ส.ม.อ. รับรองความสามารถของห้องปฎิบัติการ เอสจีเอส พร้อมมอบใบรับรอง ISO/IEC 17025 เป็นเจ้าแรก

ข่าวทั่วไป Thursday August 3, 2006 13:54 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--3 ส.ค.--พิตอน คอมมิวนิเคชั่น
ด้านการตรวจสอบชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ และ เครื่องใช้ไฟฟ้า สินแร่ และยานยนต์เพื่อการส่งออกตอกย้ำความเป็นผู้นำด้านห้องปฏิบัติการในประเทศไทย
บริษัท เอสจีเอส (ประเทศไทย) จำกัด โดย มร. เฮ็นรี่ หวัง กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอสจีเอส (ประเทศไทย) จำกัด เป็นผู้รับมอบใบรับรอง ISO/IEC 17025 จากสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม (สมอ) ด้านการทดสอบทางห้องปฏิบัติการ ซึ่งถือเป็นห้องปฏิบัติการเอกชนรายแรกที่ได้รับการรับรองความสามารถการตรวจวิเคราะห์ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ และ เครื่องใช้ไฟฟ้า สินแร่ และยานยนต์เพื่อการส่งออก โดยการส่งมอบใบรับรองครั้งนี้ได้รับเกียรติจากคุณไพโรจน์ สัญญะเดชากุล เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ) กระทรวงอุตสาหกรรม อีกด้วย ในการมอบใบรับรอง ISO/IEC 17025 จากส.ม.อ.ครั้งนี้เป็นการการันตีถึงศักยภาพความพร้อมในการรองรับความต้องการของผู้ประกอบการชาวไทยที่ต้องการตรวจสอบ ทดสอบสินค้าด้านชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ และ เครื่องใช้ไฟฟ้า สินแร่ และยานยนต์เพื่อการส่งออก
คุณไพโรจน์ สัญญะเดชากุล เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม (ส.ม.อ) กล่าวว่า “บริษัทเอสจีเอส (ประเทศไทย) จำกัด เป็นห้องปฏิบัติการเอกชนเจ้าแรกที่ได้รับใบรับรอง ISO/IEC 17025 ด้านชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ และ เครื่องใช้ไฟฟ้า สินแร่ และยานยนต์เพื่อการส่งออก ซึ่งมาตรฐาน ISO/IEC 17025 นี้มีความสำคัญเป็นอย่างมากเพราะเป็นการรับรองความสามารถสำหรับห้องปฏิบัติการด้านการทดสอบและการสอบเทียบโดยเฉพาะ ซึ่งบริษัทใดที่ได้ใบรับรอง ISO/IEC 17025 นี้จะทำให้ห้องปฏิบัติการได้รับการยอมรับในระดับประเทศและระหว่างประเทศเพราะถือว่ามาตรฐานนี้เป็นมาตรฐานสากลเพราะสามารถทำการวิจัยทางเทคนิคโดยที่เจ้าหน้าที่ของห้องปฏิบัติการจะได้รับการยอมรับในทักษะและความสามารถที่จะส่งเสริมการบริการของห้องปฏิบัติการพร้อมลดค่าใช้จ่ายโดยลดความเสี่ยงของห้องปฏิบัติการและเป็นการช่วยส่งเสริมภาพพจน์ของห้องปฏิบัติการให้เป็นที่ยอมรับในระดับสากลมากขึ้น”
ปัจจุบันรัฐบาลมีการส่งเสริมให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ ยานยนต์ โดยมีการส่งออกเพิ่มมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ซึ่งตลาดที่สำคัญก็คือ สหภาพยุโรป เริ่มตระหนักถึงความปลอดภัยและผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมของสินค้าดังกล่าวในด้านสารอันตราย เช่น กฎหมาย RoHS & ELV ในด้านการจำกัดสารอันตรายในผลิตภัณฑ์ โดยมีผลบังคับใช้แล้วซึ่งการทดสอบสินค้าก่อนการส่งออกจะมีบทบาทอย่างมากในการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันเหนือคู่แข่งขันอื่นหากผู้ประกอบการไทยปรับตัวให้ได้ตามมาตรฐานที่กำหนด จะทำให้สามารถส่งออกสินค้าได้คุณภาพอย่างไม่มีปัญหาและลดภาระที่อาจเกิดขึ้นหากสินค้าไม่ได้คุณภาพซึ่งไม่เป็นที่ยอมรับของผู้บริโภค
คุณประดิษฐ์ ยงค์พันธ์ชัย ผู้จัดการ ห้องปฏิบัติการ บริษัท เอสจีเอส (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวเสริมว่า“เรารู้สึกภูมิใจและรู้สึกเป็นเกียรติที่ได้รับใบรับรอง ISO/IEC 17025 จากสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม (สมอ) ทางเอสจีเอสพร้อมที่จะเป็นส่วนหนึ่งที่เข้ามาช่วยยกระดับขีดความสามารถของผู้ประกอบการในการพัฒนาด้านคุณภาพและเป็นการเพิ่มความเชื่อมั่นในสินค้า ซึ่งส่งผลดีต่อผู้ผลิตและผู้บริโภคเพื่อที่จะทำให้ผู้ประกอบการสามารถจำหน่าย สินค้าได้อย่างมั่นใจ พร้อมกับสร้างความเชื่อถือของสินค้าส่งออกผู้บริโภคและเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันในตลาดด้านชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ และ เครื่องใช้ไฟฟ้า สินแร่ และยานยนต์ ทั้งจะช่วยเพิ่มรายได้และลดความเสียหายที่อาจจะเกิดขึ้นหากสินค้าไม่ได้มาตรฐาน”
เกี่ยวกับเอสจีเอส
กลุ่มบริษัทเอสจีเอส เป็นบริษัทชั้นนำของโลกที่มีนวัตกรรมทันสมัยในการให้บริการด้านการตรวจสอบ การทดสอบ และการรับรองระบบ บริษัทเอสจีเอส ได้ก่อตั้งขึ้นในปี พศ. 2421 และได้รับการยอมรับว่าเป็นบรรทัดฐานระดับสากลในด้านคุณภาพและความซื่อสัตย์ ด้วยจำนวนพนักงานกว่า 42,000 คน บริษัทเอสจีเอส ได้ขยายเครือข่ายสำนักงานและห้องปฏิบัติการการกว่า 1,000 แห่งทั่วโลก
มาตรฐานและกระบวนการรับรองของหสภาพยุโรป (EU) กับ ISO/IEC 17025
1. EU กับกฎหมายที่เกี่ยวกับ ELV
สหภาพยุโรปได้ออกกฎข้อบังคับ 2000/53/EC ว่าด้วยวาระการหมดอายุการใช้งานของยานพาหนะตั้งแต่ เดือนมิถุนายน พ.ศ. 2546 เพื่อเป็นบทบังคับการสั่งห้ามใช้ยานพาหนะที่มีส่วนประกอบของสารตะกั่ว แคดเมียม ปรอท และโครเมียม 6 เกินกว่าปริมาณที่กำหนด
ทุกๆ ปีมียานพานะที่หมดอายุการใช้งานกว่าสิบล้านคันในทวีปยุโรป ซึ่งกลายเป็นขยะในปริมาณ 8 ถึง 9 ล้านตัน ในปี พ.ศ. 2549 ยานพานะที่หมดอายุการใช้งานอย่างน้อย 80% จะถูกนำมาแปรรูป หรือรีไซเคิล และ 85% จะถูกนำมาซ่อมแซมเพื่อนำกลับไปใช้ใหม่ คาดการณ์ว่าในปี พ.ศ. 2558 เปอร์เซ็นต์จะสูงขึ้นเป็น 85% และ 95% ตามลำดับ
ประเทศไทยได้ออกนโยบายเพื่อสนับสนุนอุตสาหกรรมยานยนต์ของไทยให้กลายเป็น “ดีทรอยท์แห่งเอเชีย” ด้วยการจัดตั้งโรงงานผลิตรถยนต์ 12 แห่งในประเทศไทย รวมถึง 500 OEMs, 800 of 2nd Tiers และโรงงานผู้ผลิตชิ้นส่วน และอะไหล่กว่า 1,200 แห่ง บริษัทผู้ส่งออกยานยนต์คือตลาดกลุ่มเป้าหมายสำหรับอุตสาหกรรมยานยนต์ โดยมีจำนวนรถยนต์ที่ส่งออกในปี พ.ศ. 2547 ถึง 320,000 คัน และปีพ.ศ. 2548 ถึง 400,000 คัน
ห้องปฏิบัติการวิทยาศาสตร์ เอสจีเอส ดำเนินการวิเคราะห์ และตรวจสอบหาสาร Pb, Cd, Hg และCr 6 ที่ถูกสั่งห้ามด้วยอุปกรณ์ ICP — Inductive Couple Plasma และ UV Vis Spectrophotometer ซึ่งในปัจจุบัน เอส จี เอส ได้ทำการทดสอบมาตรฐาน ELV ให้กับบริษัทผู้ผลิตรถยนต์ขนาดใหญ่ เช่น โตโยต้า ฟอร์ด และมิตซูบิชิ รวมถึง OEM และผู้ผลิตต่างๆ เพื่อเป็นการรับรองมาตรฐานให้กับผลิตภัณฑ์ และวัตถุดิบที่ใช้อย่างถูกต้องตามที่กฎหมายกำหนด เช่นเดียวกับนโยบายการสั่งห้ามใช้สารบางชนิดโดยโรงงานผู้ผลิตรถยนต์ขนาดใหญ่ทั่วโลก
2. EU กับกฎหมายที่เกี่ยวกับ RoHS
สหภาพยุโรปได้ออกกฎข้อบังคับ 2002/95/EC ว่าด้วยข้อกำหนดการใช้สารต้องห้ามที่เป็นอันตรายบางประเภท (RoHS — Restriction of the Use of Certain Hazardous Substances) ที่จะมีผลบังคับใช้ทั่วสหภาพยุโรปเริ่มตั้งแต่เดือนกรกฎาคม ปีพ.ศ. 2549 เพื่อเป็นบทบังคับการสั่งห้ามใช้สารต้องห้ามในผลิตภัณฑ์ประเภทอุปกรณ์ไฟฟ้า และอิเลคทรอนิคส์ ที่มีส่วนประกอบของตะกั่ว แคดเมียม ปรอท โครเมียม6 PBB และPBDE
กฎข้อบังคับไม่อนุญาตให้โรงงานผู้ผลิตอุปกรณ์ไฟฟ้า และอิเลคทรอนิคส์ ที่มีสารเคมีดังกล่าวเป็นส่วนประกอบเกินกำหนด วางจำหน่ายผลิตภัณฑ์ในตลาดกลุ่มประเทศในสหภาพยุโรป โรงงานผู้ผลิตเหล่านั้นจำเป็นต้องมีใบรับรองว่าผ่านตามมาตรฐาน RoHS มิเช่นนั้นจะไม่ได้รับอนุญาตให้วางจำหน่ายในตลาดยุโรป
นอกเหนือจากกฎข้อบังคับดังกล่าว เจ้าของตราสินค้า และโรงงานผู้ผลิตอุปกรณ์ต้นแบบ (OEM — Original Equipment Manufacturers) ยังสนับสนุนนโยบาย Green Products เพื่อร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการรักษาสิ่งแวดล้อมอีกด้วย
ผลิตภัณฑ์ที่ต้องการตรวจสอบมาตรฐานดังกล่าวประกอบไปด้วย อุปกรณ์ไฟฟ้า และอิเลคทรอนิคส์ทางไอที โทรคมนาคม อุปโภคบริโภค อุปกรณ์กีฬา เครื่องเล่น และเครื่องมือเครื่องใช้อัตโนมัติ
การปฏิบัติตามกฎข้อบังคับมิใช่งานที่ง่าย ดังที่เห็นได้จากกลุ่มชาวแคลิฟอร์เนียนที่รวมกลุ่มกันต่อต้านเพื่อสิ่งแวดล้อมได้รายงานว่าคอมพิวเตอร์ และจอมอนิเตอร์เก่าจำนวนกว่า 315 ล้านเครื่องเฉพาะในสหรัฐอเมริการะหว่างปี พ.ศ. 2530 ถึง 2547 เป็นแหล่งที่มาของตะกั่วกว่า 550,000 ตัน
การทดสอบ และอนุญาตตามมาตรฐานการตรวจสอบ RoHS คืองานหลักที่ห้องทดลอง เอส จี เอส ได้ดำเนินการด้วยอุปกรณ์คุณภาพ และเจ้าหน้าที่ผู้เชี่ยวชาญ เราทดสอบหาสารเคมีที่มีข้อกำหนดพิเศษสำหรับโรงงานผู้ผลิตอุปกรณ์ไฟฟ้า และอิเลคทรอนิคส์ ตั้งแต่ OEM, 1st Tier, 2nd Tier ตลอดจนถึงสาขาบริการย่อย เพื่อรับรองว่าผลิตภัณฑ์ และวัตถุดิบที่ใช้ได้มาตรฐานถูกต้องตามข้อกำหนด ลูกค้าคนสำคัญของเรา ได้แก่ โซนี มัตซูชิตะ เดลต้า มินนิแบ ซัมซุง แอลจี ไมโครซอฟท์ เอชพี 3เอ็ม เป็นต้น
ข้อมูลประชาสัมพันธ์ติดต่อ:
คุณ พัชรี และยาคุณ อัจฉรา ศิริประพนธ์โรจน์ บริษัท พิตอน คอมมิวนิเคชั่น จำกัด โทรศัพท์: 0.2612.2211-7 โทรสาร: 0.2612.2319
อีเมล์: patcharee@piton.biz , yathanee@piton.biz
ติอต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่:
คุณ ศุภมิตร จตุพรฆ้องชัยคุณ สุกัญญา ตั้งเรืองเกียรติบริษัท เอสจีเอส (ประเทศไทย) จำกัดโทรศัพท์: 0.2678.1813 ต่อ 1479
อีเมล์: sukanya.tangruangkiat@sgs.com www.sgs.com
สามารถคลิกดูภาพประกอบได้ที่ www.thaipr.net

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ