โรงพยาบาลราชวิถี จัดสัมภาษณ์พิเศษในหัวข้อ "ทำอย่างไรให้ห่างไกลโรคข้อเสื่อม"

ข่าวทั่วไป Friday April 28, 2006 15:58 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--28 เม.ย.--โทเทิล ควอลิตี้ พีอาร์
พร้อมให้ข้อมูล ความรู้ วิธีการป้องกันโรคข้อเสื่อมในผู้สูงอายุ และวิธีการรักษาเบื้องต้น รวมไปถึงการเผยแพร่วิวัฒนาการของการผ่าตัดเปลี่ยนข้อด้วยเทคนิคแผลขนาดเล็ก โดยศัลยแพทย์ออร์โธปิดิกส์ ผู้เชี่ยวชาญการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียมชนิดบาดแผลเล็ก จากโรงพยาบาลราชวิถี
น.พ. พรภวิษญ์ ศรีภิรมย์ ผู้เชี่ยวชาญการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียมชนิดบาดแผลเล็ก โรงพยาบาลราชวิถี จัดสัมภาษณ์พิเศษต่อสื่อมวลชนในหัวข้อเรื่อง "ทำอย่างไรให้ห่างไกลโรคข้อเสื่อม" ณ ห้องพักแพทย์ศัลยกรรม ตึกสิรินธร ชั้น 4 โรงพยาบาลราชวิถี เพื่อเผยแพร่ความรู้แก่ประชาชนทั่วไป โดยเฉพาะผู้ป่วยที่เป็นโรคข้อเสื่อม ซึ่งจะเป็นกันมากในผู้สูงอายุโดยเฉพาะเพศหญิง
ในปัจจุบัน ผู้ป่วยโรคข้อเสื่อมในประเทศไทยมีจำนวนสูงขึ้นมากกว่าหนึ่งหมื่นรายต่อปี ทั้งนี้ เนื่องมาจากการเสื่อมสภาพของร่างกายตามวัย น้ำหนักตัวที่เพิ่มขึ้น การออกกำลังกายที่ผิดวิธีซึ่งทำให้ข้อเข่าแบกรับน้ำหนักมากเกินไป เช่นการวิ่งระยะไกล การขึ้นลงบันไดบ่อยๆ การกระโดดหรือเต้นเพื่อออกกำลังกาย เป็นเหตุให้ข้อเสื่อมในวัยชรา ดังนั้น การให้ความรู้แก่ประชาชนในการป้องกันโรคข้อเสื่อม และการออกกำลังกายอย่างถูกวิธีจึงเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่ง เพื่อให้หลีกเลี่ยงกิจกรรมที่อาจส่งผลให้ข้อเข่าเสื่อมเร็วกว่าปกติ ผู้ป่วยจึงควรควบคุมน้ำหนัก และออกกำลังกายอย่างถูกวิธีเพื่อทำให้กล้ามเนื้อต้นขาแข็งแรง
สำหรับผู้ป่วยที่เป็นโรคข้อเสื่อม ปัจจุบันมีการรักษาอยู่หลายวิธี ไม่ว่าจะเป็นการทานยา ฉีดยาบำรุงผิวข้อ การส่องกล้องล้างข้อ ไปจนถึงการผ่าตัดเปลี่ยนผิวข้อเข่าเทียม ด้วยความก้าวหน้าของเทคโนโลยีการผ่าตัดในปัจจุบันทำให้การผ่าตัดเปลี่ยนผิวข้อเข่าเทียม ที่จากเดิมบาดแผลมีขนาดใหญ่ ซึ่งเป็นสาเหตุของการปวดหลังการผ่าตัด นอกจากนี้ผู้ป่วยต้องเสียเลือดขณะผ่าตัดในปริมาณมาก ต้องใช้เวลาพักรักษาตัวในโรงพยาบาลเป็นระยะเวลานานร่วม 10 วัน ซึ่งเป็นเหตุให้ผู้ป่วยเกิดความกังวลและกลัวการผ่าตัด แต่วงการแพทย์ปัจจุบันได้ก้าวหน้าไปกว่าเดิมมากทำให้เกิดนวัตกรรมใหม่แห่งการผ่าตัด ที่เรียกว่า การผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าชนิดเนื้อเยื่อบาดเจ็บน้อยหรือบาดแผลเล็ก - MIS TKA (Minimally Invasive Surgery for Total Knee Arthroplasty) เป็นเทคนิคการผ่าตัดวิธีใหม่ ซึ่งสามารถทำได้ทั้งการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเทียมทั้งข้อ หรือการเปลี่ยนข้อเทียมซีกเดียว และเมื่อเปรียบเทียบกับวิธีดั้งเดิมแล้ว วิธี MIS ทำให้เนื้อเยื่อบาดเจ็บน้อย แผลผ่าตัดมีขนาดเล็ก ผู้ป่วยฟื้นตัวได้เร็วกว่า เสียเลือดโดยรวมน้อย และนอนพักในโรงพยาบาลน้อยวันกว่า (โดยเฉลี่ยผู้ป่วยสามารถกลับบ้านได้ภายใน 4 วัน หลังจากผ่าตัด) ทำให้ผู้ป่วยสามารถกลับไปทำงานและทำกิจวัตรในชีวิตประจำวันได้เร็วขึ้น
นวัตกรรมใหม่นี้นับว่าเป็นคุณประโยชน์สำหรับผู้ป่วยที่เป็นโรคข้อเข่าเสื่อม และวงการแพทย์สาขาออร์โธปิดิกส์ (กระดูกและข้อ) การผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียมวิธีเนื้อเยื่อบาดเจ็บน้อย (MIS TKA) เป็นวิธีที่ได้ผลดีกว่าการผ่าตัดวิธีดั้งเดิมในแง่ของแผลผ่าตัดจะมีขนาดเล็กลง จากเดิมแพทย์ต้องเปิดปากแผลผ่าตัดประมาณ 8-10 นิ้ว แต่วิธีใหม่จะทำให้แผลผ่าตัดยาวเพียง 4-6 นิ้ว ซึ่งลดอาการบาดเจ็บของเนื้อเยื่อรอบเข่า และความเจ็บปวดหลังจากการผ่าตัด เสียเลือดจากการผ่าตัดน้อยลง รวมถึงแผลเป็นจะมีขนาดเล็กลงอีกด้วย มีผลทำให้คนไข้ฟื้นตัวและกลับไปใช้ชีวิตประจำวันตามปกติได้อย่างรวดเร็ว
นอกจากนี้ ข้อเทียมก็ได้รับการพัฒนาด้วยเช่นกัน ซึ่งจากเดิมผู้ป่วยที่ใส่ข้อเทียมแบบเดิมจะงอเข่าได้อย่างปลอดภัยที่ 110 องศา แต่ด้วยข้อเทียมแบบใหม่ที่มีความพิเศษ ซึ่งเรียกว่า “ข้อเทียมแบบ High Flex” จะช่วยรองรับการงอเข่าได้อย่างปลอดภัยถึง 155 องศา สะดวกต่อการทำกิจกรรมในชีวิตประจำวันของผู้สูงอายุ อาทิ การนั่งพับเพียบ นั่งสวดมนต์ ฯลฯ
“ปัจจุบัน ผู้ป่วยสูงอายุเป็นโรคข้อเสื่อมกันมาก วิธีการยืดอายุข้อจริงให้ใช้งานได้นานที่สุด เราก็ควรจะหลีกเลี่ยงกิจวัตรประจำวันที่ทำให้ข้อเข่าเกิดการกระแทก เช่น การวิ่งหรือกระโดดเป็นระยะเวลานาน การขึ้นลงบันไดบ่อยๆ และต้องควบคุมน้ำหนักตัว จึงจำเป็นที่ต้องให้ความรู้เพื่อให้ประชาชนรู้วิธีป้องกันการเป็นโรคข้อเสื่อม สำหรับผู้ป่วยที่เป็นโรคนี้ ในเบื้องต้นแพทย์จะรักษาโดยให้ทานยา ฉีดยา เพื่อยืดอายุการใช้งานของข้อธรรมชาติ ในกรณีที่ผู้ป่วยมีอาการข้อเสื่อมอย่างรุนแรง และยาแก้ปวดไม่สามารถบรรเทาอาการได้ แพทย์จะพิจารณาจากฟิล์มเอ็กซเรย์ข้อเข่าประกอบการวินิจฉัย และตัดสินใจเลือกการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเป็นวิธีสุดท้าย เราจึงจำเป็นต้องอธิบายถึงวิวัฒนาการความก้าวหน้าของการผ่าตัดแบบแผลเล็กให้กับคนไข้เข้าใจว่าการผ่าตัดแบบใหม่นี้จะลดการบาดเจ็บของเนื้อเยื่อรอบข้อ เสียเลือดน้อย รวมทั้ง แผลเป็นก็เล็กลงกว่าเดิมมาก และด้วยความพิเศษของข้อเทียมแบบใหม่ ซึ่งถูกออกแบบให้รองรับการงอเข่ามากๆ จึงเหมาะกับคนไทย ข้อเข่าเทียมที่ใส่ทดแทนจะมีอายุการใช้งานประมาณ 15-20 ปีโดยเฉลี่ย ส่วนภาวะแทรกซ้อนก็มีแต่ไม่มาก” น.พ. พรภวิษญ์ ศรีภิรมย์ ผู้เชี่ยวชาญการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียมชนิดบาดแผลเล็ก โรงพยาบาลราชวิถี กล่าว “หากถามว่าเราจะรู้ได้อย่างไรว่าเริ่มเป็นโรคข้อเสื่อม อาการที่เป็นสัญญาณบอก คือจะมีอาการปวดบวมและตึงข้อเข่า เมื่อลงน้ำหนักหรือเดินจะรู้สึกปวดอย่างรุนแรง บางรายขาเริ่มโก่งงอ หรือผิดรูป จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องมาพบแพทย์เพื่อทำการรักษาต่อไป”
เมื่อนำการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าชนิดเนื้อเยื่อบาดเจ็บน้อย หรือ MIS TKA (Minimally Invasive Surgery for Total Knee Arthroplasty) ผนวกกับการใช้ข้อเข่าเทียมชนิดพิเศษแบบ High Flexion TKA ซึ่งสามารถรองรับการงอเข่าได้อย่างปลอดภัยถึง 155 องศา ยิ่งเป็นการเสริมให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น และสามารถทำกิจกรรมต่างๆ ได้สะดวกใกล้เคียงปกติมากที่สุด และช่วยยืดอายุการใช้งานของข้อเข่าเทียม
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมติดต่อ
ฤทัยวรรณ ตันวงษ์วาน / ธนิตศักดิ์ พิทักษ์สินากร
ที่ปรึกษาด้านประชาสัมพันธ์
บริษัท โทเทิล ควอลิตี้ พีอาร์ (ประเทศไทย) จำกัด
โทร 0-2260-5820 ต่อ 114, 0-6633-8171
โทรสาร 0-2260-5848 อีเมล์ tqprthai@tqpr.com
หรือ คุณสิริรัตน์ จันทวงษ์วาณิชย์
บริษัท ซิมเมอร์ เมดิคัล (ประเทศไทย) จำกัด
โทร. 0-2220-9000 ต่อ 1286, 0-1904-0021
โทรสาร. 0-2226-6526 อีเมล์ sirirat.jantavongvanich@zimmer.com
สามารถคลิกดูภาพประกอบได้ที่ www.thaipr.net

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ