ฟิทช์ประกาศคงอันดับเครดิตของธนาคารกรุงไทย

ข่าวเศรษฐกิจ Monday September 1, 2008 10:45 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--1 ก.ย.--ฟิทช์ เรทติ้งส์
บริษัท ฟิทช์ เรทติ้งส์ ได้ประกาศคงอันดับเครดิตของธนาคารกรุงไทย (KTB) ดังนี้ อันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะยาว Issuer Default Rating (IDR) ที่ ‘BBB+’ แนวโน้มมีเสถียรภาพ อันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะสั้นที่ ‘F2’ อันดับเครดิตความแข็งแกร่งทางการเงิน (Individual Rating) ที่ ‘C/D’ อันดับเครดิตสนับสนุนที่ ‘2’ อันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศของหุ้นกู้ด้อยสิทธิที่ ‘BBB’ อันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศของตราสารหนี้ด้อยสิทธิที่มีลักษณะคล้ายทุนที่นับเป็นเงินกองทุนชั้นที่ 1 (Hybrid Tier 1 Securities) ที่ ‘BBB-’ (BBB ลบ) อันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวที่ ‘AA+(tha)’ แนวโน้มมีเสถียรภาพ อันดับเครดิตภายในประเทศระยะสั้นที่ ‘F1+(tha)’ อันดับเครดิตภายในประเทศของหุ้นกู้ด้อยสิทธิที่ ‘AA(tha)’ และอันดับเครดิตภายในประเทศของ Hybrid Tier 1 Securities ที่ ‘A+(tha)’
นอกจากนั้น ฟิทช์ได้ปรับเพิ่มอันดับเครดิตสนับสนุนขั้นต่ำ (Support Rating Floor) ของธนาคาร เป็น ‘BBB+’ จาก ‘BBB’ เพื่อให้สอดคล้องกับอันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะยาว IDR ของ KTB ที่พิจารณาอยู่บนพื้นฐานของความเป็นไปได้อย่างสูงที่ธนาคารจะได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลหากมีความจำเป็น อันดับเครดิตของ KTB สะท้อนถึงการถือหุ้นใหญ่และการสนับสนุนที่แข็งแกร่งของรัฐบาล รวมทั้งสถานะทางการเงินที่แข็งแกร่งขึ้น อีกทั้ง KTB ยังเป็นธนาคารที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 2 โดยมีส่วนแบ่งตลาด 17% และมีกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงินถือหุ้น 55% ในธนาคาร แม้ว่าการที่ทางรัฐบาลถือหุ้นใหญ่และมีอำนาจควบคุมธนาคารจะมีส่วนช่วยสนับสนุนอันดับเครดิตระยะยาวของ KTB ปัจจัยดังกล่าวข้างต้นอาจทำให้ผลการดำเนินงานของธนาคารอ่อนแอลงได้ ในขณะที่ผลการดำเนินงานในครึ่งปีแรกปี 2551 ของธนาคารได้ปรับตัวดีขึ้น เนื่องจากการตั้งสำรองค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญที่ลดลงและการขยายตัวของสินเชื่อที่เพิ่มขึ้น แนวโน้มการดำเนินงานของธนาคารในอนาคตยังคงมีความไม่แน่นอน เนื่องจากความผันผวนทางเศรษฐกิจและการเมือง
หลังจากที่ KTB ประกาศผลกำไรที่ลดลงอย่างมากในปี 2550 เนื่องจากอัตราการขยายตัวของสินเชื่อที่ต่ำ และมีการตั้งสำรองหนี้สงสัยจะสูญจำนวนมากเพื่อปฏิบัติตามมาตรฐานบัญชีที่เข้มงวดขึ้นของธนาคารแห่งประเทศไทย ผลการดำเนินงานในครึ่งปีแรกปี 2551 ของธนาคารได้ปรับตัวดีขึ้น โดยธนาคารมีกำไรสุทธิ 6.2 พันล้านบาท (ปี 2550 ธนาคารมีกำไรสุทธิ 6.4 พันล้านบาท) เพิ่มขึ้น 27% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยเป็นผลจากการตั้งสำรองหนี้สงสัยจะสูญที่ลดลง และต้นทุนดอกเบี้ยที่ลดลง การขยายตัวของสินเชื่อและต้นทุนดอกเบี้ยที่ลดลงช่วยให้ธนาคารสามารถรักษาส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยสุทธิในระดับ 3.6% ในครึ่งแรกของปี 2551 แต่อย่างไรก็ตามคาดว่าแนวโน้มต้นทุนดอกเบี้ยที่สูงขึ้นจะส่งผลให้ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยสุทธิลดลงในครึ่งหลังของปี 2551 นอกจากนี้ ถึงแม้ว่าในช่วงสองปีที่ผ่านมา KTB ได้มีการตั้งสำรองหนี้สงสัยจะสูญเป็นจำนวนมากและยังได้มีการตั้งสำรองเพิ่มอีก 4.5 พันล้านบาทสำหรับครึ่งแรกของปี 2551 แต่อัตราส่วนค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญต่อหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ของธนาคารยังคงอยู่ในระดับต่ำที่ 42% เมื่อเทียบกับธนาคารพาณิชย์อื่นที่มีขนาดใกล้เคียงกันที่อยู่ในอัตราเฉลี่ยประมาณ 70% ซึ่งบงชี้ถึงความเสี่ยงของ KTB ในการตั้งสำรองหนี้สงสัยจะสูญเพิ่มเติมในอนาคต ในส่วนของการขาดทุนเพิ่มเติมจากการด้อยค่าของเงินลงทุนในตราสารหนี้ประเภท Collateralized Debt Obligation หรือ CDO คาดว่าจะลดลงหลังจากที่ธนาคารได้มีการบันทึกขาดทุนจากการด้อยค่าของเงินลงทุนและตั้งสำรอง โดยมียอดรวมทั้งสิ้น 4 พันล้านบาท จากต้นทุนที่ 5.4 พันล้านบาท
ฟิทช์มองว่าการชะลอตัวทางเศรษฐกิจในอนาคตอาจส่งผลกระทบต่อคุณภาพสินทรัพย์ ทั้งนี้ ณ สิ้น มิถุนายน 2551 KTB มีหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้เพิ่มขึ้นเล็กน้อยเป็น 99 พันล้านบาท หรือคิดเป็น 9.5% ของสินเชื่อรวม ซึ่งยังคงอยู่ในระดับที่สูงเมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยของธนาคารพาณิชย์ไทยที่ประมาณ 7% ณ สิ้น มิถุนายน 2551 KTB มีอัตราเงินกองทุนขั้นที่ 1 และอัตราเงินกองทุนรวมที่ 10.4% และ 14.7% ตามลำดับ ซึ่งสามารถช่วยรองรับการตั้งสำรองเพิ่มเติมในอนาคตได้ ในขณะที่ การที่ Basel II จะมีผลบังคับใช้ในสิ้นปี 2551 นี้ คาดว่าจะส่งผลให้อัตราเงินกองทุนของธนาคารลดลงประมาณ 1% เนื่องจากความเสี่ยงในด้านการดำเนินงานตามเกณฑ์ของ Basel II
จากการที่อันคับเครดิตของธนาคารมีส่วนสนับสนุนมาจากการถือหุ้นใหญ่และการควบคุมโดยรัฐบาล การเปลี่ยน แปลงในอันดับเครดิตของประเทศไทยอาจมีผลต่ออันดับเครดิตระยะยาวและระยะสั้นของธนาคารได้ ในขณะที่อันดับเครดิตของ Hybrid Tier 1 Securities นั้นส่วนหนึ่งสะท้อนถึงการสนับสนุนจากรัฐบาลซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ของ KTB แต่โดยส่วนใหญ่ อันดับเครดิตของ Hybrid Tier 1 Securities ตั้งอยู่บนพื้นฐานของความแข็งแกร่งทางการเงินของ ธนาคาร โดยพิจารณาถึงกำไรสะสมของธนาคาร ระดับของเงินกองทุนและผลกำไรจากการดำเนินงานที่แข็งแกร่งถึงแม้ว่าจะมีความเสี่ยงจากการตั้งสำรองค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญก็ตาม ในสถานการณ์ที่สถานะทางการเงินของธนาคารอ่อนแอลงอย่างมีนัยสำคัญ มีความเป็นไปได้ค่อนข้างต่ำที่การสนับสนุนจากภาครัฐบาลจะครอบคลุมถึง Hybrid Tier 1 Securities ของธนาคาร ซึ่งบ่งชี้ถึงความเสี่ยงในการปรับลดอันดับเครดิตของ Hybrid Securities ในขณะที่ อันดับเครดิตระยะยาวของธนาคารอาจยังคงไม่มีการเปลี่ยนแปลงเนื่องมาจากการสนับสนุนจากรัฐบาล ดังนั้นหากเกิดเหตุการณ์ดังกล่าวข้างต้น ความแตกต่างระหว่างอันดับเครดิตระยะยาวของธนาคารและอันดับเครดิตของ Hybrid Securities อาจเพิ่มขึ้นได้
ติดต่อ
Vincent Milton, กรุงเทพฯ; +662 655 4759
พชร ศรายุทธ, กรุงเทพฯ +662 655 4761

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ