กรุงเทพฯ--2 ก.ย.--ปภ.
ปภ. รายงานสถานการณ์น้ำล้นตลิ่งคลี่คลายแล้ว ๖ จังหวัด กระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย รายงานสถานการณ์อุทกภัยจากภาวะน้ำโขงล้นตลิ่งคลี่คลายแล้ว ยังคงมีน้ำท่วมขังในพื้นที่การเกษตรของอำเภอศรีสงคราม จังหวัดนครพนม คาดระดับน้ำมีแนวโน้มลดลงภายใน ๑ สัปดาห์ ทั้งนี้ได้ประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่งให้การช่วยเหลือผู้ประสบภัยและจัดเจ้าหน้าที่เฝ้าระวังติดตามสถานการณ์ตลอด 24 ชั่วโมงแล้ว
นายอนุชา โมกขะเวส อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เปิดเผยว่า ฝนที่ตกหนักทางตอนบนของประเทศ ส่งผลให้ระดับน้ำในแม่น้ำโขงมีปริมาณเพิ่มสูงขึ้น และเอ่อล้นตลิ่งท่วมพื้นที่ลุ่มริมฝั่ง 7 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดเชียงราย น่านหนองคาย นครพนม สกลนคร เพชรบูรณ์ และมุกดาหาร รวม ๔๘ อำเภอ ๒๙๘ ตำบล ๒,๓๑๐ หมู่บ้าน ผู้เสียชีวิต ๖ ราย ราษฎรเดือดร้อน ๑๐๐,๕๗๖ ครัวเรือน ๔๓๘,๑๕๒ คน บ้านเรือนเสียหายบางส่วน ๓,๘๒๔ หลัง ถนน ๑,๐๔๙ สาย สะพาน ๕๘ แห่ง พื้นที่การเกษตรเสียหาย ๔๙๖,๖๙๓ ไร่ มูลค่าความเสียหายเบื้องต้นประมาณ ๒๓๘,๑๐๕,๒๕๒ ขณะนี้สถานการณ์อุทกภัยได้คลี่คลายเข้าสู่ภาวะปกติแล้ว ๖ จังหวัด แต่ยังคงมีน้ำท่วมขังในพื้นที่การเกษตรของอำเภอศรีสงคราม จังหวัดนครพนม และเนื่องจากลำน้ำสงครามสามารถระบายน้ำลงสู่แม่น้ำโขงได้เร็วขึ้น จึงคาดว่าระดับน้ำจะลดลงภายใน๑ สัปดาห์นี้ สำหรับการให้ความช่วยเหลือ ปภ.ได้สั่งการให้สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดในพื้นที่ที่ประสบภัยประสานจังหวัด อำเภอ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจัดกำลังเจ้าหน้าที่ ระดมเครื่องจักรกล ยานพาหนะ เรือท้องแบน อุปกรณ์ต่างๆ เข้าช่วยเหลือและฟื้นฟูบูรณะพื้นที่ที่ประสบอุทกภัย รวมทั้งได้นำเครื่องสูบน้ำกว่า ๑,๒๐๐ เครื่อง สูบน้ำออกจากพื้นที่แล้ว ตลอดจนได้นำถุงยังชีพไปมอบให้แก่ผู้ประสบภัยในพื้นที่ต่างๆ แล้ว รวมถึงกำชับให้จังหวัดจัดเจ้าหน้าที่ทั้งอาสาสมัครแจ้งเตือนภัยดินถล่ม (มิสเตอร์เตือนภัย) สมาชิกอาสาสมัครป้องกันภัยฝ่ายพลเรือน (อปพร.) และทีมกู้ชีพกู้ภัยประจำตำบล ติดตามข้อมูลข่าวสารพยากรณ์อากาศ และการขึ้น-ลง ของน้ำในแม่น้ำอย่างใกล้ชิดตลอด ๒๔ชั่วโมง หากสถานการณ์รุนแรงจะได้แจ้งเตือนประชาชนที่อาศัยอยู่ริมฝั่งแม่น้ำอพยพออกจากพื้นที่อย่างเร่งด่วน สุดท้ายนี้ หากประชาชนในพื้นที่ใดได้รับความเดือดร้อนจากสถานการณ์อุทกภัยและน้ำล้นตลิ่ง สามารถติดต่อขอความช่วยเหลือได้ที่สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดในพื้นที่ ศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขต๑ — ๑๘ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย หรือทางสายด่วนสาธารณภัย ๑๗๘๔ ตลอด ๒๔ ชั่วโมง เพื่อประสานและให้การช่วยเหลือโดยด่วนต่อไป