CL ยากับสิทธิ GSP สหรัฐอเมริกา

ข่าวทั่วไป Tuesday September 2, 2008 16:42 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--2 ก.ย.--คต.
นางอภิรดี ตันตราภรณ์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศเปิดเผยว่า ภาพรวมการค้าไทย-สหรัฐฯ ปี 2550 มีมูลค่าการค้าระหว่างกัน 28,723.3 ล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยมีมูลค่าส่งออก 19,216.7 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และมูลค่านำเข้า 9,506.7 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ซึ่งไทยเกินดุลการค้า 9,710.0 ล้านเหรียญสหรัฐฯ
ที่ผ่านมาปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ผู้ส่งออกไทยมีความสามารถในการแข่งขันในตลาดสหรัฐฯ คือการที่ไทยได้สิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร (GSP) ซึ่งสหรัฐฯจะให้แก่ประเทศกำลังพัฒนาต่างๆ ประมาณ 136 ประเทศ รวมทั้งประเทศไทย ครอบคลุมสินค้ากว่า 3,400 รายการ ในปี 2550 ผู้ส่งออกไทยใช้สิทธิ GSP เป็นมูลค่า 3,820 ล้านเหรียญสหรัฐฯ คิดเป็นร้อยละ 20 ของมูลค่าส่งออกไปสหรัฐฯ ทำให้ไทยใช้สิทธิ GSP มากเป็นอันดับ 3 รองจากแองโกล่าและอินเดีย
อย่างไรก็ดี สหรัฐฯ ได้ทบทวนการให้สิทธิ GSP แก่สินค้าต่าง ๆ กับทุกประเทศเป็นประจำทุกปี โดยจะพิจารณาจากการที่สินค้ามีส่วนแบ่งในตลาดนำเข้าสหรัฐฯ ตั้งแต่ร้อยละ 50 ขึ้นไปหรือมีมูลค่านำเข้าเกินกว่าเพดานที่กำหนด สินค้าชนิดนั้นก็อาจถูกตัดสิทธิฯได้ นอกจากนี้ยังพิจารณาถึงประเด็นเกี่ยวกับการให้ความคุ้มครองด้านทรัพย์สินทางปัญญา จากการที่ไทยได้ประกาศใช้สิทธิตามสิทธิบัตร (Compulsory Licensing: CL) กับยาจำนวน 7 รายการตั้งแต่ปี 2549 ถึงปัจจุบัน ทำให้สหรัฐฯ จัดสถานะของประเทศไทยอยู่ในกลุ่มประเทศที่ถูกจับตามองเป็นพิเศษ (Priority Watch List: PWL) ขณะเดียวกันประเทศไทยอยู่ระหว่างยื่นคำร้องขอผ่อนผันไม่ให้ระงับสิทธิ GSP ในสินค้ากลุ่มดอกกล้วยไม้สด ทุเรียนสด มะละกอแห้ง มะขามแห้ง ส้ม มะละกอแปรรูป หนังกระบือ สร้อยคอทองคำ ทองแดงบริสุทธิ์ และโทรทัศน์สี ซึ่งผลการพิจารณาทบทวนในรอบที่ผ่านมา สหรัฐฯได้ประกาศผ่อนผันไม่ระงับสิทธิ GSP ในสินค้ากลุ่มดังกล่าวแล้ว และยังคงสิทธิ GSP ให้สินค้าพรมถัก/ทอด้วยมือ และผ้าคลุมพื้นให้ ตามที่ไทยได้ชี้แจงต่อสหรัฐฯว่า ไทยไม่มีการใช้แรงงานเด็กในอุตสาหกรรมดังกล่าว
อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศกล่าวเพิ่มเติมว่าผลจากการทบทวนการให้สิทธิ GSP สหรัฐฯ ประจำปี 2550 แสดงให้เห็นว่า การใช้ CL ยาของไทยไม่ได้ส่งผลกระทบต่อการพิจารณาให้สิทธิ GSP ของสหรัฐฯ แต่อย่างใด อย่างไรก็ตาม เนื่องจากโครงการให้สิทธิ GSP เป็นโครงการชั่วคราว ดังนั้นประเทศผู้ให้สิทธิจะยกเลิกเมื่อใดก็ได้ ดังนั้นผู้ส่งออกควรใช้ประโยชน์จากสิทธิ GSP ที่ยังคงได้รับอยู่ให้มากที่สุด ขณะเดียวกันก็ต้องพยายามพัฒนาขีดความสามารถในการผลิต โดยผลิตสินค้าที่มีคุณภาพสูงและให้มีต้นทุนต่ำที่สุดเพื่อเตรียมความพร้อมที่จะปรับตัวให้สามารถแข่งขันในตลาดสหรัฐฯได้ โดยลดการพึ่งพา GSP ซึ่งนับวันจะลดน้อยลง ติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สำนักสิทธิประโยชน์ทางการค้า กรมการค้าต่างประเทศ โทรสายด่วน 1385 หรือ ทาง www.dft.go.th

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ