กรุงเทพฯ--4 ก.ค.--พิตอน คอมมิวนิเคชั่น
บริษัท เอสจีเอส (ประเทศไทย) จำกัด โดยคุณประดิษฐ์ ยงค์พันธ์ชัย ผู้จัดการฝ่ายทดสอบทางห้องปฎิบัติการและสินค้าอุปโภคบริโภค ร่วมกับ บริษัท เอสจีเอส ประเทศญี่ปุ่นโดย มร. ซุยอิชิ อิสอิ ที่ปรึกษาด้านเทคนิคการอาหาร ซึ่งเป็นผู้ชำนาญด้านกฎหมายและการตรวจสอบอาหารของญี่ปุ่นมาเป็นผู้ให้ความรู้ในการจัดอบรมพิเศษ“Positive List System” ซึ่งเป็นกฎหมายใหม่ของกระทรวงสาธารณะสุข แรงงานและสวัสดิการญี่ปุ่น การจัดอบรมครั้งนี้เพื่อเป็นการให้ความรู้และให้รายละเอียดเกี่ยวกับมาตรฐานและกฎหมาย Positive List System รวมไปถึงการเฝ้าระวังในส่วนของการปนเปื้อนและสารต้องห้ามต่างๆ ที่ประเทศญี่ปุ่นควบคุมอยู่ และเป็นการเตรียมความพร้อมให้กับผู้ที่จะส่งออกผลิตภัณฑ์สินค้าอาหารไทยเข้าไปในประเทศญี่ปุ่น โดยการจัดอบรมพิเศษครั้งนี้มีผู้ให้ความสนใจทั้งเจ้าหน้าที่ฝ่ายไทยและตัวแทนจากญี่ปุ่นกว่า 200 ท่าน
Positive List System ระเบียบใหม่ของญี่ปุ่นที่ไม่อาจหลีกเลี่ยง
Food Sanitation Law ถือเป็นกฎหมายที่กระทรวงสาธารณะสุข แรงงานและสวัสดิการญี่ปุ่นใช้เป็นกฎหมายหลักในการควบคุมทั้งด้านคุณภาพและความปลอดภัยของสินค้าอาหาร กฎหมายฉบับดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนความปลอดภัยด้านอาหารของญี่ปุ่น ซึ่งจากการปรับปรุงกฎหมาย Food Sanitation Law ได้มีการปรับเปลี่ยนระบบรายการมาตรฐานสารเคมี สารเพิ่มเติมในอาหารสัตว์รวมไปถึงยาปฎิชีวนะชนิดต่างๆ ที่อนุญาตให้มีในอาหารจากระบบเดิมที่เรียกว่า Negative List System มาเป็นระบบใหม่คือ Positive List System
สารเคมีที่ญี่ปุ่นอนุญาตและไม่อนุญาตให้ใช้
สารเคมีที่ญี่ปุ่นอนุญาตให้ใช้ตามระบบ Positive List มีอยู่ด้วยกัน 65 รายการโดยส่วนใหญ่เป็นแร่ธาตุและวิตามินที่มีความปลอดภัยต่อร่างกาย ส่วนสารเคมีที่ทางญี่ปุ่นไม่อนุญาตให้ใช้ในระบบ Positive List คือสารเคมีที่ใช้ในการเกษตรและสารปฎิชีวนะที่มีอยู่ด้วยกัน 15 รายการได้แก่ 2, 4, 5-T, Azocyclotin and Cyhexatin, Amitrol , Captafol, Carbadox, Coumaphos, Chloramphenicol, Chlorpromazine, Diethylstilbestrol, Dimetridazole, Daminozide, Nitrofuran, Propham, Metronidazole, Ronidazole
Positive List System กับผลกระทบต่อการส่งออกอาหารไทย
กลุ่มสินค้าส่งออกของไทยที่ได้รับผลกระทบ ส่วนใหญ่แล้วเป็นสินค้าที่ผลิตจากวัตถุดิบทางการเกษตร และผักผลไม้สด คุณประดิษฐ์ กล่าวว่า Positive List System มีผลกระทบต่อการตรวจสอบของเอสจีเอสบ้างเนื่องจากวิธีการวิเคราะห์ที่ทางญี่ปุ่นกำหนดจะต้องเป็นวิธีเฉพาะที่ระบุไว้ ซึ่งทางเอสจีเอสเองได้ทำการขยายขีดความสามารถเพื่อรองรับในการให้บริการด้านการตรวจสอบยาฆ่าแมลง และยาสัตว์มากขึ้น ให้สามารถเป็นทางเลือกหนึ่งสำหรับลูกค้า ส่วนผู้ผลิตและผู้ส่งออกสินค้าอาหารไทยควรต้องตื่นตัวและทำความเข้าใจระบบใหม่ที่ญี่ปุ่นจะบังคับใช้กับสินค้าอาหารนำเข้าอย่างเข้มข้น โดยควรต้องกลับมาพิจารณาในตัวสินค้าของตนว่ามีการใช้สารเคมีทางการเกษตรสารปฎิชีวนะและสารชนิดอื่นๆ ที่ญี่ปุ่นไม่อนุญาตให้ใช้หรือไม่และควรต้องนำรายการสารเคมีทางการเกษตร ยาปฎิชีวนะและสารเพิ่มเติมอาหารสัตว์จำนวน 799 รายการที่ญี่ปุ่นกำหนด MRLs ไว้มาประกอบการพิจารณาก่อนตัดสินใจซื้อวัตถุดิบเข้าสู่โรงงานและควรตรวจสอบสินค้าในระหว่างการผลิตและก่อนการส่งออกทุกครั้งอีกด้วย
คุณประดิษฐ์กล่าวเพิ่มเติมว่าการอบรมพิเศษครั้งนี้ถือว่าประสบความสำเร็จเนื่องจากมีผู้ให้ความสนใจเข้าร่วมทั้งเจ้าหน้าที่ฝ่ายไทยและตัวแทนจากญี่ปุ่นกว่า 200 ท่าน
สามารถคลิกดูภาพประกอบได้ที่ www.thaipr.net