กรุงเทพฯ--3 ก.ย.--สสวท.
หนึ่ง สอง สาม เด็กๆหลายคนร่วมแรงร่วมใจส่งเสียงให้สัญญาณแรงดัน กับอุปกรณ์การเรียนเรียนรู้ทางวิทยาศาสตร์ ที่เรียกว่า “วงแหวนวอร์เท็กซ์”พร้อมกับรอดูผลงานซึ่งเป็นคลื่นวงกลม ลอยตัวขึ้นมา หากทุกคนสังเกตให้ดีจะพบว่าปรากฏการณ์ ที่เกิดขึ้นมีให้เห็นบ่อยครั้ง ขณะที่เด็กและผู้ปกครองอีกหลายครอบครัว ให้ความสนใจกับการที่ได้สัมผัส “แวน เดอะ แกรฟ” หรือการใช้มือสัมผัสกับเครื่องมือกลมๆ เพื่อให้เกิดการขัดสี จากนั้นเส้นผมของผู้ที่สัมผัสกับเครื่องมือดังกล่าวจะค่อยๆฟู กระจาย
เด็กบางคนก็เลือกที่แวะเข้า เวียนเข้าออก ตามบูธผลงานวิทยาศาสตร์ ที่นักเรียนด้วยกันนำมาจัดแสดง อาทิ บูธจากโรงเรียนสายน้ำผึ้ง โรงเรียนปทุมคงคา และโรงเรียนศรีวิกรม์ สิ่งเหล่านี้คือภาพที่เกิดขึ้นในงานสัปดาห์วิทยาศาสตร์แห่งชาติปี51 ซึ่งจัดขึ้นโดย สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) ร่วมกับชุมชนพันธมิตรวิทยาศาสตร์ ภายใต้หัวข้อ “ก้าวแรกทางความคิด สู่ชุมชนวิทยาศาสตร์” งานนี้จัดที่ท้องฟ้าจำลอง และสสวท.
ในฐานะสสวท.เป็นหน่วยงานที่ให้การสนับสนุนก้าวสำคัญทางความคิดทางวิทยาศาสตร์ให้กับเยาวชน โดยเฉพาะการส่งเสริมให้เยาวชนไทยเข้าร่วมแข่งขันโอลิมปิกวิชาการ ในระดับนานาชาติ สามารถรวดรางวัลมาแล้วมากมาย จึงเล็งเห็นถึงความสำคัญในการสร้างรากฐาน ความคิดริเริ่มให้กับเยาวชน ที่จะนำไปสู่การสร้างสรรค์เทคโนโลยีและนวัตกรรมต่อไปในอนาคต
งานนี้นอกจากจะเปิดให้เข้าชมศูนย์การเรียนรู้ทางวิทยาศาสตร์ภายในอาคารถาวร ทั้ง 4 อาคารแล้ว ยังมีการบรรยาย และการแสดงนิทรรศการเพื่อการเรียนรู้ อาทิ ลานสนุกคิด ห้องสนุกทำ ทำให้ให้น้องๆ ได้สัมผัสกับความสนุกสนานในการเรียนรู้วิทยาศาสตร์และได้ความรู้ต่างๆ กลับไปมากมาย
กุลวัชร วิชิตะกุล หรือ “น้องอาร์ม” นักเรียนชั้นม. 6 จากโรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยรามคำแหง ถ่ายทอดประสบการณ์ที่ได้ร่วมงานครั้งนี้ว่า รู้สึกประทับใจกิจกรรมการแสดงนิทรรศการถาวร ที่ท้องฟ้าจำลองมาก เพราะมีเนื้อหาให้เรียนรู้มากมาย เช่น พื้นฐานการดำรงชีวิตของมนุษย์ ซึ่งผู้เข้าชมสามารถทดลอง ทดสอบและสัมผัสสิ่งต่างๆ ได้ด้วยตนเอง โดยเฉพาะในชั้นที่ 1 เป็นเรื่องของโลกวิทยาศาสตร์การสื่อสารดาวเทียม และที่อาร์มสนใจมากเป็นพิเศษคือมุมความรู้เรื่องวงแหวนวอร์เท็กซ์ ที่จำลองการเกิดวงแหวนวอร์เท็กซ์ที่เป็นวงหมุนรูปโดนัทซึ่งเกิดในปรากฏการณ์ตามธรรมชาติ
“ผมชอบทุกอย่างเลยครับ ตรงวงแหวนวอร์เท็กซ์ ที่ให้เพื่อนๆ ช่วยกันกดแล้วจะเกิดวงแหวนออกมา ก็สนุกดี ไม่เคยทำมาก่อน แล้วยังมีกิจกรรมหลายๆ อย่างในตึกให้เราได้เรียนรู้ ท้องฟ้าจำลองผมก็ชอบ โดยเฉพาะจุดดูดาว ”
น้องมิ้งค์ หรือ นางสาวนรินทร อาจเครือ นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 โรงเรียนกรับใหญ่ว่องกุศลกิจพิทยาคม จังหวัดราชบุรี ก็เป็นอีกคนหนึ่งที่ชื่นชอบเรียนรู้ดูดาวภายในท้องฟ้าจำลอง
“ชอบท้องฟ้าจำลองมากเลยค่ะ เพราะไม่เคยเห็นดาวเยอะขนาดนี้ อยู่ที่ราชบุรีถึงจะมองเห็นดาวชัดกว่าคนในกรุงเทพฯ แต่ก็ไม่ได้เห็นสวยขนาดนี้ เรื่องราวที่บรรยายก็สนุก ทำให้มีความรู้เรื่องดาวมากขึ้นเยอะเลยค่ะ” น้องมิ้งค์กล่าว
นอกจากนิทรรศการภายในอาคารวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และการบรรยายในท้องฟ้าจำลองที่เรียกความสนใจจากเด็กๆ และผู้ปกครองได้เป็นอย่างมากแล้ว ในส่วนของ สสวท. ก็มีการจัดแสดงซุ้มนิทรรศการจากโรงเรียนสถานศึกษาต่างๆ เพื่อให้ความรู้และเสริมกิจกรรมสันทนาการประกอบเกร็ดน่ารู้ทางวิทยาศาสตร์ต่างๆ แก่ผู้เข้าร่วมงาน
เด็กหญิงพฤกษา นามขาน หรือ “น้องออย” นักเรียนชั้นป. 6 ซึ่งเป็นตัวแทนร่วมจัดซุ้มนิทรรศการของโรงเรียนสายน้ำทิพย์ เล่าความประทับใจ หลังจากผลัดเวียนเที่ยวชมงานสัปดาห์วิทยาศาสตร์กับเพื่อนๆ ว่า ซุ้มกิจกรรมที่ชอบมากคือกิจกรรม “คู่ซี้หกเหลี่ยม” ซึ่งเป็นการสอนต่อจิกซอร์หกเหลี่ยมให้ออกมาเป็นรูปร่างต่างๆ ได้ตามความต้องการ
“กิจกรรมนี้สอนให้เราใช้สมาธิและฝึกความคิดสร้างสรรค์ในการประกอบรูปค่ะ ปกติไม่เคยได้อะไรแบบนี้เลย คุณแม่อาจจะมองว่าหนูเด็กเกินก็เลยไม่เคยให้ได้ลอง แต่พอได้ทำแล้วสนุกมากเลยค่ะ อีกกิจกรรมที่ชอบคือการร้อยลูกปัดจะฝึกให้เรามีสมาธิและความคิดสร้างสรรค์เหมือนกัน ที่สำคัญคือก่อนร้อยลูกปัดเขาจะให้วัดไอคิว ทำให้หนูได้รู้ไอคิวของตัวเองเป็นครั้งแรก”
น้องออย ยังบอกว่าอยากให้มีการจัดกิจกรรมแบบนี้มากขึ้น เพราะทำให้ได้รับความรู้ทางวิทยาศาสตร์ในรูปแบบที่แตกต่างไปจากห้องเรียน ไม่น่าเบื่อ ที่สำคัญยังช่วยจุดประกายความอยากรู้ให้น้องออยนำไปศึกษาค้นคว้าด้วยตัวเองต่อไปได้ดียิ่งขึ้น
ผู้เข้าร่วมกิจกรรมภายในงานสัปดาห์วิทยาศาสตร์นี้ไม่ได้มีเฉพาะนักเรียนชั้นประถมหรือมัธยมศึกษาที่สามารถเรียนรู้เรื่องราวทางวิทยาศาสตร์ได้ด้วยตนเองเท่านั้น ยังมีผู้ปกครองจำนวนมาก ที่ให้ความสนใจพาบุตรหลานมาฝึกสัมผัสประสบการทางวิทยาศาสตร์ด้วยตนเอง
นางจริยา กล่ำแสง ผู้ปกครองของ น้องออม หรือ เด็กชาย ภูวรัตน์ กล่ำแสง ในวัย 4 ขวบ จากจังหวัดสมุทรปราการ บอกเล่าถึงประสบการณ์การเที่ยวชมงานสัปดาห์วิทยาศาสตร์ว่า “ต้องการให้ลูกได้เริ่มเรียนรู้ด้วยตนเองตั้งแต่ยังเด็ก น้องเขาจะชอบมุมจัดแสดงเครื่องบินมาก ที่ประทับใจคือจุดที่ตัวแทนของแต่ละโรงเรียน ซึ่งรวมตัวกันเป็นชุมชนวิทย์ นำผลงานมาจัดแสดง โดยเฉพาะสิ่งประดิษฐ์ต่างๆ ทำให้เห็นว่าเด็กๆ มีความสามารถ รู้จักใช้จิตนาการทางความคิด ประดิษฐ์สิ่งของทั้งจากที่เหลือใช้ และสร้างสรรค์ขึ้นมาใหม่ด้วยตัวเอง สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้จริงๆ”
คุณแม่น้องออม ยังบอกอีกว่าแม้ลูกยังไม่เข้าใจความรู้ที่ได้รับจากงานนี้ไม่มากนัก ด้วยวัยที่ยังเล็กมาก แต่การมาร่วมงานสัปดาห์วิทยาศาสตร์ ก็ถือเป็นการปลูกฝังความรู้และทำให้ได้มีปฏิสัมพันธ์ร่วมกันภายในครอบครัว ถึงแม้ว่าการนำเสนอผลงานในงานสัปดาห์วิทยาศาสตร์แห่งชาติปี 51 จะเน้นให้ความสำคัญกับก้าวแรกทางความคิด ในเชิงวิทยาศาตร์ แต่ถือเป็นก้าวสำคัญที่จะนำไปสู่การต่อยอดนวตกรรมและเทคโนโลยีใหม่ๆ ในอนาคต