เด็กติดเกม ปัญหาหนักใจของพ่อแม่ยุคไอที!!

ข่าวเทคโนโลยี Friday November 17, 2006 10:24 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--17 พ.ย.--แม็กซิม่า คอลซัลแตนท์
หาก “เกม” ตามความหมายพจนานุกรม หมายถึง การแข่งขันที่มีกำหนดกติกาและให้ความสนุก ทว่า “เกม” บางเกมอาจสร้างเสริมให้ความสนุกอยู่นอกเหนือกฎกติกา โดยเฉพาะเกมคอมพิวเตอร์ทั้งแบบออนไลน์และออฟไลน์ที่พร้อมเสมอที่จะเข้าถึงผู้เล่นในทุกหนทุกแห่ง ปัจจุบันเด็กไทยจำนวนไม่น้อยที่ตกเป็นทาสของเกมคอมพิวเตอร์ ยากจะรักษา ร้อนถึงหัวอกคนเป็นพ่อเป็นแม่ที่ดิ้นรนหาทุกวิถีทางที่จะดึงให้ลูกกลับมาเป็นลูกที่รักของตนคนเดิม เหตุใดเกมจึงทรงอิทธิพลต่อเด็ก แท้จริงนั้นเกมมีประโยชน์หรือโทษกันแน่ และทำอย่างไรถ้าลูกของคุณติดเกม นพ.บัณฑิต ศรไพศาล ผู้อำนวยการสถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์ มีคำตอบในการเสวนา “เด็กติดเกม : เกมที่ผู้ใหญ่ต้องแก้” จัดโดย อุทยานการเรียนรู้ (ทีเค ปาร์ค) ณ ศูนย์การเรียนรู้เอนกประสงค์ เมื่อวานก่อน
นพ.บัณฑิต ศรไพศาล กล่าวว่า “ทุกวันนี้เทคโนโลยีก้าวเข้ามาแทนกิจกรรมอื่นๆ จากอดีตเด็กจะสนุกสนานกับการได้เล่นกับเพื่อน แต่ปัจจุบันเด็กมีความสุขที่ได้อยู่กับโทรทัศน์ ดูการ์ตูน มีภาพสวยๆ ที่คอยเคลื่อนไหวดึงดูดใจ ดูซีดีหรือดีวีดีที่สามารถเปิดชมเมื่อไรก็ได้ ต่อไปเมื่อเด็กรู้จักใช้คอมพิวเตอร์ สื่อที่มีทุกอย่างเหมือนโทรทัศน์และสามารถเปิดเครื่องเมื่อไรก็ได้เช่นซีดีหรือดีวีดี เขาก็จะรู้จักการเล่นเกม และมองว่าเกมให้ความสนุกสนานเพลิดเพลินเพราะเนรมิตโลกจินตนาการใบใหญ่ วันนี้เขาสามารถเป็นอะไรก็ได้ ทำอะไรก็ได้ตามใจปรารถนา และสามารถรีสตาร์ตเกมเริ่มใหม่ได้เมื่อแพ้ เหล่านี้เด็กไม่สามารถทำได้ในสังคมแห่งความเป็นจริง สิ่งสำคัญกว่านั้นคือเกมเป็นเสมือนเครื่องมือในการแสวงหาความภาคภูมิใจในตนเอง เมื่อชนะเขาจะรู้สึกประสพความสำเร็จ ได้รับรางวัลจากเกม ได้รับการยอมรับและได้รับการยกย่องจากกลุ่มเพื่อนทั้งเพื่อนจริงและเพื่อนในโลกไซเบอร์”
“จะว่าไปประโยชน์ของการเล่นเกมก็มีหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นการทำให้เกิดความเพลิดเพลิน สนุกสนาน คลายเครียด หรือทำให้เกิดความภาคภูมิใจเมื่อประสพความสำเร็จ สามารถเอาชนะตามเงื่อนไข ตามขั้นตอนต่างๆที่กำหนดในเกมนั้นๆ หรือเด็กอาจพัฒนาความตั้งใจ ความมุ่งมั่นในการทำภารกิจบางอย่างให้ประสพความสำเร็จ แต่ความมุ่งมั่นนี้ก็มีข้อเสียคืออาจเรียกได้ว่าเป็นความมุ่งมั่นจอมปลอม เพราะเป็นเพียงความพยายามที่อยู่บนความสบาย ไม่ได้เป็นการต่อสู้กับความยากลำบากเพื่อความสำเร็จที่แท้จริง ในทางกลับกันการเล่นเกมหรือการใช้อินเตอร์เน็ตนานๆ จะส่งผลกระทบหรือโทษได้หลายประการ อาทิ โทษต่อสุขภาพกาย เช่น แสบสายตา, ปวดกระดูกข้อมือและหลัง, อดนอน ตื่นสาย เพลีย ง่วงในช่วงเวลาเรียน, โทษต่อสุขภาพจิต เช่น เกิดความขัดแย้งในจิตใจภายในหรือขัดแย้งกับผู้คนรอบข้างได้, เคยชินกับการได้ดังใจ เพราะเกมสั่งได้ บังคับได้, ไม่มีวินัย ไม่มีการบังคับควบคุมตนเอง ไม่สนใจทำอย่างอื่นที่สำคัญจำเป็น, โทษต่อสังคมหรือทักษะทางสังคมของเด็ก เช่น เด็กจะเห็นเพื่อนเป็นศัตรูของความสนุกสนาน ทั้งๆ ที่การละเล่นในอดีตเพื่อนคืออุปกรณ์การเล่น เด็กหลายคนเกิด
ความรู้สึกไม่อยากคบเพื่อน ทำให้ขาดทักษะทางสังคม แม้เด็กที่อ้างว่าการเล่นเกมคอมพิวเตอร์ โดยเฉพาะเกมออนไลน์ จะทำให้ได้เพื่อน แต่ว่าความสัมพันธ์ออนไลน์นั้นเป็นความสัมพันธ์ในโลกที่ไม่มีอยู่จริง เป็นโลกที่ถูกอุปโลกน์ขึ้น คนที่คุยกันไม่จำเป็นต้องเปิดเผยตัวตนที่แท้จริงต่อกัน และอาจรุ่นแรงถึง โทษต่อการผลิตผลงานของชีวิต เช่น สอบตก เสียการเรียน เสียความสัมพันธ์กับคนในครอบครัว หรือ อาจถึงขั้นเสียผู้เสียคนจากการมีพฤติกรรมอันธพาล ขโมยเงิน มั่วสุมเล่นการพนัน ใช้ยาเสพติด หรือมีเพศสัมพันธ์ที่ไม่เหมาะสม เป็นต้น” นพ.บัณฑิต ศรไพศาล กล่าว
ในงานเสวนายังมี กลิ้ง — ศุภเกียรติ แสงจงเจริญ อดีตเด็กติดเกมมาเผยถึงชีวิตในช่วงเวลานั้นว่า “ผมเริ่มเล่นเกมจากเกมกดเป็นครั้งแรก แล้วค่อยพัฒนามาเป็นเกมวีดีโอ เรื่อยมาจนมาเป็นแผ่นซีดี โดยเล่นมาตั้งแต่ 4 — 5 ขวบ พอถึงระดับมหาวิทยาลัยก็พัฒนามาสู่เกมคอมพิวเตอร์ เคยเล่นนานที่สุดถึง 4 วันติดต่อกันโดยกินนอนอยู่ที่ร้านเกมเลย ปกติจะไปเล่นที่ร้านเกม โดยเล่นตั้งแต่ 5 โมงเย็นไปจนถึง 9 โมงเช้าของอีกวัน ไม่ค่อยได้เจอหน้าพ่อแม่และครอบครัวเท่าไรนัก ผมติดเกมหนักเข้าก็ไม่เข้าเรียน กลุ่มเพื่อนก็จะเปลี่ยนจากในมหาวิทยาลัยไปเป็นกลุ่มเพื่อนที่ร้านเกมแทน จากการเล่นทุกวันวันละหลายๆ ชั่วโมง ก็จะเริ่มมีปัญหาเรื่องเงินที่จะมาเล่น จนต้องใช้วิธีการหาเงินโดยเอาของรางวัลต่างๆ ที่เล่นได้จากเกม มาแลกเปลี่ยนซื้อขายกันในเกมโดยจ่ายเงิน เหมือนเป็นการพนัน ผมเคยขายของรางวัลในเกมได้มากสุด 30,000 บาท แต่ต้องแลกกับการนั่งเล่นเกมหน้าคอมพิวเตอร์ 16 ชั่วโมง จุดเปลี่ยนที่ทำให้เลิกติดเกมเพราะว่าถูกให้ออกจากมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงอย่างกะทันหันตอนอยู่ปี 3 วันนั้นผมรู้สึกว่าทุกอย่างมันแย่มาก นั่นเป็นเพราะว่าผมไม่มีความรับผิดชอบในชีวิตของตนเอง ไม่รับผิดชอบในหน้าที่ที่ได้รับ จนต้องเสียอนาคต ที่สำคัญผมได้ทำให้พ่อแม่ที่รักผมต้องเสียใจ”
สำหรับคุณแม่ที่มีลูกติดเกม จินตนา เจริญศุข หรือคุณแม่เจี๊ยบ เผยว่า “เริ่มต้นให้ลูกรู้จักคอมพิวเตอร์เพราะต้องการฝึกทักษะพื้นฐานเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ โดยให้ลูกเรียนตั้งแต่ลูกอยู่ชั้นอนุบาล 3 สักพักก็เริ่มเล่นเกม โดยเกมต่างๆ บางครั้งแม่เองก็ซื้อให้บ้าง คนอื่นๆ ซื้อให้บ้าง ลูกก็เล่นไปเรื่อยจนเขาพัฒนา เราก็ไว้ใจไม่ได้เข้าไปดูแล จนชั้นป.4 จากที่เคยเรียนดีเกรดเฉลี่ยก็เริ่มตกลงมา ตอนแรกเคยเข้าใจว่าสาเหตุอาจมาจากวิชาเรียนที่ยากขึ้น เลยพาลูกไปติวเรียนพิเศษเพิ่มในตอนชั้นป.5 พอหลังจากที่เขาไปเรียนพิเศษกลับมาบ้าน เขาจะขออนุญาตเล่นเกม เราก็ให้เขาเล่นตั้งแต่ครึ่งวันบ่ายจนถึงเย็น และที่ทำให้รู้สึกว่าลูกเริ่มเปลี่ยนไปคือ ในขณะที่เขากำลังเล่นเกมอยู่ พอน้องสาวเข้าไปใกล้ก็จะโดนรังแกกลับมา ทะเลาะกัน ตีกัน พฤติกรรมเริ่มก้าวร้าวขึ้นอย่างเห็นได้ชัด วันหนึ่งแม่พาเขาไปที่ทำงาน เขาก็ไปนั่งเล่นคอมพิวเตอร์ พอเจ้าของเครื่องเขาต้องการจะใช้เครื่องทำงานบ้าง ลูกก็ตวาดใส่ผู้ใหญ่คนนั้น เรารู้สึกว่าลูกเราเริ่มใช้ไม่ได้ จนมาวันหนึ่งมีแผ่นพับเกี่ยวกับการบำบัดลูกติดเกมวางอยู่ที่โต๊ะ ก็เลยอ่านดูเขาแนะนำให้พาลูกไปเข้าคอร์สบำบัด โดยให้ทั้งครอบครัวได้มีส่วนร่วมทำกิจกรรมด้วยกัน พร้อมๆ กับสอนให้รู้เท่าทันเกมพวกนี้ หลังๆ เขาก็ดีขึ้นจนตอนนี้เขาก็รู้ว่าต้องแบ่งเวลาเล่นเกมแค่ไหน ต้องทำหน้าที่อะไร และรับผิดชอบสิ่งไหนที่สำคัญและเกิดประโยชน์กับตน”
คุณหมอยังเสริมถึงเกณฑ์การวินิจฉัยอย่างง่ายว่าเด็กในความดูแลติดเกมหรือไม่ พ่อแม่สามารถดูได้จากกลุ่มอาการ 4 กลุ่ม ดังนี้ 1.กลุ่มอาการแสวงหาการเล่น คือ จะเล่นไม่ว่าจะเป็นเช้า สาย บ่าย ดึก เล่นตลอดคืน หรือ ตื่นขึ้นมาเล่นตอนดึก วันหยุดเสาร์อาทิตย์ ปิดเทอม ว่างเมื่อไรก็จะเล่น ไม่ว่าจะเป็นที่บ้านหรือที่ร้านอินเตอร์เน็ต ไม่เว้นแม้ช่วงใกล้สอบ 2. กลุ่มอาการชินชากับการเล่น ได้แก่ การที่ต้องเล่นนานขึ้นจึงจะสนุกเป็นที่พอใจ 3.กลุ่มอาการขาดการเล่นไม่ได้ ได้แก่ เด็กรู้สึกหงุดหงิดก้าวร้าวหรือหงอยเหงาหากไม่ได้เล่นเกม หรือพยายามเลิกหลายครั้งแต่เลิกไม่ได้ แม้รู้ว่าไม่ดีหรือถูกตำหนิจากคนรอบข้าง 4.กลุ่มอาการเสียการทำหน้าที่หลัก ได้แก่ เสียการเรียน เสียมนุษยสัมพันธ์กับคนรอบข้าง ตลอดจนการมีพฤติกรรมที่เป็นปัญหาแทรกซ้อนถ้ามีลักษณะพฤติกรรมอาการทั้ง 4 กลุ่มนี้ ให้สงสัยว่าน่าจะเข้าข่ายติดเกม โดยคุณหมอได้แนะนำ 10 ปฏิบัติในการดูแลช่วยเหลือเด็กติดเกม 1.สร้างวินัยและความรับผิดชอบตั้งแต่ยังเล็ก ให้เป็นนิสัยที่ติดตัวเด็กไปจนโต เช่น ให้เด็กกวาดบ้าน หุงข้าว เป็นต้น เพื่อให้เด็กรู้จักความรับผิดชอบในหน้าที่ 2.ลดโอกาสการเข้าถึงคอมพิวเตอร์และอินเตอร์เน็ต พ่อแม่ควรเลี่ยงเอาคอมพิวเตอร์มาวางไว้กลางบ้านแทนที่จะเป็นห้องส่วนตัวของลูกเพื่อใครผ่านไปมาก็เห็นจะได้ดูแลและระวังได้ 3.ใช้มาตรการทางการเงิน เมื่อเด็กมีเงินมากก็จะเล่นเกมคอมพิวเตอร์มาก เมื่อมีน้อยก็จะเล่นได้น้อย พ่อแม่ต้องพยายามให้ลูกบริหารจัดการเงินรายรับ-รายจ่ายของตนให้ได้ 4.ในครอบครัวควรฟังและพูดด้วยดีต่อกัน เพราะคำพูดที่ดีย่อมเป็นคำพูดที่จรรโลงใจ ใครได้ฟังก็ไม่มีเบื่อ หลีกเลี่ยงการดุด่าว่ากล่าว เพราะจะทำให้เกิดช่องว่างระหว่างกันกับเด็ก 5.ชื่นชมให้กำลังใจ มองหาข้อดีในตัวลูกแทนการหาข้อตำหนิ แม้เรื่องเล็กๆ น้อยๆ ก็ควรชื่นชม เพื่อให้ลูกมีกำลังใจที่จะทำดีต่อไป 6.ร่วมกำหนดกติกาอย่างเป็นรูปธรรม ตอนลูกเด็กๆ เราสามารถสั่งเขาได้ แต่เมื่อเขาโตมาพ่อแม่ต้องเปลี่ยนวีธี จากการสั่งเป็นการเจรจา หาจุดกึ่งกลางที่จะเจอกัน เช่น ต่อรองเวลาเล่นเกมของลูกว่าเล่นได้เมื่อทำการบ้านเสร็จ เป็นต้น 7.มีทางออกที่สร้างสรรค์ให้เด็ก จิตวิทยามนุษย์ชอบการถูกยอมรับ ชอบความภาคภูมิใจในตนเอง ซึ่งเกมสามารถทำให้เขารู้สึกเช่นนั้นได้ ดังนั้น ครอบครัวต้องดึงเขามาสู่กิจกรรมใหม่ๆ เช่น กีฬา ดนตรี เป็นต้น ตลอดจนผลักดันให้เขาค้นพบความภาคภูมิใจและการยอมรับจากสังคม 8.สร้างรอยยิ้มเล็กๆ ในครอบครัว พ่อแม่จัดการบรรยากาศโดยรวมของบ้านให้มีปฏิสัมพันธ์กัน ยิ้มต่อกัน ชมลูกเมื่อลูกทำดี 9.การควบคุมอารมณ์และการสร้างความสุขเล็กๆ ในใจของพ่อแม่เอง พ่อแม่ควรมองตัวเองในแง่ดี รวมทั้งมองมิติอื่นที่ประสพความสำเร็จในชีวิตบ้าง อย่าคิดว่าการเป็นเจ้าของทรัพย์สินล้นฟ้าจะบันดาลครอบครัวให้อบอุ่นและมีความสุข 10. สุดท้ายเริ่มต้นการเปลี่ยนแปลงที่ตัวเรา...ทันที”
ที่สุดแล้วคุณหมอได้เน้นย้ำว่า สถาบันครอบครัว คือ เกราะป้องกันอันเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญของการดูแลเอาใจใส่และแนะนำในสิ่งที่ถูกที่ควรให้แก่เด็กๆ พร้อมทั้งเป็นสถานที่รักษาและบำบัดเด็กติดเกมที่ดีที่สุดอย่างหาที่เปรียบมิได้เพราะพรั่งพร้อมไปด้วยยาวิเศษขนานต่างๆ ครอบครัวที่อบอุ่นและเต็มไปด้วยความรักย่อมทำให้เด็กอยากติดมากกว่าเกม...คุณล่ะ? กอดลูกครั้งสุดท้ายเมื่อไร!!
หากต้องการข้อมูลเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ
บริษัทแม็กซิม่า คอลซัลแตนท์ จำกัด โทร 0-2434-8300
คุณสุจินดา, คุณแสงนภา, คุณปิติยา

แท็ก ขันที   ไอที  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ