กรุงเทพฯ--1 ก.ย.--เจดับบลิวที พับบลิค รีเลชั่นส์
มีทางเลือกไม่น้อยสำหรับเจ้าของอาคารและสถาปนิกไทย ในการเลือกสรรวัสดุที่จะเป็นแผ่นผนังภายนอกอาคาร เพื่อทำหน้าที่ในการปกป้องตัวอาคารจากการเปลี่ยนแปลงภายนอก ทั้งด้านอุณหภูมิ แสงแดด รวมถึงฝุ่นควัน โดยปัจจุบันวัสดุซึ่งเป็นที่นิยมใช้ในการหุ้มหรือตกแต่งอาคารมีหลายประเภท อาทิ แผ่นผนังกระจก แผ่นผนังปูน หรือปูนปูกระเบื้อง รวมถึง “แผ่นผนังอะลูมิเนียมคอมโพสิท” ซึ่งหัวใจหลักของการเลือกใช้แผ่นผนังส่วนที่เป็นหน้าตาของอาคารนี้ นอกจากความคงทน ปลอดภัย สวยงาม คุณภาพที่สมราคาแล้ว อีกสิ่งหนึ่งที่ต้องคำนึงถึงก็คือการดูแลรักษาและทำความสะอาดนั่นเอง
การดูแลรักษาและทำความสะอาดที่ได้รวบรวมมาเผยแพร่สู่ผู้อ่าน ทั้งที่เป็นผู้ดูแลอาคาร หรือแม้กระทั่งเจ้าของอาคารเอง นับว่าเป็นเรื่องสำคัญที่ควรให้ความใส่ใจโดยมาเริ่มกันตั้งแต่
แผ่นผนังกระจก มองจากภายนอกอาคารดูเงางาม หรูหรา เหมาะสำหรับผู้ที่ชื่นชอบอาคารที่มีความโปร่งโล่งสบาย มีคุณสมบัติการยอมให้แสงผ่านเข้าสู่อาคารได้ง่าย ส่งผลให้อาคารดูเบาบางและทันสมัย จึงได้รับความนิยมสูง ปัญหาเรื่องการเปลี่ยนสีหรือสีซีดจางมีน้อยนัก หากกระจกมีการติดฟิล์มกันแสงก็จะช่วยลดความร้อนจากภายนอกได้ทางหนึ่ง
แต่ผนังกระจกนั้นดูจะมีจุดด้อยอยู่ตรงน้ำหนักของกระจกที่ค่อนข้างมาก ซึ่งสร้างปัญหาไม่น้อยต่อการติดตั้งกับอาคารสูง ทั้งยังเสี่ยงต่อการแตกร้าวที่เกิดจากงานโครงสร้าง และปัญหาน้ำฝนหากคุณภาพของซิลิโคนที่ใช้เชื่อมต่อหมดลง ปัจจุบันกระจกที่นิยมใช้สำหรับอาคารสูง ส่วนใหญ่เป็นกระจกนิรภัยหรือกระจกเทมเปอร์ วัสดุกระจกมีความแข็งแรงมากกว่ากระจกธรรมดา เมื่อเกิดการแตกวัสดุจะกลายเป็นเม็ดเล็กๆ มีความคมน้อย รวมทั้งกระจกสองชั้นที่ได้รับความนิยมเช่นกัน มีคุณสมบัติตรงที่แข็งแรง มีความหนาสูง มีช่องว่างที่เป็นอากาศอยู่ตรงกลาง ซึ่งเป็นฉนวนกันความร้อนที่ดี แต่ราคาค่อนข้างสูง
อย่างไรก็ตามการทำความสะอาดผนังกระจกของอาคารสูงนั้น ควรจะใช้น้ำยาทำความสะอาดที่ไม่มีผงขัด เพื่อป้องกันความเสียหายที่จะเกิดขึ้นกับผิวกระจก
นอกจากนี้สิ่งที่ควรใส่ใจคือ การทำความสะอาดทุกๆ 4 เดือนหรืออย่างน้อยปีละ 2 ครั้ง มิฉะนั้นจะส่งผลต่อคุณสมบัติของผนังกระจก ซึ่งถือเป็นการสิ้นเปลืองค่าใช้จ่ายในระยะยาว โดยหากอาคารที่อยู่ใกล้ทะเล หรือสภาพอากาศย่านอุตสาหกรรม ควรมีการเพิ่มความถี่ของการทำความสะอาดเข้าไปอีกเท่าตัว
ขณะที่อาคารที่มี่ผนังแบบฉาบปูนทาสี หรือบุแผ่นผนังกระเบื้อง เหมาะสำหรับอาคารที่มีความสูงไม่มาก ซึ่งมีคุณสมบัติเด่นที่ความสวยงามในการเลือกลายกระเบื้องหรือสีสันของตัวอาคาร ที่ขึ้นอยู่กับความต้องการและไลฟ์สไตล์ของเจ้าของอาคาร สามารถช่วยลดความร้อนให้กับอาคารได้ในระดับหนึ่ง แต่ปัญหาหลักก็ยังหนีไม่พ้นเรื่องของน้ำหนักกระเบื้อง ปัญหาในด้านการแตกร้าวของสีและจากงานโครงสร้าง ปัญหาน้ำฝนรั่วซึมเข้าอาคาร รวมถึงปัญหาความสกปรกที่เกิดจากคราบเชื้อรา และคุณสมบัติที่ไม่ทนไฟ ซึ่งจะส่งผลกระทบอย่างรุนแรงหากใช้วัสดุกับอาคารสูงในระยะยาว ดังนั้นจึงควรดูแลสภาพสีของผนังหรือการทาสีทับอย่างน้อย 3 ปีต่อ 1 ครั้ง หากผนังบุกระเบื้องต้องทำความสะอาดผนังกระเบื้องทุกๆ 4 เดือนหรือปีละ 2 ครั้ง และต้องมีการเก็บรายละเอียดของงานกระเบื้องที่เกิดการหลุดร่วงทุก 1 ปีเป็นอย่างน้อย หากเป็นอาคารเตี้ยพนักงานสามารถทำความสะอาดเองได้ โดยใช้น้ำธรรมดาหรือน้ำยาทำความสะอาดที่ไม่มีผงขัดล้าง หากอาคารที่อยู่ใกล้ทะเล หรือสภาพอากาศย่านอุตสาหกรรม ควรมีการเพิ่มความถี่ของการทำความสะอาดเข้าไปอีกเท่าตัวเช่นเดียวกับกระจกด้วย
อีกหนึ่งทางเลือกที่น่าสนใจและกำลังได้รับความนิยมอยู่ในขณะนี้นั่นคือ “แผ่นผนังหุ้มอาคารอะลูมิเนียม คอมโพสิท” ที่มีความทนทานต่อสภาวะอากาศในประเทศไทย ซึ่งเป็นเขตร้อนชื้น ทั้งยังให้ความปลอดภัย หากเลือกใช้ “แผ่นผนังอะลูมิเนียมคอมโพสิท ชนิดไส้กลางกันไฟ (FR: fire rated) แต่มีข้อควรระวังอยู่ไม่น้อยหากเลือกใช้แผ่นผนังอะลูมิเนียมคอมโพสิทชนิดไส้กลางพลาสติก (PE: Poly Ethylene) เพราะไส้กลางชนิดนี้จะติดไฟ และลุกลามได้อย่างรวดเร็ว นอกจากแผ่นผนังอะลูมีเนียม คอมโพสิท จะมีน้ำหนักเบาแล้ว ยังสามารถใช้ทดแทนทรัพยากรธรรมชาติที่มีอยู่อย่างจำกัดได้อย่างสวยงามเสมือนจริง วัสดุบางยี่ห้อยังสามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้ได้อีกด้วย
สำหรับวิธีทำความสะอาดแผ่นผนังอะลูมิเนียมคอมโพสิทนั้น หากผนังติดตั้งอยู่บนอาคารที่อยู่ในพื้นที่ที่โดนน้ำฝนหรืออาคารตั้งอยู่ในย่านอุตสาหกรรมหนัก รวมถึงริมทะเล ควรจะได้รับการทำความสะอาด เฉลี่ยประมาณ 1 ปีต่อครั้งเท่านั้น ถ้าเป็นผนังอาคารส่วนที่โดนฝนหรือมีความสกปรกบนพื้นผิวน้อย สามารถยืดระยะเวลาการทำความสะอาดพื้นผิวได้นานไม่น้อยกว่า 2 ปีเลยทีเดียว ซึ่งถือเป็นการลดต้นทุนในด้านการทำความสะอาดไปได้ไม่น้อย การทำความสะอาดสามารถใช้น้ำธรรมดาหรือน้ำยาทำความสะอาดที่ไม่มีผงขัดล้าง ในส่วนขจัดรอยเปื้อนที่ติดแน่น อาจจะต้องใช้สารละลายบางชนิด อาทิ IPA เอธานอล หรือ เอ็น-เฮเซน (N-hexane) ถ้าใช้แอลกอฮอล์ทำความสะอาดต้องทำให้เจือจางโดยผสมด้วยน้ำไม่น้อยกว่า 50% สารละลายหรือน้ำยาทำความสะอาดบางชนิดที่อาจเป็นอันตรายหรือทำให้ผิวเคลือบซีดจางได้ และควรทำการทดสอบก่อนการใช้งานเสมอ และควรล้างสิ่งสกปรกและเศษขยะต่างๆ ด้วยน้ำออกให้หมด ที่สำคัญก็คือการหลีกเลี่ยงการทำความสะอาดในอุณหภูมิที่ร้อนหรือหนาวจัด
ทั้งหมดนี้เป็นอีกทางเลือกหนึ่งสำหรับเจ้าของอาคาร ผู้ดูแลอาคาร หรือแม้กระทั่งสถาปนิกไทยในการคัดสรรวัสดุแผ่นผนัง ซึ่งนอกเหนือจากความสวยงาม คงทนแล้วควรคำนึงถึงการใช้งาน การดูแลรักษา และที่สำคัญคือความปลอดภัยของผู้ใช้อาคารสำนักงาน
ที่มา : บริษัท บีเอฟเอ็ม จำกัด ผู้แทนจำหน่ายผลิตภัณฑ์วัสดุหุ้มและตกแต่งอาคาร แผ่นผนังคอมโพสิท ไส้กลางกันไฟ ALPOLIC/fr ที่ผลิตโดย Mitsubishi Chemical Functional Products, Inc. ประเทศญี่ปุ่น
ข้อมูลเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ เจดับบลิวที พับบลิค รีเลชั่นส์
ภัทรภร ตันตรงภักดิ์ / ศริญญา แสนมีมา
โทร. 0-2204-8550 / 086-668-1415, 0-2204-8218 / 081-805-1498