กรุงเทพฯ--29 ส.ค.--บีโอไอ
บีโอไอประเมินสถานการณ์ด้านการลงทุนไม่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากสถานการณ์ทางการเมือง มั่นใจนักลงทุนชั้นนำที่ดำเนินธุรกิจในประเทศไทยเข้าใจสถานการณ์ดี พร้อมเดินหน้าขยายการลงทุนตามแผนเดิมที่วางไว้ ส่วนนักลงทุนหน้าใหม่ที่ยังไม่เคยลงทุนในประเทศไทย มอบหมายให้สำนักงานบีโอไอในต่างประเทศเร่งชี้แจงทำความเข้าใจ
นายสาธิต ชาญเชาวน์กุล เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผยถึงสถานการณ์ด้านการลงทุนของประเทศไทยในขณะนี้ ว่า ไม่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากสถานการณ์ทางการเมืองแต่อย่างใด และมั่นใจว่า นักลงทุนจากต่างประเทศที่ดำเนินธุรกิจ ในประเทศไทยอยู่แล้วต่างเข้าใจถึงสถานการณ์ทางการเมืองในประเทศเป็นอย่างดี และจากการพูดคุยสอบถามนักลงทุนชั้นนำ ต่างยืนยันจะเดินหน้าขยายการลงทุนในประเทศตามแผนเดิมที่วางไว้ต่อไป
“การลงทุนภาคการผลิตเป็นการตัดสินใจในระยะยาว ซึ่งนักลงทุนจะพิจารณาจากปัจจัยสำคัญต่างๆ มาประกอบกัน ซึ่งการเมืองก็เป็นปัจจัยหนึ่ง แต่ประเทศไทยเคยผ่านวิกฤติการณ์ทางการเมืองมาแล้วหลายครั้ง และทุกครั้งก็มิได้ส่งผลกระทบต่อนโยบายส่งเสริมการลงทุน ซึ่งนักลงทุนต่างเข้าใจดี” นายสาธิตกล่าว
ทั้งนี้ บีโอไอได้มอบหมายให้สำนักงานบีโอไอในต่างประเทศ ซึ่งมีอยู่ทั้งหมด 7 แห่ง ที่นิวยอร์ก และลอสแองเจลิส ประเทศสหรัฐอเมริกา สำนักงานที่โตเกียว และโอซาก้า ประเทศญี่ปุ่น สำนักงานที่ปารีส ประเทศฝรั่งเศส สำนักงานที่แฟรงก์เฟิร์ต ประเทศเยอรมนี และสำนักงานที่เซี่ยงไฮ้ ประเทศจีน ชี้แจงทำความเข้าใจถึงสถานการณ์ดังกล่าวกับนักลงทุนต่างชาติที่ยังไม่เคยเข้ามาลงทุนในประเทศไทย ซึ่งอาจจะมีความเข้าใจในสภาพพื้นฐานของสังคมไทยน้อยกว่านักลงทุนที่อยู่ในไทย เพื่อให้เข้าใจว่าสถานการณ์ในขณะนี้ไม่มีผลกระทบต่อนโยบายส่งเสริมการลงทุน และไม่กระทบต่อการดำเนินธุรกิจแต่อย่างใด
นอกจากนี้ คณะผู้บริหารระดับสูงของบีโอไอที่จะเดินทางไปชักจูงการลงทุนในต่างประเทศ ในช่วงต้นเดือนกันยายน ก็จะชี้แจงทำความเข้าใจกับบริษัทชั้นนำของประเทศเป้าหมายที่จะเดินทางไปพบด้วย อาทิ ประเทศสหรัฐอเมริกา แคนาดา ยุโรป จีน ไต้หวัน และสิงคโปร์ เพื่อให้เข้าใจถึง สถานการณ์ในปัจจุบันด้วย ส่วนการดำเนินงานของบีโอไอ ก็ยังเดินหน้าตามนโยบาย “ปีแห่งการลงทุน 2551 — 2552” หรือ Thailand Investment Year ซึ่งบีโอไอมีแผนจะออกมาตรการจูงใจนักลงทุนในรูปแบบใหม่ๆ ต่อไป
ทั้งนี้ ในช่วงต้นเดือนต.ค. บีโอไอจะมีการประชุมหารือกับหอการค้าต่างประเทศประจำประเทศไทย (JFCCT: Joint Foreign Chamber of Commerce in Thailand) ตามที่กำหนดไว้ ซึ่งการหารือในครั้งนี้จะเป็นโอกาสดีที่จะได้ชี้แจงและสร้างความเชื่อมั่นแก่นักธุรกิจต่างชาติ ซึ่งสมาชิกหอการค้าต่างประเทศประจำประเทศไทยส่วนใหญ่อยู่ในประเทศมานาน เข้าใจสถานการณ์ต่างๆ ดี และพร้อมที่จะช่วยอธิบายสถานการณ์ในประเทศไทยให้กับเครือข่ายนักธุรกิจในประเทศของตนด้วย