ผู้ว่าฯกทม. เข้มตรวจสอบสุนัขจรจัดทั่วกรุง

ข่าวทั่วไป Tuesday April 26, 2005 10:18 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--26 เม.ย.--กทม.
เมื่อวานนี้ (25 เม.ย. 48) นายอภิรักษ์ โกษะโยธิน ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เปิดเผยถึงมาตรการของกทม.ในการดำเนินการกับสุนัขจรจัด ภายหลังเกิดเหตุการณ์ ด.ช. สหรัฐ เอกณรงค์พาณิชย์ (น้องคิว) ถูกสุนัขจรจัดรุมกัดภายในซอยตลาดกลาง ถ.สรงประภา เขตดอนเมือง ว่า ตนได้มอบหมายให้ นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ โฆษกกรุงเทพมหานคร ไปเยี่ยมอาการของน้องคิว ณ โรงพยาบาลภูมิพล พร้อมทั้งดูแลในส่วนของการให้ความช่วยเหลือ อีกทั้งมอบหมายให้ พ.ญ.เพ็ญศรี พิชัยสนิท รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร จัดประชุมด่วนหน่วยงานของกทม. และองค์กรภาคเอกชน ที่เคยหารือกันเกี่ยวกับมาตรการและแนวทางต่างๆ ในการดูแลสุนัขและสุนัขจรจัด ซึ่งจะได้นำเสนอในการประชุมคณะผู้บริหารกทม. ในวันอังคารหน้า สำหรับในส่วนอื่นๆ จะต้องขอข้อสรุปจากคณะกรรมการ ที่จะประชุมหารือกันภายในสัปดาห์นี้
เร่งหารือร่างข้อบัญญัติฯ ให้ครอบคลุมสุนัขจรจัด
ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวต่อไปว่า ที่ผ่านมากทม. ได้เร่งผลักดันร่างข้อบัญญัติเพื่อควบคุมสุนัข โดยบทบัญญัติของร่างข้อบัญญัติฯ ฉบับดังกล่าวนั้น จะเป็นเรื่องของสุนัขที่มีเจ้าของเป็นหลัก รวมถึงมาตรการต่างๆ เช่น การลงทะเบียน การรวบรวมข้อมูลและประวัติของสุนัข แนวทางในการที่จะควบคุมไม่ให้สุนัขที่ไปทำร้ายร่างกาย ตลอดจนบทลงโทษกับเจ้าของสุนัข แต่ในกรณีของสุนัขจรจัดหรือสุนัขไม่มีเจ้าของนั้น จะต้องมีการนำมาหารืออีกครั้ง แต่ต้องยอมรับว่าปัจจุบันในพื้นที่กทม. มีสุนัขจรจัดเป็นจำนวนมาก ขณะนี้กทม. ได้จัดตั้งสถานที่เพื่อรองรับสุนัขจรจัด ณ อ.ทับทัน จ.อุทัยธานี ซึ่งการดำเนินการใกล้จะแล้วเสร็จ โดยภายใน 2 สัปดาห์ ตนได้จะเดินทางไปตรวจเยี่ยมด้วยตนเอง
สำหรับร่างข้อบัญญัติการควบคุม การเลี้ยงหรือปล่อยสุนัข พ.ศ…. ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการพิจารณาของสภากทม. โดยจะเร่งประสานกับคณะกรรมการวิสามัญฯ ซึ่งคงจะมีข้อสรุปต่อไปว่าจะมีวิธีการในการดำเนินการ ตลอดจนแนวทางเกี่ยวกับร่างข้อบัญญัติฯ ฉบับดังกล่าวอย่างไร
ให้ทุกสำนักงานเขตตรวจสอบจำนวนสุนัขจรจัดอีกครั้ง
อย่างไรก็ตาม ในเบื้องต้นนี้จะให้ทุกสำนักงานเขตเข้าไปตรวจสอบจำนวนสุนัขจรจัดในพื้นที่อีกครั้ง พร้อมทั้งให้สำนักอนามัย และสำนักงานเขตได้ดำเนินการทำหมัน ฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าในช่วงฤดูร้อนอย่างต่อเนื่อง พร้อมนี้ ขอความร่วมมือประชาชน หากพบเห็นสุนัขที่มีอาการดุร้ายหรือมีความเสี่ยงให้แจ้งที่ สายด่วน กทม.1555 หรือสำนักงานเขตใกล้บ้าน เพื่อจะเร่งเข้าไปจัดการต่อไป
โฆษกกทม.เยี่ยมอาการน้องคิว
นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ โฆษกกรุงเทพมหานคร กล่าวภายหลังจากเยี่ยมอาการของ ด.ช.สหรัฐ เอกณรงค์พาณิชย์ หรือ น้องคิว ซึ่งถูกสุนัขจรจัดรุมกัดบริเวณลำคอ และร่างกาย ณ โรงพยาบาลภูมิพล ว่า ขณะนี้แพทย์เป็นห่วงในส่วนของการติดเชื้อจากบาดแผล ซึ่งจะต้องได้รับการดูแลอย่างใกล้ชิด เนื่องจากเขี้ยวสุนัขได้กัดลึกถึงเส้นเสียง ซึ่งจากการสอบถามแพทย์ว่าจะมีผลกระทบกระเทือนเกี่ยวกับกล่องเสียง การพูด หรือการออกเสียงหรือไม่นั้น คงต้องรอดูอาการอีก 2-3 วัน เพราะขณะนี้บาดแผลยังคงบวมและอักเสบ คาดว่าอย่างน้อยสัปดาห์หน้าจึงจะออกจากห้องไอซียูมาอยู่ในห้องพักฟื้นได้
โฆษกกรุงเทพมหานคร กล่าวในตอนท้ายว่า กทม.จะตั้งคณะกรรมการซึ่งมีสมาคม หรือชมรมคนรักสุนัข องค์กรเอกชน สัตวแพทย์ และอื่นๆที่เกี่ยวข้อง ประชุมร่วมกันหาทางออกที่ดีที่สุดในการแก้ไขปัญหาการจัดการสุนัขจรจัดในพื้นที่กรุงเทพมหานคร
สมาคม-มูลนิธิ ร่วมเสนอแนะปรับปรุงร่างข้อบัญญัติฯสุนัข
ในวันเดียวกันนี้ เวลา 14.00 น. คณะกรรมการวิสามัญพิจารณาร่างข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่อง การควบคุม การเลี้ยง และการปล่อยสุนัข พ.ศ… ได้ประชุมเพื่อพิจารณาร่างข้อบัญญัติดังกล่าว โดยมีนายสมพงษ์ เก่งรุ่งเรืองชัย สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร เขตบางซื่อ เป็นประธาน ซึ่งได้เชิญผู้แทนมูลนิธิและสมาคมที่เกี่ยวข้อง อาทิ นายโรเจอร์ โลหนันทน์ นายกสมาคมพิทักษ์สัตว์ นสพ.เกียรติศักดิ์ โรจน์นิรันดร์ ประธานมูลนิธิเพื่อการรักษาสุนัขจรจัด รศ.นสพ.พีรพล อยู่สวัสดิ์ นายกสมาคมสงเคราะห์สัตว์แห่งประเทศไทย และนสพ.ชิษณุ ต้องประเสริฐศรี อุปนายกสมาคมป้องกันการทารุณสัตว์แห่งประเทศไทย ร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและให้ข้อเสนอแนะในการควบคุม การเลี้ยง และการปล่อยสุนัข เพื่อนำข้อมูลไปปรับปรุงร่างดังกล่าวให้มีความสมบูรณ์มากที่สุดก่อนจะนำเข้าสู่การพิจารณาของสภากรุงเทพมหานครในสมัยประชุมหน้า เพื่อขอความเห็นชอบให้กทม. ประกาศใช้เป็นกฎหมายต่อไป ทั้งนี้ในการประชุมครั้งหน้าคณะกรรมการฯจะเชิญผู้แทนฟาร์มสุนัขมาหารือด้วย
นายสมพงษ์ กล่าวว่า อย่างไรก็ตามสาระสำคัญของร่างข้อบัญญัติฉบับนี้มุ่งประสงค์ควบคุมสุนัขที่มีเจ้าของ เพื่อไม่ให้เกิดสุนัขจรจัดเพิ่มเท่านั้น แต่ยังไม่ครอบคลุมปัญหาสุนัขจรจัดที่มีในขณะนี้ มีสุนัขจรจัดอีกจำนวนมากที่มีผู้ให้อาหารแต่เมื่อเกิดเหตุไปกัดคนขึ้นก็จะไม่ยอมรับว่าเป็นเจ้าของ และยังสร้างปัญหาเรื่องถ่ายมูลสกปรกตามที่สาธารณะ ซึ่งกทม. จะต้องเข้าไปจัดการให้สุนัขเหล่านั้นมีเจ้าของ แต่อาจไม่สามารถหาเจ้าของได้ทั้งหมด ดังนั้นอาจจะต้องมีสถานที่รับเลี้ยงสุนัขเพิ่มขึ้นเพราะที่มีอยู่ในปัจจุบันอาจไม่เพียงพอกับจำนวนสุนัขประมาณ 1 แสนตัว--จบ--

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ