กรุงเทพฯ--1 ก.ย.--สำนักงาน ก.พ.
สำนักงาน ก.พ. เร่งรับมือสนามสอบภาค ก. ปี 2551 ที่เตรียมลั่นฆ้อง 7 ก.ย.นี้ พร้อมจัดสัมมนาแนวทางการป้องกันการทุจริตในการสอบเข้ารับราชการ ขณะที่ดีเอสไอแฉวิธีของมิจฉาชีพ มีทั้งการใช้รหัสกาย รหัสเสียง และเครื่องมือสื่อสาร พร้อมจับตาเป้าหมายน่าสงสัย ป้องกันการทุจริตสอบในปีนี้
สืบเนื่องจากพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2551 ยังคงกำหนดหน้าที่รับผิดชอบของ ก.พ. ในเรื่องการสรรหาเพื่อให้ได้บุคคลมาบรรจุเข้ารับราชการเป็นข้าราชการพลเรือนสามัญ เช่นเดียวกับพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2535 โดยเน้นจุดยืนที่จะมุ่งสรรหากำลังคนที่มีคุณภาพ และคุณธรรม ซึ่งในการดำเนินการสอบแข่งขันเพื่อบรรจุบุคคลเข้ารับราชการนั้น ก.พ. จะเป็นผู้ดำเนินการสอบภาคความรู้ความสามารถทั่วไป(ภาค ก.) เพื่อขึ้นทะเบียนไว้ และเมื่อส่วนราชการใดประสงค์จะบรรจุบุคคลเข้ารับราชการ ก.พ.จะนำทะเบียนของผู้ที่สอบผ่าน มอบให้ส่วนราชการนั้นดำเนินการสอบภาคความรู้ความสามารถที่ใช้เฉพาะตำแหน่ง(ภาค ข.) และภาคความเหมาะสมกับตำแหน่ง(ภาค ค.) เพื่อบรรจุและแต่งตั้งเข้ารับราชการในตำแหน่งนั้นๆ ต่อไป
โดยในปี 2551 นี้ ก.พ. ได้ดำเนินการรับสมัครผู้สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีหรือเทียบเท่าทุกสาขาวิชาที่ ก.พ.รับรอง ผ่านทางอินเตอร์เน็ต ระหว่างวันที่ 30 มิถุนายน ถึงวันที่ 22 กรกฎาคม 2551 และกำหนดวันสอบข้อเขียนแบ่งเป็น 3 ครั้ง คือในวันที่ 7 กันยายน วันที่ 30 พฤศจิกายน และวันที่ 14 ธันวาคม 2551 โดยมีจำนวนผู้สมัครรวมทั้งสิ้น 238,640 คน และเพื่อให้การจัดสอบเป็นไปด้วยความรัดกุม โปร่งใส และเป็นธรรมทุกขั้นตอน สำนักงาน ก.พ.จึงได้เร่งหามาตรการต่างๆ เพื่อป้องกันการทุจริต ซึ่งล่าสุดได้มีการจัดสัมมนา เรื่อง แนวทางการป้องกันการทุจริตในการสอบเข้ารับราชการ ขึ้น เมื่อวันที่ 26 สิงหาคม 2551 ที่โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ คอนเวนชั่น ถนนวิภาวดีรังสิต โดยได้เชิญทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องในการจัดสอบ รวมถึงเจ้าหน้าที่จาก กรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือดีเอสไอ มาบรรยาย และมีผู้ร่วมสัมมนาเป็นตัวแทนจากส่วนราชการ 10 แห่ง อาทิ กรมศุลกากร กรมสรรพากร กรมส่งเสริมการเกษตร กรมราชทัณฑ์ กรมการปกครอง กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น และกรมการค้าภายใน รวมประมาณ 80 คน
ทั้งนี้ เพื่อให้ทุกฝ่ายได้รับความรู้ ความเข้าใจถึงพฤติกรรม รูปแบบ วิธีการในการทุจริต ที่เกิดขึ้น เพื่อจะได้ร่วมกันหาแนวทางในการดำเนินการสอบให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น และที่สำคัญ คือเพื่อให้สามารถสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ผู้เข้าสอบ ทั้งในส่วนของการจัดสอบโดยสำนักงาน ก.พ. และส่วนราชการด้วย
ด้าน พ.ต.อ.ดุษฎี อารยะวุฒิ ผู้บัญชาการสำนักเทคโนโลยีและศูนย์ข้อมูล การตรวจสอบ ดีเอสไอ กล่าวบรรยายเรื่อง สถานการณ์และความรุนแรงของปัญหาการทุจริตในการสอบเข้ารับราชการในปัจจุบัน ว่า ที่ผ่านมาการทุจริตมีทั้งการใช้รหัสกาย รหัสเสียง และเครื่องมือสื่อสาร ซึ่งการทำงานของดีเอสไอคือจะสืบสวนเป้าหมายน่าสงสัย โดยดูจากประวัติ การสมัครสอบที่เหล่ามือปืนรับจ้างนี้จะสมัครสอบในสนามสอบหลายๆ แห่ง พร้อมกันนี้ได้แนะวิธีการป้องกันการทุจริต อาทิ การบริหารจัดการสนามสอบให้ได้มาตรฐาน การจัดเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยที่เข้มงวด การควบคุมการสอบที่รัดกุม และกำหนดเกณฑ์ในการเข้าสอบที่ชัดเจน โดยควรดำเนินการทุกอย่างให้ต่อเนื่อง
ส่วน นางภาสพรรณี มหายศ ผู้แทนจากบริษัท อินเตอร์เน็ตประเทศไทย จำกัด(มหาชน) ให้ความมั่นใจว่า ไอเน็ต ซึ่งร่วมกับธนาคารกรุงไทย ให้บริการองค์กรขนาดใหญ่ใน การคัดสรรบุคลากรเข้าทำงานผ่านระบบอินเตอร์เน็ต ทั้งการสมัคร การสอบ การตรวจข้อสอบ รวมถึงการจัดการคลังข้อสอบ กำลังอยู่ระหว่างการศึกษาหาวิธีการใหม่ๆ เพื่อป้องกันการทุจริต อาทิ การไม่จัดลำดับเลขที่ผู้สมัครให้ไล่เรียงกัน แม้จะชำระเงินค่าสมัครกับธนาคารในเวลาไล่เลี่ยกัน ตลอดจนการป้องกันการเจาะฐานข้อมูล ซึ่งวิธีการใหม่แม้จะใช้เวลาดำเนินการที่นานกว่า แต่ จะทำให้การสอบมีความโปร่งใส และป้องกันการทุจริตได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น
ขณะที่นายมงคลชัย ไชโย ผู้แทนจากศูนย์การศึกษาต่อเนื่องแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อธิบายว่า ทางศูนย์ฯ ซึ่งเข้ามาร่วมทำงานด้านการคัดสรรบุคคลเข้ารับราชการ โดยรับผิดชอบในส่วนของการจัดทำระบบ E-Registration หรือการสมัคร , จัดทำระบบ E-Exam หรือการสอบ และจัดทำระบบคลังข้อสอบ ยืนยันได้ว่าปัจจุบันนับว่ามีการวางมาตรการรักษาความปลอดภัยในทุกขั้นตอนอยู่แล้ว ทั้งการเข้าใช้งานในระบบ , การตรวจสิทธิ์การใช้งาน , การเก็บข้อมูลการใช้งาน และการรักษาความลับของข้อมูล โดยเฉพาะอย่างยิ่งการป้องกันข้อมูลรั่วไหลจากคลังข้อสอบสู่สนามสอบที่จะป้องกันทั้งในส่วนของระบบ และตัวบุคคล
ทราบอย่างนี้แล้ว อย่างน้อยก็ทำให้หลายฝ่ายคลายความกังวลขึ้นมาว่า กระบวนการสรรหาบุคคลเข้ารับราชการจะเป็นไปด้วยความโปร่งใส ยุติธรรม เพื่อ การสรรหากำลังคนที่มีคุณภาพ คุณธรรม เข้ารับราชการเพื่อพัฒนาประเทศชาติให้ก้าว ไปข้างหน้า