“Boot Camp” ค่ายนักวิจัยพบนักธุรกิจ ร่วมจุดประกายไอเดียสู่ตลาด

ข่าวทั่วไป Friday September 5, 2008 09:54 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--5 ก.ย.--ศูนย์บริหารจัดการเทคโนโลยี
ศูนย์บริหารจัดการเทคโนโลยี (TMC) จัดอบรม “Lab to Market Boot Camp” เพื่อสานช่องว่างการทำงานระหว่างนักวิจัยและนักธุรกิจ เชื่อมโยงให้สื่อสารกันเข้าใจมากขึ้น ร่วมจุดประกายไอเดียผลักดันงานวิจัยออกสู่ตลาด โดยมุ่งนำเทคโนโลยีที่เกิดจากงานวิจัยภายใน สวทช. มาใช้ให้เกิดประโยชน์ในภาพรวมของเศรษฐกิจระดับประเทศ
ผลจากการทำงานวิจัยย่อมมีความคาดหวังว่าจะมีการนำไปต่อยอดหรือพัฒนาสู่เชิงพาณิชย์ เพื่อทำให้เกิดคุณค่า (impact) ต่อสังคม แต่บางครั้งผลงานวิจัยหลายชิ้นกลับ“ขึ้นหิ้ง”และไม่ตรงกับความต้องการของตลาด ขณะเดียวกันภาคธุรกิจเองก็ไม่สามารถนำงานวิจัยเชิงวิชาการมาแปลงเป็นผลิตภัณฑ์ได้ จึงเหมือนทั้งสองฝ่ายพูดคนละภาษา ดังนั้นหากมีการสื่อสารที่ตรงกัน จะทำให้สามารถนำผลงานวิจัยไปต่อยอดเชิงพาณิชย์และย่อมเป็นวิธีที่ดีในการสร้างประโยชน์และคุณค่าให้กับประเทศ
สำนักงานจัดการสิทธิเทคโนโลยี (TLO) ศูนย์บริหารจัดการเทคโนโลยี (TMC) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สวทช.) จึงจัดการอบรม Lab to Market Boot Camp ให้แก่นักวิจัย ผู้ได้รับการบ่มเพาะทางธุรกิจจากอุทยานวิทยาศาสตร์แห่งชาติ (Thailand Science Park) และนักธุรกิจ เพื่อพัฒนาแนวความคิดด้านธุรกิจ ความคิดสร้างสรรค์และนวัตกรรมการเป็นผู้ประกอบการ ให้กับนักวิจัยทางด้านเทคโนโลยีในสาขาต่างๆ และเพื่อก่อให้เกิดการสร้างสรรค์ไอเดียที่น่าสนใจที่สามารถนำไปต่อยอดในธุรกิจที่ใช้เทคโนโลยีเป็นจุดขาย โดยมีกิจกรรมที่ช่วยกระตุ้นการสร้างสรรค์และพัฒนาแนวความคิดในเชิงของผู้ประกอบการ
ศ. ดร.ชัชนาถ เทพธรานนท์ ผู้อำนวยการศูนย์บริหารจัดการเทคโนโลยี กล่าวว่า หลังจากการจัดอบรมครั้งนี้ TMC คาดว่าจะได้รับความร่วมมือจากนักวิจัยและภาคเอกชนในการทำธุรกิจ เพราะนักวิจัยจะทราบว่าตนมีงานวิจัยอะไร และดีอย่างไร ขณะเดียวกัน ภาคเอกชนก็ต้องสนใจลงทุนในการนำงานวิจัยที่เกิดขึ้นใหม่ ที่ยังไม่ได้มีการสำรวจความต้องการทางการตลาดมาใช้ด้วย ซึ่งอาจมีความเสี่ยง หรือต้องพัฒนาต่ออีกระยะหนึ่งก่อน ฉะนั้น การจัดงานครั้งนี้ก็เพื่อทำให้เกิดความเข้าใจกับทั้งสองฝ่าย เกิดความกระตือรือร้น และเข้าใจว่าจะสามารถสร้างธุรกิจจากเทคโนโลยีของงานวิจัยได้
ดร.เอ็ดเวิร์ด รูเบช (Dr. Edward Rubesch) ผู้เชี่ยวชาญด้านการตลาด สำนักงานจัดการสิทธิเทคโนโลยี กล่าวว่า Boot Camp เป็นขั้นแรกของโครงการ Lab to Market เพื่อให้นักวิจัยกับนักธุรกิจมาระดมสมอง ฝึกคิดไอเดียใหม่ๆ เพื่อสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ให้ตอบโจทย์กับลูกค้าและแก้ปัญหาสังคม ซึ่งจะทำให้ทั้งสองฝ่ายมีการเชื่อมโยงกัน เข้าใจกันมากขึ้น นักธุรกิจจะเข้าใจว่านักวิจัยทำงานอย่างไร ส่วนนักวิจัยก็จะเข้าใจว่านักธุรกิจต้องการสร้างผลิตภัณฑ์แบบไหน อันเป็นเป้าหมายของโครงการนี้ที่จะช่วยปรับกระบวนการทำงานให้ทั้งสองฝ่ายได้ทำงานร่วมกันอย่างเข้าใจกัน และเพื่อให้เกิดการนำเทคโนโลยีของ สวทช. ไปสร้างธุรกิจที่มีคุณค่าและประโยชน์ต่อสังคม
ผศ. ดร.การดี เลียวไพโรจน์ ผู้อำนวยการศูนย์ให้คำปรึกษาทางธุรกิจแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ หนึ่งในผู้เข้าอบรม กล่าวถึงกิจกรรมหนึ่งที่ช่วยกระตุ้นความคิดในการวางแผนธุรกิจว่า มีเกม “1,000 บาท สร้างกำไร” ที่วิทยากรให้แต่ละทีม ประมาณ 5 คน โดยมีนักวิจัย นักธุรกิจ และเจ้าหน้าที่จาก TLO คละกัน ช่วยกันคิดวิธีเพิ่มมูลค่าของเงิน 1,000 บาท ซึ่งจะต้องไปทำธุรกิจกับลูกค้าในพื้นที่จริงๆ คือชาวพัทยา ทีมที่มีจำนวนเงินเพิ่มขึ้นมากที่สุดจะเป็นผู้ชนะ โดยทีมที่ชนะคือ ทีมที่ทำธุรกิจด้วยการตั้งซุ้มดูหมอ ทำนายโชคชะตา เนื่องจากว่ามีสองสิ่งที่มารวมกันพอดี คือ องค์ความรู้ในการใช้สินทรัพย์ที่มีอยู่ในตัว หรือ know how เป็นหลัก และตลาดคือลูกค้าชาวไทยที่นิยมการทำนายทางโหราศาสตร์
“ข้อสรุปของกิจกรรมนี้คือ อย่างแรก ทำให้รู้ว่าลูกค้ามีหลากหลาย ความต้องการหลากหลาย จะตอบโจทย์ความต้องการที่มีหลากหลายได้อย่างไร สองคือ เมื่อวางแผนแล้ว อาจจะไม่ได้ทำตามแผนเสมอไป เพราะการวางแผนในห้องประชุมที่ไม่ได้รู้สถานการณ์จริง อาจเป็นการวางแผนที่ผิดพลาดก็ได้ ถ้าหากเรายังยืนยันที่จะทำธุรกิจในแผนที่รู้ว่าไม่มีทางประสบความสำเร็จ ก็จะมีแต่ความเสียหาย ฉะนั้น จึงต้องทำความเข้าใจกับสถานการณ์ แล้วปรับกระบวนการให้เหมาะสม”
ดร.การดี กล่าวเพิ่มเติมว่า การจัดอบรมครั้งนี้ทำให้นักวิจัยได้เห็นภาพกว้างขึ้น ก่อนที่จะทำวิจัยเชิงลึก ควรจะสำรวจตลาด ความต้องการ ความจำเป็น หรือโอกาสของเทคโนโลยีใหม่ที่จะเกิดขึ้นเสียก่อน เพราะปัจจุบันสิ่งที่เกิดขึ้นคือ มีการลงทุนไปหลายล้านบาทเพื่อสร้างเทคโนโลยีขึ้นมาชิ้นหนึ่ง แต่ไม่รู้จะนำไปใช้ทำอะไร จึงต้องนำเงินอีกก้อนหนึ่งมาทำวิจัยการตลาด ซึ่งจริงๆ แล้วควรจะต้องลงทุนครั้งเดียวแล้วเห็นภาพ และมั่นใจว่างานวิจัยที่ลงทุนทำจะเกิดประโยชน์ที่ตอบโจทย์สังคมและเชิงเศรษฐกิจที่เป็นรูปธรรม
ดร.พัชราภรณ์ วงษา ผู้จัดการฝ่ายพัฒนาและบริการเทคโนโลยี บริษัท ไบโอ โซลูชั่น อินเทอร์เนชั่นแนล จำกัด อีกหนึ่งในนักธุรกิจที่มาเข้าร่วมอบรมกล่าวด้วยว่า การมาร่วมอบรมครั้งนี้ได้เรียนรู้วิธีการคิดใหม่ๆ ทำให้เห็นกระบวนการคิดเพื่อสร้างผลิตภัณฑ์แบบเป็นรูปธรรมมากขึ้น เพราะวิทยากรกระตุ้นให้ทุกคนนำความคิดสร้างสรรค์ที่มีอยู่ในตัวออกมาใช้ ซึ่งแต่ละคนก็จะมีความสามารถหรือมุมมองที่ต่างกัน เมื่อนำมาเสริมกัน จึงเกิดชิ้นงานที่มีคุณค่ามาก โดยจะนำวิธีการนี้ไปปรับใช้กับบริษัทคือ กระตุ้นพนักงานในบริษัทให้ช่วยกันคิด โดยใช้วิธี Mental Mapping และหลักการคัดเลือกไอเดียที่ได้เรียนรู้จากวิทยากร รวมทั้งวิธีการนำเสนอชิ้นงานอย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล เพื่อจะได้เกิดความคิดสร้างสรรค์ใหม่ๆ ในการสร้างผลิตภัณฑ์ที่ก่อประโยชน์ต่อสังคมและลูกค้า ทั้งยังเป็นการสร้างมูลค่าให้กับผลิตภัณฑ์ของบริษัทด้วย
“นอกจากนี้ยังรู้สึกประทับใจในความตั้งใจของ สวทช. ที่พยายามให้เกิดความร่วมมือมากขึ้นระหว่างนักวิจัย และภาคธุรกิจ เพื่อสร้างสรรค์ชิ้นงานที่เป็นประโยชน์ต่อสังคมและธุรกิจไทย และเชื่อว่าความตั้งใจนี้จะเกิดผลเป็นรูปธรรมมากขึ้นแบบทวีคูณ”
การจัดอบรม Boot Camp ได้รับความสนใจอย่างมากจากทั้งนักวิจัยและนักธุรกิจ ซึ่งเมื่อทั้งสองฝ่ายมีความเข้าใจตรงกันแล้ว ก็ไม่ใช่เรื่องยากที่จะนำเทคโนโลยีจากงานวิจัยมาพัฒนาให้เกิดชิ้นงานที่สร้างประโยชน์มหาศาลต่อสังคม หรือช่วยแก้ปัญหาได้ในระยะยาว รวมทั้งนำเทคโนโลยีมาใช้ให้เกิดประโยชน์ในเศรษฐกิจระดับประเทศต่อไป
งานประชาสัมพันธ์ ศูนย์บริหารจัดการเทคโนโลยี
โทร. 0 2564-7000 ต่อ 1476-8 www.tmc.nstda.or.th
สอบถามข้อมูลข่าวและภาพเพิ่มเติมกรุณาติดต่อ
คุณธณาพร นุ่นมัน (เอ็ม), คุณสุธิดา อัญญะโพธิ์ (ไก๋)
โทร. 0 2270 1350-4 ต่อ 104-105
มือถือ 08 6612 0912, 08 5930 7166
อีเมล: prtmc@yahoo.com, pr4tmc@ymail.com

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ