนี้ ถือเป็นของขวัญที่ลูกทุกคนจะสามารถทำให้กับพ่อแม่ได้ โดยไม่ต้องไปเสียเงินซื้อของมีค่า ราคาแพงแต่อย่างใด เพราะแท้จริงแล้วสิ่งที่ แม่ทุกคนหวังและอยากได้ คือ อยากให้ลูกทุกคนเป็นคนดี ทั้งของแม่และสังคม ลูกอาจไม่ต้องรวยล้นฟ้า ไม่ต้องเป็นคนที่มีชื่อเสียงโด่งดัง ขอเพียงแต่ให้ลูกเป็นคนดี ก็คือของขวัญที่ยิ่งใหญ่ที่สุดสำหรับแม่ที่ต้องการแล้ว เพราะหญิงเชื่อว่าความดีไม่ต้องใช้เงินซื้อ เพียงแต่ใช้ตัวเราทำก็พอ
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม : อาร์ค เวิลดไวด์ ประเทศไทย
สิริพุทธนัดดา ดิศศานุวงศ์ (เจ้าอ้น) / โทร + 66 2 684 5704 มือถือ + 66 8 1 851 9188 / อีเมลล์: Siribuddhanadda.d@th.arcww.com
สุภาพรรณ นาคนิมิตรุ่ง (ภา) / โทร + 66 2 684 5589 / มือถือ + 66 8 6 979 2614 / อีเมลล์ : Supapun.n@th.arcww.com