กรุงเทพฯ--5 ก.ย.--สหมงคลฟิล์ม
ในยุคสมัยของโลกดิจิตอล พวกเราเคยชินกับการถูกชักจูงโดยจุดพิกเซลจำนวนมหาศาลที่ถูกเทลงบนจอคอมพิวเตอร์ คนสร้างหนังก็สามารถนำเสนอสิ่งต่างๆให้เราเสพได้ ไม่ว่ามันจะมีความน่าเชื่อถือมากน้อยแค่ไหนก็ตาม อย่างไรก็ตามมันก็ยังมีหนังเรื่องหนึ่ง ที่ยืนอยู่ตรงข้ามกับสิ่งเหล่านั้น The Fall เป็นหนังอินดี้ของ ทาเซม ซิงค์ (Tarsem Singh) ผู้กำกับภาพยนตร์ที่มีรากเหง้ามาจากการกำกับมิวสิควิดีโอโดยจุดเด่นของเขาคือการเป็นคนที่มีจินตนาการกว้างไกล และสามารถเปลี่ยนเอาอะไรก็ตามที่อยู่ในหัวของเขา ให้กลายมาเป็นภาพเคลื่อนไหวที่เปี่ยมไปด้วยศิลปะ เช่น การช็อตการถ่ายช้ามหัว ที่แสดงให้เห็นถึงช้างที่กำลังว่ายน้ำอย่างเชื่องช้าและสง่างาม หรือปราสาทในลานหญ้า ที่ถูกตกแต่งภายนอกด้วยบันไดที่พาดผ่านกันอย่างลงตัว จนเป็นผลงานที่เหมือนกระจกสะท้อนในงานดิไซน์ของ เอ็ม ซี เอสเชอร์ (M.C. Escher) และหมู่บ้านที่เรียงรายอยู่ตามทิวภูเขา ที่บ้านทุกหลังดูเหมือนว่าจะถูกแต่งแต้มด้วยโทนสีฟ้าที่ไม่เหมือนกัน แต่ทั้งหมดก็มีความลงตัวอย่างน่าประหลาด
และสาเหตุที่ภาพเหล่านั้นสามารถสร้างความตื่นตาตื่นใจให้กับผู้ชมได้เพราะว่ามันคือของจริง มันเปรียบเสมือนศิลปะที่เปี่ยมไปด้วยพลังแห่งชีวิตและพร้อมที่จะระเบิดออกมา รายละเอียดต่างๆที่สามารถล่อลวงได้แม้กระทั่งนักทำเอฟเฟ็คมืออาชีพ ซึ่ง ทาเซ็ม ได้เล่าถึงข้อจำกัดในการสร้างหนังเรื่องนี้ของเขาว่า "ผมตัดสินใจว่ามันจะไม่มีคอมพิวเตอร์ กราฟฟิคเข้ามาเกี่ยวข้อง เพราะผมรู้สึกอิ่มตัวจากหนังเรื่องแรก (The Cell) ถึงแม้ว่าผมจะรู้สึกสนุกไปกับมัน แต่ผมตัดสินใจแล้วว่าหนังเรื่องนี้จะใช้หลักของการกำกับศิลป์ ในรูปแบบของการออกแบบตามสภาพภูมิศาสตร์ รวมถึงการออกแบบเรื่องการแต่งกายด้วย”
ชายร่างเล็กที่ดูเหมือนว่าจะมีพลังงานไม่จำกัด ให้สัมภาษณ์ในห้องชุดที่โรงแรม Waldorf-Astoria โดย ทาเซ็ม วัย 46 นั้น เกิดที่อินเดีย แต่ไปโตในกรุงเตห์ราน (ที่ซึ่งพ่อของเขาเป็นวิศวกรของสายการบินอิหร่าน) ต่อมาก็ได้เข้าเรียนใน Art Center College of Design ในพาซาดิน่า, แคลิฟอร์เนีย หลังจากที่จบแล้วเขาก็ได้แบ่งเวลาในการใช้ชีวิตระหว่างลอนดอนและแอลเอ ซึ่งสุดท้ายแล้ว เขาก็ได้นำประสบการณ์การเดินทางรอบโลกทั้งชีวิต มาใช้เป็นแรงบันดาลใจในการสร้างหนังเรื่องนี้
The Fall เป็นเรื่องราวสองเรื่องที่ไม่มีความสัมพันธ์กัน และถูกเล่าด้วยสองวิธีที่แตกต่างกันอย่างชัดเจน แต่มันก็มีความผูกพันกันในการเล่าเรื่องที่ขนานกันไปจนไปบรรจบกันในตอนสุดท้าย
เรื่องที่หนึ่ง - เกิดขึ้นที่โรงพยาบาลใน ลอส แองเจลิส ปี 1915 สตันท์แมน รอย วอร์คเกอร์ (ลี เพส) เป็นอัมพาตเนื่องจากเกิดอุบัติเหตุในการกระแทกกับหมอนรางรถไฟ แต่มันก็ทำให้เขาได้ทำความรู้จักกับผู้ป่วยอีกคน นั้นก็คือ อเล็คซานเดรีย (คาทินก้า อันทารุ) เด็กหญิงวัย 5 ขวบที่กระดูกสันหลังหัก ขณะที่เธอกำลังเก็บผลส้มกับพ่อแม่ของเธอที่หลบหนีเข้าเมืองมาแบบผิดกฎหมาย รอย ตัดสินใจที่จะเล่านิทานให้เด็กฟัง และมันก็เป็นเรื่องราวของการผจญภัยอันน่าตื่นเต้น แต่สุดท้ายแล้วมันก็เผยให้ถึงประสงค์ที่แท้จริงของเขาอย่างช้าๆ ซึ่งก็เป็นแผนและก็ยังเป็นศิลปะในการเล่าเรื่องของเขา ที่จะชี้นำให้เด็กหญิงช่วยขโมยมอร์ฟีน เพื่อที่จะได้ทำให้เขาสามารถฆ่าตัวตายได้
เรื่องที่สอง - ถูกอ้างอิงมาจาก Yo Ho Ho หนังสัญชาติบัลแกเรียของ ซาโก เฮสคิจา (Zako Heskija) ที่ทำให้ ทาร์เซ็ม ซึ่งเคยดูมาแล้วในปี 1981 คิดถึงธรรมชาติของการชี้นำที่ถูกซ่อนอยู่ในการเล่าเรื่อง เขาเล่าว่า "การเล่าเรื่องนั้น ขึ้นอยู่กับผู้ชมที่อยู่ตรงหน้าคุณ เพราะถ้าคุณมีคนดูแค่ 5 คน คุณก็จะเล่าเรื่องได้อย่างมีอิสระและมีชีวิตชีวา แต่ถ้าคุณมีคนดู 25,000 คน คุณก็จะเล่าอีกแบบหนึ่ง ซึ่งมันก็ทำให้ผมเรียนรู้ว่า ผมเองก็ได้ทำมันมาอยู่แล้วตลอดชีวิต"
หลังจากที่เขาได้รับลิขสิทธ์ของหนังเรื่องนั้น ทาร์เซ็ม ก็เล่าถึงการเริ่มต้นถ่ายทำว่า "ผมเริ่มที่จะรวบรวมภาพต่างๆ และมันก็ใช้เวลาถึง 16 ปีในการสร้าง” ซึ่งก็เป็นเพราะว่า ในระหว่างนั้นเขาก็ยังต้องทำงานในโฆษณา ที่เสมือนเป็นการทำงานหาเลี้ยงชีพของเขาอยู่ และลูกค้าของเขาก็เป็นลูกค้ารายใหญ่แทบทั้งสิ้น เช่น Levi, Nike และ MTV รวมถึงการกำกับมิวสิควิดีโอให้กับวงดนตรีชื่อดังอย่าง Green Day และ R.E.M.
ถึงแม้ว่า The Cell จะประสบความสำเร็จในด้านรายรับ แต่ ทาร์เซ็ม ก็ไม่ได้คิดที่จะไล่ตามความสำเร็จนั้นด้วยโปรเจ็คที่สตูอิโดว่าจ้าง ผู้กำกับชื่อดังอย่าง เดวิด ฟินเชอร์ (David Fincher) ที่พบกับ ทาร์เซ็ม ในระหว่างที่ทั้งสองยังเป็นผู้กำกับมิวสิควิดิโอ และก็ยังเป็นเพื่อนกันจนมาถึงทุกวันนี้ โดยเขาจำได้ถึงปฏิกริยาแรก เมื่อเขาได้อ่านดราฟแรกของบทภาพยนตร์เรื่อง The Fall ไว้ว่า “ผมคิดว่าตัวเองไม่สามารถบอกได้ว่ามันหมายถึงอะไรกันแน่ แต่ผมบอกได้อย่างเดียวว่ามันเหมือนกับหนังเรื่อง Wizard of Oz ที่ถูกสร้างโดย อังเดร ทาคอฟสกี้ (Andrei Tarkovsky) ยังไงยังงั้น"
ฟินเชอร์ เป็นคนแนะนำให้ ทาร์เซ็ม พบกับเหล่านักลงทุน แต่สุดท้ายแล้วก็ไม่มีเสียงตอบรับกลับมา โดย ฟินเชอร์ พูดถึงคาแร็คเตอร์ของเพื่อนว่า "เขาเป็นผู้กำกับที่พูดถึงโปรเจ็คตัวเองประมาณว่า ‘สาเหตุที่ผมอยากทำเรื่องนี้คือ ต้องการที่จะเห็นว่ามันจะไปจบลงอีท่าไหน’ มากกว่าที่จะเป็น ‘ผมต้องทำอันนี้ให้สำเร็จ แล้วจะต่อด้วยอันนั้น’ ดังนั้นทุกอย่างจึงไม่เป็นอย่างที่คาดหวัง ผมคิดว่าเรื่องมันคงจะสิ้นสุดไปแล้ว แต่วันหนึ่งเขาก็โทรมาจากแอฟริกาใต้แล้วบอกผมว่า 'นี้ ผมกำลังทำเรื่อง The Fall อยู่น่ะ' ผมเลยถามว่า 'แล้วใครออกทุนให้ล่ะ' เขาตอบว่า 'เงินผมเอง และผมคิดว่ามันจะต้องใช้เวลาประมาณสัก 10 ปีในการสร้าง'"
และหลังจากการหาเด็กสาวที่ดูใสบริสุทธ์เพียงพอที่จะมารับบทนำ ทีมงานคัดเลือกนักแสดงก็ได้ค้นพบ คาทินก้า อันทารุ (Catinca Untaru) ในประเทศโรมาเนีย และ ทาร์เซ็ม ได้นำทีมงานและนักแสดงของเขาไปที่แอฟริกาใต้ ไปยังโรงพยาบาลที่ถูกสร้างออกมาในสไตล์วิคตอเรีย และก็เป็นสถานที่ที่เขาใช้เป็นฉากหลัก วิธีที่ช่วยให้เขาประหยัดเงินและเวลา ก็คือการแบกหนังเรื่องนี้ไปด้วยระหว่างการถ่ายโฆษณา ซึ่งเป็นงานประจำของเขา "ฉากถ่ายที่ผมถ่ายคืออินเดีย หลังจากนั้นก็เป็นนามิเบีย ทีมงานของผมเล็กลงเรื่อยๆ และผมก็ตัดสินใจรับงานถ่ายโฆษณา ในที่ที่ผมต้องการจะถ่ายหนังเรื่องนี้เท่านั้น เช่น จีน, อาเจนติน่า และบาหลี”
"ภูมิใจเสนอโดย เดวิด ฟินเชอร์” เป็นส่วนช่วยในการโฆษณาหนังเรื่องนี้ ซึ่งมันก็ยังมีชื่อของผู้กำกับชื่อดังอีกคน ที่มีรากเหง้ามาจากการถ่ายมิวสิควิดีโอเหมือนกันอย่าง สไปค์ จอนส์ (Spike Jonze) โดยเขาเล่าว่า “ทาร์เซ็ม เล่าให้ผมฟังแบบงงๆว่า พื้นที่การทำงานของเขาคือผืนแผ่นดิน และเขาก็จะใช้ส่วนต่างๆของโลกใบนี้เป็นฉากหลัง แต่แล้วผมก็มาหายสงสัย เมื่อผมได้ดูฟุตเตจที่เขาไปถ่ายมาหลาย 10 ประเทศ ผมถามเขาว่า ‘ฉากหลังนั้นเป็นรูปภาพใช่ไหม’ เขาตอบว่า ‘ไม่ นั้นคือของจริง’ และเขาก็อธิบายว่า ฉากเหล่านั้นเป็นตอนที่เขาไปทำโฆษณาให้กับเป๊ปซี่ หรือฉากนั้นคือตอนที่ไปถ่ายโฆษณาให้กับออดี้ เป็นต้น”
จอนส์ เสริมว่า "ถ้าหนังของ ทาร์เซ็ม เป็นของสตูดิโอ มันจะเป็นหนังที่ต้องใช้ทุนถึง 80 ล้านเหรียญสหรัฐอย่างแน่นอน แต่เขาเองก็มีประสบการณ์เพียงพอในการทำความรู้จักกับผู้คนในประเทศต่างๆ และเขามีความสามารถที่จะถ่ายทำด้วยทีมงานขนาดย่อม อย่างไรก็ตาม เขาเองก็ได้ใช้เงินของตัวเองในการสร้างทั้งหมด ผมว่านั้นเป็นเรื่องที่เสียสติจริงๆ"
ทาร์เซ็ม เห็นด้วยกับ จอนส์ เรื่องความเสียสติของตัวเอง "ผมว่ามันเป็นผลงานที่ถูกทำโดยคนเสียสติ ที่ชีวิตของเขากำลังอยู่บนทางแยกเช่นนี้ และสุดท้ายแล้ว ผมก็ได้พบกับผู้คนที่คลั่งไคล้หนังเรื่องนี้และเสียสติพอๆกับผม แต่อย่างไรก็ตาม มันก็มีบางคนที่เกลียดหนังเรื่องนี้เข้าไส้"
The Fall ถูกฉายครั้งแรกในงานเทศกาลภาพยนตร์ ช่วงปี 2006 และพิสูจน์ให้เห็นว่าเป็นหนังที่ก่อให้เกิดความคิดที่แตกแยกกันอย่างชัดเจน เพราะผู้คนไม่รู้ว่านี้ควรเป็นหนังตลกหรือโศกนาฏกรรมกันแน่ The Fall ใช้เวลาอีกสองปีในการหาผู้จัดจำหน่าย จนในที่สุด Roadside Attractions ก็ได้เป็นตัวแทนในการเปิดฉายหนังใน นิวยอร์ค และ แคลิฟอร์เนีย และก็จะออกฉายในวงกว้างที่ ชิคาโก, ฟิลาเดเฟีย, วอชิงตัน และเคมบริดจ์ โดย ทาร์เซ็ม กล่าวทิ้งท้ายถึงเรื่องสไตล์การทำงานของเขาเอาไว้ว่า "ผมว่ามันเป็นวิธีที่จะไม่มีวันร่วมสมัย แต่มันก็เป็นวิธีที่จะไม่มีวันล้าสมัยเช่นกัน"
สัมผัสจินตนาการอันไม่มีที่สิ้นสุด ของ ทาร์เซ็ม ซิงค์ ผู้กำกับจาก The Cell ได้ในโรงภาพยนตร์ เฮ้าท์ และ ลิโด ในวันที่ 25 กันยายน ศกนี้