กรุงเทพฯ--4 ก.ย.--ซอฟต์แวร์พาร์ค
ซอฟต์แวร์พาร์คปลุกตลาดโปรแกรมแผนที่ ดันเอกชนไทยแข่งกูเกิลเอิร์ธ จัดแพคเกจจับแผนที่ไทยชนิดละเอียดสุดๆ พร้อมอัพเดทใหม่ แถมโปรแกรมเด็ดรองรับ ส่งถึงมือนักพัฒนาซอฟต์แวร์แบบฟรีๆ จับมือนักวิจัยจากจุฬาฯ เขียนซอร์สโค๊ดชั้นยอดประกบ เชื่อแนวโน้มมาแรงตอบรับกระแส 3G ในเมืองไทย
ดร.ชัยวัฒน์ อุตตมากร รองผู้อำนวยการ เขตอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ประเทศไทย หรือซอฟต์แวร์พาร์ค เปิดเผยว่า ปัจจุบันความนิยมการใช้แอพพลิเคชันที่มีระบบแผนที่เป็นพื้นฐานกำลังได้รับความนิยมจากผู้ใช้มากขึ้น และทางซอฟต์แวร์พาร์คเห็นว่าซอฟต์แวร์ทางด้านภูมิสารสนเทศจะสร้างแนวทางใหม่ของการพัฒนา ก่อให้เกิดมูลค่าเพิ่มทั้งในประเทศและการรุกตลาดต่างประเทศในอนาคต ดังนั้นซอฟต์แวร์พาร์คจึงวางยุทธศาสตร์การสนับสนุนให้เกิดการขยายตัวของซอฟต์แวร์ภูมิสารสนเทศไปยัง 3 อุตสาหกรรมหลักคือ อุตสาหกรรมท่องเที่ยว, อุตสาหกรรมการเกษตร และภาคธุรกิจการขนส่ง
ในส่วนของอุตสาหกรรมท่องเที่ยวนั้น ทางซอฟต์แวร์พาร์คมุ่งหวังจับกลุ่มเป้าหมายสองกลุ่ม คือทั้งภาครัฐและธุรกิจ โดยทางภาครัฐนั้นจะเน้นการสร้างแอพพลิเคชั่นเพื่อใช้ในการวางแผนยุทธศาสตร์พื้นที่และผังเมืองของสถานที่ท่องเที่ยว สำหรับภาคธุรกิจ จะเน้นการสร้างแอพพลิเคชันในการทำการตลาดออนไลน์และฐานข้อมูลสถานที่ท่องเที่ยว เช่น การใช้แผนที่ฟรีออนไลน์ อย่าง Google MAP หรือเทคโนโลยี Virtual GIS ที่สามารถเยี่ยมชมสถานที่ท่องเที่ยวต่างๆ ผ่านทางออนไลน์ ก่อนมาเที่ยวจริง
สำหรับ อุตสาหกรรมการเกษตร ก็จะแบ่งออกเป็นสองส่วนเช่นกัน คือทั้งภาครัฐและธุรกิจ โดยภาครัฐนั้นซอฟต์แวร์พาร์คจะผลักดันให้เกิดการพัฒนาระบบข้อมูลภูมิสารสนเทศเพื่อใช้ในการวางแผนยุทธศาสตร์และวิเคราะห์พื้นที่เขตเพื่อการเกษตร ส่วนในภาคธุรกิจนั้นจะมุ่งเน้นให้เอกชนสามารถเชื่อมต่อข้อมูลภาครัฐเพื่อการสร้างแอพพลิเคชั่นชนิดใหม่ที่เชื่อมต่อผสมผสานกับข้อมูลภาคธุรกิจเพื่อใช้เป็นข้อมูลในการตัดสินใจในการลงทุน การสร้างธุรกิจใหม่เช่น เกษตรอินทรีย์ เกษตรกรรมจ้างเหมา (contract farming) พืชเศรษฐกิจพลังงาน ทั้งนี้เพื่อ นำไปสู่การพัฒนาธุรกิจใหม่ๆ
กลุ่มที่ 3 คือ GIS กับ Logistics หรือภูมิสารสนเทศสำหรับธุรกิจขนส่งและบริการ ซอฟต์แวร์พาร์คจะเน้นในเรื่องของการวางแผน การพัฒนา การจัดองค์กร และการควบคุม เพื่อให้การดำเนินงานเป็นไปตามขั้นตอนที่กำหนดไว้ ซึ่ง GIS กับการขนส่งสามารถใช้ฐานข้อมูลที่จัดเก็บไว้ในการวิเคราะห์ทิศทางการเคลื่อนย้าย และปริมาณการขนส่ง การพยากรณ์ความต้องการด้านการขนส่งทางบก ทางน้ำ และทางอากาศ ทั้งภายในประเทศและต่างประเทศเพื่อใช้ในการวางแผนจัดการเส้นทางคมนาคมให้สอดคล้องกับปริมาณการขนส่งทั้งในปัจจุบันและอนาคตในปัจจุบัน GIS สามารถช่วยบริษัทจัดส่งสินค้าในการจัดการบริหารพื้นที่การขาย (trade zone) การเลือกหรือการกำหนดที่ตั้งของหน่วยกระจายสินค้า หรือสาขาที่รับผิดชอบต่อพื้นที่นั้นๆ (site selection) และการติดตามของ (asset tracking) การเรียกดูตำแหน่งจุดให้บริการโดยใช้ address geocoding service
จากการพัฒนาระบบ address geocoding service โดยฝีมือคนไทย จะทำให้การค้นหาทำได้ง่ายขึ้น เพียงแค่ผู้ใช้ใส่ที่อยู่ในช่องค้นหาหรือ search ระบบภูมิสารสนเทศแบบใหม่ของไทยจะสามารถแสดงภาพถ่ายทางอากาศหรือแผนที่โดยไม่จำเป็นต้องใส่ข้อมูลลองติจูด (เส้นรุ้ง) ละติจูด (เส้นแวง) เหมือนที่ผ่านมา นอกจากนั้นการพัฒนายังทำให้เกิดชุดคำสั่งในการให้เกิดการจดจำที่อยู่เป็นคำตามที่บันทึก เช่น ระบุชื่อของตนเองลงไปก็ค้นหาตำแหน่งที่บันทึกเอาไว้ได้ทันที ทำให้ง่ายต่อการค้นหาอย่างมาก ซึ่งตอนนี้มีบางเว็บในไทยได้ทดลองใช้งานระบบนี้แล้ว และคาดว่าหลังจากที่มีการเปิดเผยออกไปจะได้รับความนิยมมากขึ้น
สำหรับเครื่องมือหลักของการต่อยอดการพัฒนาระบบภูมิสารสนเทศนั้น ซอฟต์แวร์พาร์คได้นำแผนที่จากกรมพัฒนาที่ดิน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และ สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิศาสตร์สารสนเทศ หรือ GISTDA ซึ่งมีความละเอียดสูงระดับ 1:2000 และ 1:4000 โดยมีข้อมูลแผนที่ทั่วประเทศ ที่สำคัญได้มีการปรับเปลี่ยนเข้าสู่ระดับ web base เรียบร้อยแล้ว ทำให้นักพัฒนาสามารถดาวน์โหลดแผนที่และนำไปพัฒนาแอพพลิเคชันต่อได้ทันที โดยที่ซอฟต์แวร์พาร์คได้ประสานงานเพื่อทำให้โปรแกรมระบบเปิดที่ใช้กันอยู่ในขณะนี้เชื่อมต่อกับระบบแผนที่ของไทยด้วย
อย่างไรก็ตาม หลังจากที่มีการเปิดเผยเพื่อให้นักพัฒนาซอฟต์แวร์ในประเทศได้นำข้อมูลแผนที่ และซอร์ดโค๊ดไปพัฒนาโดยไม่คิดมูลค่าแล้ว จะทำให้เกิดแอพพลิเคชั่นเพื่อการพาณิชย์มากขึ้นอย่างไม่จำกัด โดยเฉพาะการนำไปใช้กับโทรศัพท์มือถือ ซึ่งสอดคล้องกับแนวทางของรัฐบาลที่ต้องการให้มีระบบ 3G ภายในต้นปีหน้า การสร้างแอพพลิเคชั่นด้านนี้รองรับจะทำให้เกิดการตื่นตัวในการใช้โครงสร้างพื้นฐานนี้อย่างเต็มที่
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ไพศาล สันติธรรมนนท์ อาจารย์ประจำ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยว่า ขณะนี้นักวิจัยกลุ่มหนึ่งโดยการนำของคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมมือกับส่วนราชการและเอกชน ในการพัฒนา Thai Geocoder ซึ่งจะทำให้เกิดบริการการหาพิกัดจากการกำหนดที่อยู่ สถานที่สำคัญและน่าสนใจ ที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ทั่วไป โดยรวมแล้วในพื้นที่กรุงเทพมหานคร มีพิกัดดังกล่าวประมาณ 2 ล้านตำแหน่ง ในงานวิจัยเบื้องต้นพบว่าฐานข้อมูลจากหน่วยงานต่างๆ ที่มีอยู่ หากผนวกรวมกันเป็นระบบ Thai Geocoder แล้วจะทำให้ระบบสารสนเทศที่พัฒนาขึ้นใหม่ เรียกใช้บริการผ่านเว็บเซอร์วิส และได้พิกัดแผนที่ ที่สามารถเชื่อมโยงไปยังระบบให้บริการแผนที่ออนไลน์ข้างต้นได้ ตัวอย่างเช่น การที่เราพิมพ์ บ้านเลขที่ ถนน บนช่องค้นหาในหน้าให้บริการแผนที่ แล้วตำแหน่งที่ต้องการค้นหาจะปรากฏบนแผนที่ให้เห็นดังรูป
ตัวอย่างการใช้งาน Address Geocoding
จากการที่นักวิชาการทางด้านไอทีของไทยพยายามผลักดันให้เกิดการพัฒนาภูมิสารสนเทศผ่านเครือข่ายบนพื้นฐานมาตรฐาน International Standard Organization (ISO) และ Open Geospatial Consortium (OpenGIS) หรือที่รู้จักในชื่อง่ายๆว่า “OpenGIS” ทำให้ระบบที่มีสถาปัตยกรรมที่แตกต่างกันไปจนถึงระบบที่พัฒนามาจากกลุ่มนักพัฒนาที่แตกต่างกัน สามารถแลกเชื่อมต่อระบบ แลกเปลี่ยนข้อมูลและให้ระบบทำงานร่วมกันได้ที่เรียกว่า Interoperable
นอกจากนี้ในปัจจุบันยังมีการให้บริการแผนที่ฟรี มีข้อมูลแผนที่ภาพดาวเทียม ข้อมูลถนนตรอกซอกซอยอย่างละเอียด จุดสถานที่สำคัญนับแสนจุด ระบบดังกล่าวให้บริการโดยผู้ประกอบไอทีเซอร์วิสระดับโลกและของผู้ประกอบการไทยเองด้วย เช่น GoogleMap/ GoogleEarth Microsoft/MultiMap และ Longdo/Numap เป็นต้น ที่น่าสนใจคือบริการแผนที่เหล่านี้สามารถผนวกรวมเข้ากับ application ของผู้ใช้ได้ในสไตล์ web 2.0 ที่เรียกว่า Mash-up Mappingการใช้งานร่วมกันได้ของระบบทำให้เกิดการใช้ข้อมูลเชิงพื้นที่ที่มีมูลค่าสูงร่วมกันได้ตลอดเวลา เกิดความสะดวกและมีเอกภาพ การทำงานร่วมกันของระบบสารสนเทศจะทำให้ผู้ใช้และผู้พัฒนาระบบสามารถเรียกใช้และออกแบบระบบสารสนเทศได้ยืดหยุ่นขึ้น
จากวิวัฒนาการของระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ คอมพิวเตอร์และเครือข่ายทำให้ระบบสารสนเทศมีราคาถูกลงในช่วงที่ผ่านมา แต่ระบบมีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้นเป็นทวีคูณ แนวโน้มนี้เกิดขึ้นควบคู่ไปกับการเจริญเติบโตของเทคโนโลยีสารสนเทศ และการแพร่หลายของซอฟต์แวร์รหัสเปิด (Free/Libre and Open Source Software) หรือเรียกย่อว่า FOSS มีมากขึ้นและนำไปใช้งานในงานปฏิบัติได้จริง ไม่จำกัดเฉพาะงานวิจัยดังเช่นเมื่อก่อน เนื่องจากซอฟต์แวร์รหัสเปิดมีความเป็นระบบเปิดที่เอื้อต่อการส่งเสริมงานวิจัย พัฒนา การฝึกอบรมอยู่แล้ว และยังมีความเหมาะสมสำหรับภูมิสารสนเทศและภูมิสารสนเทศภูมิศาสตร์ผ่านเครือข่ายที่ต้องทำงานร่วมกันในลักษณะของภูมิสารสนเทศแบบเปิด (OpenGIS)
ภูมิสารสนเทศแบบเปิดเป็นมาตรฐานอุตสาหกรรมในวงการผู้ผลิตพัฒนาซอฟต์แวร์และมีการยอมรับแพร่หลายทั่วโลกในขณะนี้ ดังจะเห็นได้จากเหตุการณ์ล่าสุดเมื่อวานนี้ที่หน่วยงาน The Open Source Geospatial Foundation (OsGeo.org) ได้มีสร้างความร่วมมืออย่างเป็นทางการกับ Open Geospatial Consortium Inc. (www.opengeospatial.org) ในการส่งเสริมให้มีการพัฒนาระบบภูมิสารสนเทศแบบเปิดให้ระบบทำงานร่วมกันได้และนักพัฒนาสามารถได้ใช้ซอฟต์แวร์ FOSS ในแพลตฟอร์มหรือเฟรมเวิร์คในการเริ่มต้นการได้พัฒนาระบบใหม่ๆ
สำหรับชุดซอฟต์แวร์ FOSS4G ที่จะเปิดให้นักพัฒนาได้นำไปใช้แบบไม่คิดมูลค่าครั้งนี้จะปรากฏอยู่ในรูปแบบไลบรารี่พื้นฐานที่สามารถนำไปพัฒนาต่อยอดให้เป็นโปรแกรมประยุกต์ได้ บ่อยครั้งซอฟต์แวร์ไลบรารี่จะมียูทิลิตี้เบื้องต้นมาให้พร้อมใช้ด้วย นอกจากนั้นจะเป็นโปรแกรมประยุกต์สำหรับงานภูมิสารสนเทศ ในที่นี้จะกล่าวถึงซอฟต์แวร์ที่ได้มาตรฐาน และสามารถเรียกใช้ข้อมูลภูมิสารสนเทศที่เป็นมาตรฐานอุตสาหกรรมแพร่หลายทั่วไป ตลอดจนรองรับมาตรฐาน International Standard Organizer (ISO) และ Open Geospatial Consortium (OGC) โดยซอฟต์แวร์ที่นำไปใช้งานได้โดยตรงหรือเป็นรูปแบบไลบรารี่ที่ผู้ใช้สามารถนำไปเป็นพื้นฐานพัฒนาเป็นโปรแกรมประยุกต์ได้
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมติดต่อ
ศูนย์คำปรึกษาด้านไอทีสำหรับภาคอุตสาหกรรม
IT Consulting Center for Industry - ICCI)
คุณกมลวรรณ คมใส
โทร (662)583-9992 ต่อ 1432
โทรศัพท์มือถือ 081-829-4977