กรุงเทพฯ--5 ก.ย.--IANDI COMUNICATION
สมาคมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ ร่วมกับคณะวิทยาศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง แถลงข่าวการจัดงาน การประชุมวิชาการวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย ครั้งที่ 34 (วทท 34) ภายใต้หัวข้อ “วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีสำหรับโลกที่ท้าทาย” พร้อมฉลองครบรอบ 60 ปี ของสมาคมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทยฯ และครบรอบ 20 ปีของการสถาปนาคณะวิทยาศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง
ชักชวนนักวิทยาศาสตร์ไทยทั้งเด็กและผู้ใหญ่จากโรงเรียนและรั้วมหาวิทยาลัยทั่วประเทศ แสดงศักยภาพและผลงานคิดค้นด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีใน 15 สาขาเพื่อการพัฒนาประเทศ ภายในงานประกอบด้วยการนำเสนอผลงาน การแสดงนิทรรศการ และการนำเสนอตัวอย่างผลงานและนวัตกรรมที่มีการใช้งานเชิงพาณิชย์จากภาคเอกชนในด้านต่าง ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การบรรยายพิเศษเรื่องภาวะโลกร้อน (Global Warming) จาก นักวิทยาศาสตร์ระดับโลกเจ้าของรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ ประจำปี 2550 พร้อมเชิญชวนคนไทยเข้าร่วมพิสูจน์ศักยภาพนักวิทยาศาสตร์ไทยในวันที่ 31 ตุลาคม — 2 พฤศจิกายน 2551 ที่ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิตติ์ โดยได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินเป็นองค์ประธานเปิดการประชุมฯ
ในโอกาสนี้ รศ.ดร.คุณหญิงสุมณฑา พรหมบุญ อดีตนายกสมาคมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ กล่าวว่า ความเปลี่ยนแปลงของสภาวะการณ์โลกในด้านต่าง ๆ โดยเฉพาะด้านสิ่งแวดล้อมในปัจจุบันได้ตอกย้ำให้เห็นถึงความสำคัญของความรู้ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี จากเครื่องมือ อุปกรณ์ ที่คิดค้นขึ้นนำมาใช้ เพื่อการป้องกัน แก้ไข บรรเทา ผลกระทบที่เกิดขึ้นต่อมนุษย์ ในส่วนของประเทศไทยเองทุกรัฐบาลก็มีความพยายามในการส่งเสริมและพัฒนาความรู้ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของประเทศ และถือเป็นนโยบายสำคัญประการหนึ่งที่จะช่วยสร้างศักยภาพทางการแข่งขันของประเทศ เพราะวิทยาศาสตร์ไม่ใช่เรื่องไกลตัวอีกต่อไป เราจึงควรช่วยกันสนับสนุนส่งเสริมอย่างเป็นระบบและรอบด้าน
ในทุกปีสมาคมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ ร่วมกับคณะวิทยาศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยของรัฐทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาค 24 แห่ง จึงได้จัดงานการประชุมวิชาการวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทยหรือ (วทท) ขึ้นและต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน ซึ่งนับเป็นครั้งที่ 34 โดยหมุนเวียนกันเป็นเจ้าภาพจัดงานทั้งในกรุงเทพและต่างจังหวัด เพื่อเป็นเวทีให้ นักเรียน นักศึกษา ครู อาจารย์ นักวิจัย และนักวิทยาศาสตร์ของไทยได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ผลงานซึ่งกันและกัน อันจะนำไปสู่การพัฒนาต่อยอดอย่างเป็นรูปธรรมต่อไป
ด้านศาสตราจารย์ ดร.ม.ร.ว. ชิษณุสรร สวัสดิวัตน์ นายกสมาคมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ กล่าวว่า การจัดงานในครั้งนี้ยังถือเป็นการฉลองเนื่องในโอกาสครบ 60 ปี ของสมาคมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทยฯ โดยตลอด 60 ปีที่ผ่านมา สมาคมฯได้ดำเนินการสนับสนุนและส่งเสริมให้เกิดการสร้าง พัฒนา และประยุกต์ใช้องค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมาอย่างต่อเนื่อง ผ่านการจัดกิจกรรมหลากหลายอาทิ การสนับสนุนทุนวิจัยเพื่อการศึกษาค้นคว้าด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี การส่งเสริมให้เด็กและเยาวชนได้เรียนวิทยาศาสตร์อย่างสร้างสรรค์ผ่านการค้นคว้าทดลองทำจริง การจัดกิจกรรมประชุม สัมมนาเพื่อเปิดโอกาสให้นักวิทยาศาสตร์ทั้งรุ่นเยาว์และรุ่นใหม่(นักวิจัย/นักวิชาการ/อาจารย์) ได้นำเสนอผลงานด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่เขาได้สร้างขึ้น รวมทั้งการผลักดันให้เกิดการต่อยอด และนำไปใช้ได้จริงในเชิงพาณิชย์ ทำให้เกิดการตื่นตัวด้านการเรียนการสอนด้านวิทยาศาสตร์ ที่มองเห็นเส้นทางอนาคตของอาชีพนักวิทยาศาสตร์ ที่จะเป็นอีกหนึ่งกลไกหลักของการพัฒนาศักยภาพของประเทศ เพราะจะเห็นว่าในประเทศพัฒนาแล้วจะให้ความสำคัญกับการสร้างบุคลากรด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีค่อนข้างมาก ขณะที่ในประเทศไทยแม้จะเห็นความสำคัญในเชิงนโยบายแต่ยังไม่สามารถขับเคลื่อนได้มากนัก โดยยังมีสัดส่วนนักวิทยาศาสตร์/นักวิจัย 5 คน ต่อประชากร 10,000 คน เราจึงควรให้ความสำคัญของการสร้างบุคลากรนักวิทยาศาสตร์และนักวิจัยรุ่นใหม่จากทุกระดับควบคู่ไปกับการพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเพื่อให้นักวิทยาศาสตร์และนักวัจัยไทยสามารถยืนอยู่ในเวทีวิทยาศาสตร์ระดับโลกได้ โดยสมาคมวิทยาศาสตร์ฯยังคงยึดมั่นและยืนยันจะดำเนินการเพื่อขยายกลุ่มของนักวิทยาศาสตร์ไทยให้กว้างขวางมากขึ้น และแสดงให้เห็นถึงศักยภาพด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของคนไทย
ด้าน รศ.ดร.นภาวรรณ นพรัตนราภรณ์ ประธานจัดการประชุมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย ครั้งที่ 34 (วทท34) กล่าวว่า สำหรับงานในปีนี้ภายในงานยังคงอัดแน่นด้วยเนื้อหาสาระและความรู้ความก้าวหน้าทางด้านเทคโนโลยีและวิทยาศาสตร์ โดยจะได้พบกับผลงานความรู้ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีจากฝีมือคนไทยกว่า 800 เรื่องจาก 15 สาขา ให้ผู้สนใจได้เลือกนำไปใช้ประโยชน์หรือต่อยอด และที่สำคัญได้รับเกียรติจาก Professor Rajendra Kumar Pachauri นักวิทยาศาสตร์รางวัลโนเบลปี 2550 มาเป็นองค์ปาฐกบรรยายพิเศษเรื่อง “Global Warming (ภาวะโลกร้อน) นอกจากนี้ยังมีนักวิทยาศาสตร์และนักวิจัย ผู้เชี่ยวชาญจากในประเทศและต่างประเทศมาร่วมบรรยายพิเศษนำเสนอความก้าวหน้าด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีอีกหลายสาขา
ทั้งนี้กิจกรรมภายในงานประกอบด้วย 4 ส่วนหลัก คือ 1) การบรรยายนำเสนอผลงานวิจัยด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเด่น ๆ ที่ผ่านการคัดเลือกประมาณ 200 เรื่อง โดยบรรยายพร้อมกันใน 10 ห้องย่อย ตลอดเวลาของการจัดงาน 2) การจัดแสดงนิทรรศการผลงานวิจัยในลักษณะโปสเตอร์อีกกว่า 600 เรื่อง 3) การจัดแสดงเครื่องมือวิทยาศาสตร์ ผลิตภัณฑ์ วัสดุ อุปกรณ์และเทคโนโลยีด้านความก้าวหน้าทางด้านวิทยาศาสตร์จากภาครัฐและเอกชนผู้นำด้านนวัตกรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี องค์กรต่างๆ และสถาบันการศึกษา ที่นำผลงานนวัตกรรมล่าสุดมาจัดแสดงในงาน 4) เวทีการบรรยายและเสวนา (Panel discussion) จากนักวิทยาศาสตร์ดีเด่น นักวิทยาศาสตร์รุ่นใหม่ และความรู้เกี่ยวกับพระราชบัญญัติส่งเสริมวิชาชีพวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และพระราชบัญญัติวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัติกรรมแห่งชาติ และ การอบรมเชิงปฏิบัติการ (Work shop) เกี่ยวกับสมุนไพรและความงาม จากภาคเอกชน ซึ่งเป็นตัวอย่างของการนำความรู้ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมาสู่การประยุกต์ใช้ได้จริงในเชิงพาณิชย์
รศ.ดร.ธารารัตน์ ศุภศิริ อุปนายสมาคมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทย ในพระบรมรมราชูปถัมภ์ กล่าวเสริมว่า ผลงานต่าง ๆ ที่มีการคัดเลือกและนำมาเสนอภายในงานครั้งนี้ เป็นผลมาจากความร่วมมืออย่างดีจาก คณะวิทยาศาสตร์ ของมหาวิทยาลัยทั้ง 24 แห่ง รวมทั้งการสนับสนุนจากหน่วยงานภาครัฐและเอกชนอีกหลายแห่ง ในการประชาสัมพันธ์ให้นักเรียน นักศึกษา อาจารย์ นักวิจัยได้ส่งผลงานเข้ามาเสนอ รวมถึงเป็นเวทีของการประกวดกิจกรรมต่างๆทางด้านวิทยาศาสตร์ในระดับประเทศ เช่น การประกวดโครงงานวิทยาศาสตร์ที่ผ่านการคัดเลือกในระดับภูมิภาคมาแล้วจากงานสัปดาห์วิทยาศาสตร์ และสมาคมฯ จะพิจารณานำโครงงานวิทยาศาสตร์ที่ชนะเลิศระดับประเทศไปแข่งขันยังต่างประเทศต่อไป ถือเป็นการกระตุ้นให้เกิดความสนใจและตื่นตัวในการร่วมมือกันพัฒนาวงการการศึกษาทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และยังเป็นการแสดงถึงศักยภาพของคนไทยกับการศึกษาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่ไม่ด้อยกว่าชาติใด และการจัดงานครั้งนี้ก็เป็นการเผยแพร่ผลงานของนักวิทยาศาสตร์ไทยให้เป็นที่รู้จัก เปรียบได้กับตลาดแลกเปลี่ยนเรียนรู้ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของคนไทยที่สำคัญอีกเวทีหนึ่ง โดยเปิดโอกาสให้นักเรียน นักศึกษา ครู อาจารย์ นักวิจัย ประชาชนและผู้สนใจสามารถเข้าร่วมงานได้ มีเพียงการบรรยายนำเสนอผลงานในห้องเท่านั้นที่เสียค่าลงทะเบียนและจำนวนจำกัด
รศ.ดร.ธีรวัฒน์ มงคลอัศวรัตน์ คณบดีคณะวิทยาศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) กล่าวว่า ถือเป็นเกียรติและนับเป็นโอกาสที่ดีของสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) ที่ได้เป็นเจ้าภาพจัดงาน วทท 34 ในครั้งนี้ เพราะไม่เพียงเป็นการจัดงานระดับประเทศเพื่อรวมกลุ่มนักวิทยาศาสตร์ไทยทั้งรุ่นใหม่และรุ่นเก่าได้มาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ จากการนำเสนอผลงานค้นคว้า วิจัย ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ซึ่งขณะนี้ได้เตรียมความพร้อมในทุกด้านไว้เรียบร้อยแล้ว อีกทั้งยังถือเป็นวาระสำคัญการฉลองครบรอบ 20 ปี ของการสถาปนาคณะวิทยาศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง พร้อมกันนี้คณะวิทยาศาสตร์ สจล. จะได้ใช้โอกาสนี้นำผลงานวิจัยดีเด่นและเป็นรูปธรรม มานำเสนอเผยแพร่สู่สาธารณะ อาทิ หูฉลามไบโอ การรีไซเคิลพลาสติกเป็นน้ำมัน ลายหญ้าแฝกในไม้เทียมเฟอร์นิเจอร์ และหมอดูลายเซ็นต์คอมพิวเตอร์ เป็นต้น ซึ่งเป็นผลงานความก้าวหน้า และความภาคภูมิใจของสถาบันและวงการทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของประเทศ
ทั้งนี้งานประชุมวิชาการวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย ครั้งที่ 34 (วทท 34) จะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 31 ตุลาคม — 2 พฤศจิกายน 2551 ณ ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิตติ์ สำหรับผู้สนใจเข้าร่วมกิจกรรมการฝึกอบรมให้รู้ลึกรู้จริงสามารถเข้าร่วมกิจกรรมได้ทั้งก่อนงานและระหว่างงาน อาทิ โครงการฝึกอบรมบุคลากรระยะสั้น เรื่อง HYGIENE, HEALTH AND FOOD SAFETY OF FRESH AND PROCESS STREET FOOD ระหว่างวันที่ 29 - 30 ตุลาคม 2551 ณ โรงแรมรามาการ์เด้น กรุงเทพฯ และโครงการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการ COSMETICS WORKSHOP ภายในงาน วทท 34 โดยดูรายละเอียดเพิ่มเติมและลงทะเบียนได้ที่ http://www.stt34.scisoc.or.th หรือ โทร.02-5795547,02-6448717