กรุงเทพฯ--21 ส.ค.--กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
การประกาศผลการประกวดและมอบรางวัลโครงการรางวัลนวัตกรรมแห่งประเทศไทย ครั้งที่ 6 ระดับภูมิภาค ศูนย์การประกวดภาคกลาง ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติไบเทค บางนา กรุงเทพฯ
ดร.ศักดิ์สิทธิ์ ตรีเดช ปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าวว่า “กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ได้พิจารณาเห็นความสำคัญของการส่งเสริมและกระตุ้นความสนใจในการศึกษาค้นคว้าและเรียนรู้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของเยาวชน นักเรียน นิสิต นักศึกษา ตลอดจนประชาชนทั่วไป ด้วยเหตุที่ว่า วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเป็นรากฐานที่สำคัญในการพัฒนาประเทศ ทั้งทางด้านเศรษฐกิจ สังคมและคุณภาพชีวิตที่ดีของประชาชน ดังนั้น การที่เยาวชนในสถาบันการศึกษาระดับต่าง ๆ ให้ความสนใจ รวมทั้งมีการฝึกฝนทักษะและประสบการณ์ในการใช้ความรู้ ความสามารถเพื่อแสดงออกซึ่งผลงานวิจัยและนวัตกรรมทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี จึงนับเป็นเครื่องชี้วัดที่สะท้อนถึงความเปลี่ยนแปลงของสังคมไทยในปัจจุบัน ในการพัฒนาขีดความสามารถและศักยภาพทางความคิดและพลังสมอง เพื่อผลักดันผลงานสร้างสรรค์ในรูปของโครงงาน ผลงานวิจัยและพัฒนาสิ่งประดิษฐ์คิดค้นทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ที่จะเป็นประโยชน์กับการใช้งานและการผลิตในเชิงพาณิชย์ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และสร้างโอกาสในการขยายผลงานทางด้านนวัตกรรมให้ก้าวไปสู่ระดับธุรกิจและการลงทุน จากการจัดประกวดรางวัลแผนธุรกิจนวัตกรรมอีกทางหนึ่ง ซึ่งจะมีส่วนช่วยยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทยได้ในอนาคต เพื่อให้เยาวชนได้นำความรู้ความคิดสร้างสรรค์ ทักษะและประสบการณ์มาพัฒนาและผลิตเป็นสินค้าใหม่ซึ่งตอบสนองความต้องการของภาคธุรกิจ โดยที่กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ พร้อมที่จะร่วมเป็นหน่วยงานหลักของโครงการรางวัลนวัตกรรมแห่งประเทศไทยและยินดีสนับสนุนทั้งด้านงบประมาณและนโยบายในการส่งเสริมกิจกรรมนี้ในมหาวิทยาลัย ทั้งนี้เพื่อความต่อเนื่องในระยะยาวและเพื่อการขยายผลต่อไป”
รองศาสตราจารย์ ดร.คุณหญิงสุมณฑา พรหมบุญ นายกสมาคมแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ กล่าวว่า “สมาคมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทยฯ ได้มีบทบาทในการส่งเสริมกิจกรรมด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในรูปแบบต่าง ๆ สำหรับในระดับอุดมศึกษานั้น การประกวดโครงการรางวัลนวัตกรรมแห่งประเทศไทย มีวัตถุประสงค์ที่จะส่งเสริมนักคิดค้นด้านนวัตกรรม เพื่อพัฒนาให้เกิดทรัพย์สินทางปัญญา อันจะนำไปสู่การขอรับสิทธิบัตร และการผลิตเชิงพาณิชย์ โครงการนี้จึงเกิดขึ้นครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. 2544 ด้วยการริเริ่มร่วมกับองค์การความร่วมมือทางวิชาการระหว่างไทย-เยอรมัน (GTZ) และกรมทรัพย์สินทางปัญญา โดยมีความคาดหวังในระยะยาวว่า นวัตกรรมจะสร้างความสามารถในการแข่งขันของประเทศได้ การจัดประกวดครั้งนี้เป็นปีที่ 6 โดยมีองค์กรร่วมจัด ได้แก่ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ สำนักกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ และสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ และศูนย์เทคโนโลยีและวัสดุแห่งชาติ โครงงานที่ผ่านการประกวดใน 5 ปีที่ผ่านมา ได้มีตัวอย่างของการพัฒนาในเชิงพาณิชย์ การสนับสนุนการลงทุนจากสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ และการขอรับสิทธิบัตรการประกวดแบ่งเป็น 2 ระดับ คือ ระดับภูมิภาค และระดับประเทศ ซึ่งในระดับภูมิภาคจัดขึ้นพร้อมกันทุกภูมิภาค ในช่วงสัปดาห์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ เดือนสิงหาคม เป็นประจำทุกปี ได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดียิ่งจากมหาวิทยาลัยที่เป็นศูนย์จัดการประกวด ได้แก่ ศูนย์ภาคเหนือ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ศูนย์ภาคตะวันออก มหาวิทยาลัยบูรพา ศูนย์ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ศูนย์ภาคใต้ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ สำหรับศูนย์ภาคกลาง สมาคมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทยฯ ดำเนินงานในช่วงสัปดาห์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ ในงานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ ปี 2549 ซึ่งจัดโดยกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
การประกวดระดับประเทศปีนี้ มีกำหนดจัดในงานนวัตกรรมแห่งชาติระหว่างวันที่ 4-5 ตุลาคม 2549 ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ นักศึกษาที่ชนะเลิศการประกวดระดับประเทศ จะได้รับถ้วยพระราชทานจาก สมเด็จพระพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ พร้อมเงินรางวัลและยังได้ไปทัศนศึกษาดูงานในต่างประเทศอีกด้วย”
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อุทุมพร พลาวงศ์ อุปนายกสมาคมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทยฯ และประธานโครงการรางวัลนวัตกรรมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า “การประกวดโครงการรางวัลนวัตกรรมแห่งประเทศไทย ครั้งที่ 6 ประจำปี 2549 ระดับภูมิภาค มีนิสิต นักศึกษา ส่งโครงงานเข้าประกวดรวมทุกศูนย์ทั่วประเทศ 135 โครงงาน สำหรับศูนย์ภาคกลางซึ่งนำมาแสดงนิทรรศการ ณ ที่นี้ มีจำนวนรวมทั้งสิน 71 โครงงาน โดยแบ่งเป็นสาขาวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยี 35 โครงงาน สาขาวิทยาศาสตร์กายภาพและชีวภาพ 20 โครงงาน สาขาสร้างเสริมสุขภาพ 10 โครงงาน และสาขาสื่อสารวิทยาศาสตร์ 6 โครงงาน
โครงงานสาขาสร้างเสริมสุขภาพที่ผ่านการคัดเลือกเข้าสู่การประกวดระดับประเทศ ได้แก่ ทุ่นตรวจการสั่นสะเทือนทางน้ำผ่านคลื่นวิทยุ จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลสุวรรณภูมิ นนทบุรี, Micro Vacuum จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย , เครื่องจำลองและตรวจสอบประสิทธิภาพการขับขี่รถยนต์ จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลสุวรรณภูมิ นนทบุรี , เครื่องวัดปริมาณแอลกอฮอล์ในลมหายใจ จากมหาวิทยาลัยรังสิต
โครงงานสาขาสื่อสารวิทยาศาสตร์ ที่ผ่านการคัดเลือกเข้าสู่การประกวดระดับประเทศ ได้แก่ นวัตกรรม ณ วันระกำ จากมหาวิทยาลัยรังสิต , คุณปู่ครับ จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล กรุงเทพฯ, The doctor จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลกรุงเทพฯ , พลังสะอาดสร้างโลก จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี , 1.50 บาทที่หายไป จากมหาวิทยาลัยกรุงเทพฯ
โครงงานสาขาวิทยาศาสตร์ ที่ผ่านการคัดเลือกเข้าสู่การประกวดระดับประเทศ ได้แก่ น้ำยากะทิผง จากมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ , แผ่นอะครีลิกใสใส่ใจสิ่งแวดล้อม จากมหาวิทยาลัยมหิดล , แผ่นอะครีลิกทนแรงกระแทก สายพันธุ์ไทย จากมหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา , มิเตอร์อาศัยหลักการไหลอย่างต่อเนื่อง สำหรับวัดปริมาณเอธานอลในน้ำมันแก๊สโซฮอล์ จากมหาวิทยาลัยมหิดล
โครงงานสาขาวิศวกรรมศาสตร์ ที่ผ่านการคัดเลือกเข้าสู่การแข่งขันระดับประเทศ ได้แก่ ตู้โทรคมนาคม ลมสะอาดปราศจากความชื้น ไม่สะอื้นเพราะค่าไฟ จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีมหานคร , ระบบป้องกันการโจรกรรมโทรศัพท์มือถือ จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี , นวัตกรรมใหม่ของการอบแห้งกุ้งคุณภาพสูง จากสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง”
สามารถคลิกดูภาพประกอบได้ที่ www.thaipr.net