กทช. โชว์บทบาทและหน้าที่ในงาน ITU Telecom Asia 2008 จัดนิทรรศการ “Bridging the Future” ครั้งยิ่งใหญ่

ข่าวเทคโนโลยี Thursday September 4, 2008 11:21 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--4 ก.ย.--พับบลิค ฮิต
กทช. โชว์บทบาทและหน้าที่ในงาน ITU Telecom Asia 2008 จัดนิทรรศการ “Bridging the Future” ครั้งยิ่งใหญ่ เชื่อมโยงการสื่อสารในสังคมไทย สู่มิติใหม่โลกอนาคต 2-5 ก.ย. นี้ ที่อิมแพคเมืองทองธานี
กทช. ร่วมประกาศศักยภาพอันยิ่งใหญ่ในงาน ITU Telecom Asia 2008 ผ่านนิทรรศการ “Bridging the Future” นำเสนอประวัติการสื่อสารไทย ตั้งแต่แรกเริ่มก่อนจะมาเป็น กทช.ในปัจจุบันตลอดจนผลการดำเนินงานและความภาคภูมิใจ ผ่านสื่อล้ำสมัยไฮเทค พร้อมเปิดตัว “NTC Ambassador” ที่จะพาไปชมไฮเทคพาวิลเลี่ยน “Bridging the Future” เชิญชวนประชาชนผู้สนใจเข้าชมและร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการก้าวเดินไปในโลกการสื่อสาร ในวันที่ 5 กันยายน 2551 นี้ ที่ ชาเลนเจอร์ เมืองทองธานี
คณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทช.) ร่วมจัดแสดงงานนิทรรศการครั้งยิ่งใหญ่ “Bridging the Future” นำเสนอประวัติความเป็นมาและพันธกิจของ กทช.ที่มุ่งมั่นรับใช้สังคมไทยในฐานะหน่วยงานบริหารทรัพยากรโทรคมนาคมและกำกับดูแลกิจการโทรคมนาคม ผ่านสื่อมัลติมีเดียและเทคโนโลยีอันล้ำสมัยตระการตา ซึ่งจัดขึ้นภายในงาน “International Telecommunication Union (ITU) Telecom Asia 2008” งานแสดงนวัตกรรมเทคโนโลยีโทรคมนาคมที่ใหญ่สุดแห่งปี ระหว่างวันที่ 2-5 กันยายน 2551 ณ ที่ ชาเลนเจอร์ 2 เมืองทองธานี ซึ่งสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงพระกรุณาเสด็จพระราชดำเนินไปทรงเป็นประธานเปิดงานเมื่อวันที่ 1 กันยายน ที่ผ่านมา
งานนิทรรศการในครั้งนี้ยังมี จอห์น รัตนเวโรจน์ ศิลปินและพิธีกรหนุ่มผู้มีความเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีการสื่อสาร มารับหน้าที่เป็น “NTC Ambassador” ทำหน้าที่ให้ข้อมูลเกี่ยวกับพันธกิจและผลงานของ กทช. รวมทั้งชักชวน 7หนุ่ม-สาวรุ่นใหม่ยุคไอที จากคณะนิเทศศาตร์ หลักสูตรนานาชาติ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มาเป็น “พาวิเลียน แอมบาสเดอร์” คอยต้อนรับและให้ข้อมูลเกี่ยวกับเนื้อหาของนิทรรศการ
รศ.สุธรรม อยู่ในธรรม กรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ กล่าวถึงความสำคัญในการจัดงานครั้งนี้ว่า "เนื่องจากการสื่อสารโทรคมนาคมในยุคนี้เปลี่ยนแปลงไปมาก ไม่ว่าจะด้านเทคโนโลยีหรือบทบาทของผู้เกี่ยวข้อง ทั้งด้านภาครัฐและภาคเอกชน สำหรับในภาคเอกชนเน้นที่การแข่งขันเพราะมีผู้เข้ามาในตลาดนี้มากขึ้น ส่วนในภาครัฐได้เปลี่ยนบทบาทจากผู้ลงทุนมาเป็นผู้กำกับดูแลจากที่เห็นได้ในอดีตรัฐบาลหรือรัฐวิสาหกิจเป็นผู้ลงทุนหรือควบคุม ในปัจจุบันมีการปล่อยให้ภาคเอกชนและตลาดเป็นตัวกำหนดแนวทางและทิศทางในการให้บริการ ทิศทางการเจริญเติบโตของการโทรคมนาคม การเปลี่ยนแปลงนี้เกิดขึ้นทั่วโลก ไม่เฉพาะประเทศไทย”
“งานนี้นับเป็นกิจกรรมที่มีการเข้าร่วมในวงการระหว่างประเทศ เพราะฉะนั้นการจัดงานในครั้งนี้ถือเป็นเวทีสำคัญที่ผู้เกี่ยวข้องจะได้มาแลกเปลี่ยนประสบการณ์ร่วมกันทุกฝ่าย ทั้งผู้ประกอบการ ผู้ผลิตและภาครัฐที่กำกับดูแล”
“ปกติการจัดงานแบบนี้จะมีการแข่งและแย่งกันจัดมาก และถ้าเราต้องรอจัดสรรคิวตามลำดับอักษรให้ได้จัดงานแบบนี้คงต้องรอคิวประมาณ 150 ปี แต่ครั้งนี้ประเทศไทยได้รับความไว้วางใจจากองค์กรระหว่างประเทศและผู้อยู่ในวงการสื่อสารโทรคมนาคมระหว่างประเทศ ฉะนั้นจึงนับเป็นเกียรติอย่างมากที่ได้จัดงานนี้และมีแขกมาเยือนทั้งจากภูมิภาคนี้และภูมิภาคอื่น”
“จะเห็นได้ว่าประเทศไทยเป็นประเทศที่น่าเข้ามาลงทุน เพราะเรามีอัตราการขยายตัวในด้านต่างๆเป็นอย่างดีและต่อเนื่อง อย่างเช่น ด้านโทรศัพท์เคลื่อนที่เรามีอัตราขยายตัวใหญ่เป็นอันดับที่ 2 ของเอเซียรองจากประเทศจีน ทั้งๆ ที่สถานการณ์ทางการเมืองมีการเปลี่ยนแปลงบ่อยๆ แต่เพราะเรามีกฎเกณฑ์การบริหารโทรคมนาคมที่แน่นอน คงเส้นคงวา และเป็นธรรม มีการเปิดเสรี โดยเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการรายใหม่เกิดขึ้นได้และแข่งขันอย่างเป็นธรรม โดยไม่ต้องรอรับนโยบายทางการเมือง ด้วยเหตุนี้ เค้าจึงมั่นใจให้เราจัดงานนี้"
แนวความคิดหลักของนิทรรศการ “Bridging the Future” นี้สื่อความหมายถึงการทำงานและการกำกับดูแลของ กทช. ที่เป็นเสมือนสะพานทอดไปสู่อนาคต และเป็นการเชื่อมโยงประเทศไทยกับนานาประเทศเข้าด้วยกัน เพื่อสร้างความสัมพันธ์ทางการลงทุนที่ยืนยาวต่อไป ซึ่งจะนำความก้าวหน้ามาสู่ประเทศและความผาสุกของผู้บริโภค ด้วยการจัดการทรัพยากรสื่อสารแห่งชาติที่เป็นสาธารณะให้เกิดประโยชน์สูงสุด อีกทั้งประเทศไทยยังมีความพร้อมและศักยภาพที่ประเทศอื่นๆ ไม่มีเนื่องจากมีโครงสร้างพื้นฐานทางการสื่อสารโทรคมนาคมที่ดีที่จะก้าวไปสู่อนาคตได้อย่างมั่นคงและมีประสิทธิผลที่ดี รวมทั้งการมีระบบกฎหมายและความยุติธรรมที่เป็นมาตรฐานแน่นอน เป็นธรรมและที่ยงตรง
สำหรับนิทรรศการ “Bridging the Future” นี้ สัมผัสแรกที่ผู้เข้าชมงานจะได้พบคือบูธนิทรรศการที่ตั้งโดดเด่นอยู่ทางซ้ายมือของทางเข้างาน ITU Telecom Asia 2008 ได้รับการเนรมิตให้เป็นโครงสร้างทรงสี่เหลี่ยมสีขาวขนาดใหญ่เรืองแสงสื่อถึงความล้ำสมัย บริเวณทางเข้าได้รับการออกแบบให้มีลักษณะเป็น Wave Tunnel อันตื่นตาตื่นใจดึงดูดให้ผู้ชมเดินเข้าไปชมเรื่องราวและกิจกรรมภายใน
เมื่อผ่านเข้ามาด้านในผู้ชมก็จะพบกับเนื้อหาของนิทรรศการที่นำเสนอในรูปแบบทันสมัยตระการตา ซึ่งถูกจัดแบ่งเป็น 3 โซน
โซนแรกนำเสนอเรื่องราวเชิงประวัติศาสตร์ที่เกี่ยวเนื่องกับพัฒนาการทางการสื่อสารโทรคมนาคมของประเทศไทย ในรูปแบบของ Historical Timeline เช่น
พ.ศ. 2418 “กำเนิดการโทรเลขไทย” โดยพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 5 โปรดให้สร้างระบบโทรเลข ภายใต้การดูแลของกระทรวงกลาโหม และได้ทำการวางสายโทรเลขสายแรก คือ สายกรุงเทพฯ-สมุทรปราการ ความยาว 45 กิโลเมตร
พ.ศ. 2426 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ตั้ง “กรมโทรเลข” เมื่อเปิดให้บริการโทรเลขสายตะวันออก (กรุงเทพฯ-ไซ่ง่อน) แก่ประชาชนเป็นครั้งแรก และถือเป็นโทรเลขสายแรกของไทยที่สามารถติดต่อกับต่างประเทศได้โดยตรง และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สถาปนา “กรมไปรษณีย์” โดยมีที่ทำการไปรสะนียาคารแห่งแรก ที่ ปากคลองโอ่งอ่าง
21 เมษายน พ.ศ. 2426 สยามได้เข้าเป็นสมาชิก สหภาพโทรเลขระหว่างประเทศ หรือ สหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ ในปัจจุบัน (International Telecommunications Union : ITU)
พ.ศ. 2429 ประชาชนได้ใช้โทรศัพท์ครั้งแรกเป็นระบบ “แมกนิโต”
19 กรกฏาคม พ.ศ. 2441 รวมกรมไปรษณีย์และกรมโทรเลขเข้าด้วยกัน โดยใช้ชื่อว่า “กรมไปรษณีย์โทรเลข” (ปัจจุบันคือสำนักงาน กทช)
ธันวาคม พ.ศ. 2536 ดาวเทียมไทยคม 1 ดาวเทียมสื่อสารภายในประเทศดวงแรก ขึ้นสู่วงโคจร พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯทรงพระราชทานชื่อว่า “ไทยคม” (THAICOM) หรือ “ไทยคมนาคม”
พ.ศ. 2546 การสื่อสารแห่งประเทศไทย เปลี่ยนสถานภาพเป็น บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) พร้อมทั้งดูแลกิจการโทรเลขในส่วนของโครงข่าย ส่วนกิจการไปรษณีย์ ได้แยกตัวมาเป็น บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด และเป็นผู้ดำเนินการด้านบริการของกิจการโทรเลขซึ่งปัจจุบันได้เลิกให้บริการแล้ว
1 ตุลาคม พ.ศ. 2547 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งประธาน และกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทช)
โซนที่ 2 ผู้ชมจะก้าวเข้าสู่บรรยากาศเสมือนอยู่ท่ามกลางห้องฉายภาพยนตร์แนวใหม่ที่ออกแบบพื้นที่เป็นสะพานขนาดใหญ่ทอดไปสู่ห้องที่ล้อมรอบไปด้วยผนังสีดำทึบและจะกลายเป็นจอฉายภาพวิดีทัศน์พร้อมระบบแสงเสียงไฮเทค
สำหรับในโซนที่ 3 ผู้ชมจะได้ชมผลงานของหน่วยงานร่วมการวิจัยและการพัฒนา (Research and Development) ประกอบด้วย 8 สถาบัน และผู้ประกอบการอุตสาหกรรมนำเสนอผลิตภัณฑ์ที่ออกแบบและ/หรือผลิตโดยคนไทย อาทิ สถาบันวิจัยและพัฒนาอุตสาหกรรมโทรคมนาคม (สพท.) หรือ TRIDI (Telecommunications Research and Industrial Development Institute) และ สบท. รวมทั้ง บริษัท ฟาบริเนท จำกัด บริษัท ฟอร์ท คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) บริษัท โฟนนิค (ประเทศไทย) จำกัด อนันดา เทคโนโลยี จำกัด และบริษัทล็อกซ์เลย์ จำกัด
ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการก้าวไปสู่มิติใหม่แห่งโลกการสื่อสารในนิทรรศการ “Bridging the Future” จัดโดย คณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทช.) ในงาน ITU Telecom Asia 2008 ซึ่งจะจัดขึ้นในวันที่ 2 ถึง 5 กันยายน 2551 ณ ชาเลนเจอร์ 2 เมืองทองธานี โดยระหว่างวันที่ 2-4 กันยายน 2551 จะเป็นวันสำหรับเจรจาธุรกิจ บัตรผ่านประตูราคา 800 บาท และวันที่ 5 กันยายน 2551 จะเปิดให้ประชาชนทั่วไปผู้สนใจสามารถเข้าชมได้ ระหว่างเวลา 10.00 น. - 16.00 น. บัตรผ่านประตูราคา 200 บาท
ติดต่อสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ :
บริษัท พับบลิค ฮิต จำกัด ตัวแทนประชาสัมพันธ์งาน Bridging the Future
โทร 02 252 5699

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ