กรุงเทพฯ--25 ธ.ค.--สกว.
แนะชาวสวนลำไยเร่งเรียนรู้ระบบจัดการสวน ตั้งแต่วางแผนผลิต คำนึงถึงสภาพภูมิประเทศ ปรับปรุงดิน ดูแลต้น กำจัดศัตรูพืช รวมทั้งหัวใจสำคัญคือ “กลไกตลาด” ชี้ในช่วงเทศกาลสำคัญ ตลาดจีนยังเปิดรับไม่อั้น แต่ต้องคาดการณ์ล่วงหน้าให้แม่นยำ จะช่วยลดทั้งความเสี่ยงและเพิ่มมูลค่าให้ผลผลิต
ลำไยล้นตลาด เป็นปัญหาที่เรื้อรังและยาวนาน จากปีพ.ศ.2537มีพื้นที่ที่ใช้ปลูกลำไยทั่วประเทศประมาณ 300,000 ไร่จนปัจจุบันมีการปลูกลำไยเพิ่มขึ้นถึง 1 ล้านไร่ทั่วประเทศ ตัวเลขที่สูงขึ้นเหล่านี้ทำให้เกิดการกระจุกตัวของผลผลิตในแต่ละปีเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะช่วงฤดูลำไยคือตั้งแต่เดือนกรกฎาคม-สิงหาคม จะมีผลผลิตเพิ่มขึ้นจนล้นตลาดซึ่งยิ่งทำให้ราคาลำไยดิ่งลง แนวทางการผลิตลำไยนอกฤดู จึงเกิดขึ้นเพื่อเป็นทั้งทางเลือกให้กับผู้ผลิต ร่วมทั้งผู้บริโภค แต่ใช่ว่าเกษตรกรชาวสวนจะมีรายได้จากการผลิตลำไยนอกฤดูเพิ่มขึ้นเสมอไป ระบบจัดการการผลิตยังเป็นกลไกสำคัญของความสำเร็จที่ชาวสวนลำไยจำเป็นต้องเร่งหาความรู้ควบคู่ไปด้วย ผศ.พาวิน มะโนชัย หนึ่งในอาจารย์ผู้นำเทคโนโลยีการผลิตลำไยนอกฤดู ภายใต้การสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย(สกว.)กล่าวในงานเสวนา
“Supply Chain ความสำเร็จการผลิตลำไยนอกฤดูกาล”มหาวิทยาลัยแม่โจ้ จังหวัดเชียงใหม่ว่า เทคโนโลยีการผลิตลำไยนอกฤดูกาลนั้นสามารถทำได้ด้วยการใช้สารโพแทสเซียมคลอเรตและสารโซเดียมคลอเรต ซึ่งการใช้สารดังกล่าวไม่มีอันตรายแต่อย่างใดและยังสามารถบังคับให้ลำไยมีผลผลิตช่วงใดก็ได้ โดยการราดสารให้กับต้นลำไยและต้องมีการพักต้นไปประมาณหนึ่งปี เพื่อให้ต้นลำไยได้สะสมอาหารอย่างเต็มที่ แต่หากบำรุงต้นไม่ดี การแตกใบอ่อนแตกได้น้อยชุด อาหารสะสมในต้นไม่พอ จะไม่สามารถออกดอกและให้ผลผลิตได้
ผศ.พาวิน กล่าวอีกว่า ด้านแนวทางการโซนนิ่งลำไยนั้นต้องมีการศึกษาและร่วมทำความเข้าใจกับเกษตรกรผู้ผลิต ทั้งนี้เพื่อลดความเสี่ยงและหาความเหมาะสมในหลายๆด้าน เช่น ลักษณะภูมิประเทศอย่างพื้นที่เหมาะสมควรจะเป็นสภาพที่ดอนไม่มีน้ำท่วมขัง และช่วงเวลาที่ผลผลิตออกสู่ตลาดอย่างฤดูฝนจะมีการใช้สารควบคุมการออกดอก หรือการตรวจสอบสภาพดินด้วยการวิเคราะห์สภาพดินในพื้นที่นั้นๆก่อนการปลูก ซึ่งหากขาดธาตุอาหารที่สำคัญก็ต้องมีการเติมลงไปในดิน แต่หากสภาพดินมีธาตุอาหารสำคัญเพียงพออยู่แล้วเกษตรกรก็ไม่จำเป็นต้องใส่ปุ๋ยเพิ่มขึ้นไปอีก หรือการบริหารการจัดการอย่างเรื่องเล็กๆเช่น ไม้ค้ำผลของลำไย ที่สามารถลดจำนวนลงได้หากมีการตัดแต่งกิ่งให้เตี้ยลงและส่งต่อไปยังโซนของการผลิตลำไยที่ต้องการใช้งานก่อนด้วยวิธีการเหล่านี้จะทำให้สามารถลดค่าใช้จ่ายลงไปได้ ซึ่งกลุ่มเกษตรกรผู้ผลิตลำไยที่ประสบความสำเร็จนั้นล้วนมาจากการศึกษาหาความรู้และทดลองปฏิบัติสิ่งเหล่านี้ทั้งหมด
นายประนม คำลาภ ตัวแทนเกษตรกรชาวสวนลำไยนอกฤดู กล่าวว่า การผลิตลำไยนอกฤดูนั้นต้องมีการเตรียมต้นลำไยให้สมบูรณ์ เช่น หลังจากใส่สารแล้วต้องเว้นระยะอย่างน้อยหกเดือนเพื่อให้กิ่งสมบูรณ์เต็มที่ และหากต้นลำไยมีการแตกช่อขึ้นมาช่วงฝนตกก็ต้องมีการแก้ปัญหาด้วยการใช้สารคุมการออกดอกเพิ่ม ทำให้ต้นทุนการผลิตอาจสูงกว่าการผลิตลำไยในฤดูประมาณ 20%ของผลผลิตที่ได้ ซึ่งถ้ามีการแบ่งสวนลำไยออกเป็นหลายโซนและบังคับให้ผลผลิตออกสู่ตลาดช่วงไหนก็ได้ ทำให้สามารถเก็งกำไรผลผลิตให้มีราคาเพิ่มขึ้นได้
ด้านการตลาดที่สำคัญของลำไยนอกฤดูได้แก่ประเทศจีน โดยผู้ส่งออกลำไย นายเกียรติศักดิ์ ตั้งเจริญสุทธิชัย บริษัทไทฮงผลไม้ กล่าวในมุมมองของผู้ซื้อว่า ตลาดส่วนใหญ่จะส่งออกจีนเป็นหลัก เนื่องจากหากลำไยมีผลผลิตในช่วงเดือนธันวาคม-กุมภาพันธ์ ซึ่งจะอยู่ในช่วงเทศกาลคริสต์มาส ช่วงตรุษจีนหรือวันชาติจีนจะทำให้ได้ราคาสูงขึ้นเนื่องจากปัจจัยหลายอย่าง เช่น ตรงกับช่วงเทศกาลสำคัญๆของคนจีน ซึ่งมีความเชื่อว่าลำไยเป็นผลไม้มงคลเหมาะสำหรับการมอบให้เป็นของขวัญของฝาก และยังเป็นช่วงที่อยู่ในฤดูหนาวทำให้ลำไยสามารถเก็บได้นาน ผลผลิตไม่เปลี่ยนสี ซึ่งหากลำไยมีผลผลิตในฤดูอย่างช่วงเดือนกรกฎาคม-สิงหาคมซึ่งเป็นช่วงหน้าร้อนจะทำให้ผลเปลี่ยนสีและไม่สวยงามราคาตก ซึ่งหากจะลดความเสี่ยงของการผลิตลำไยนอกฤดูลง เกษตรกรชาวสวนต้องมีความแม่นยำในช่วงเวลาการผลิตดังกล่าว โดยผลผลิตที่ได้ในนอกฤดูกาลนี้ยังมีราคาสูงถึงกิโลกรัมละ 40 บาท ซึ่งหากเกษตรกรผลสินค้ามีคุณภาพดีเป็นที่ยอมรับก็จะมีการสั่งซื้อในปริมาณเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ อีกทั้งประเทศจีนยังไม่มีการกำหนดโควตารับซื้อ
สำหรับมุมมองภาคทุน นายธีรพงษ์ ตั้งธีระสุนันท์ ผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) กล่าวว่า ส่วนการให้สินเชื่อของธ.ก.ส.นั้น จากนี้ไปอาจจะมีการทบทวนและปรับปรุงให้สอดคล้องกับการผลิตจริงมากที่สุดและอาจต้องใช้มาตรการด้านสินเชื่อและดอกเบี้ยมาสนับสนุนด้วย เช่น การผลิตลำไยแบบดั้งเดิมให้ออกตามฤดูกาลที่มีความเสี่ยงคิดดอกเบี้ยในอัตราหนึ่ง ส่วนการผลิตนอกฤดูก็คิดอัตราหนึ่ง นอกจากนี้ระบบการจัดการก็ต้องเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมที่ต้องการนายหน้าหรือพ่อค้าคนกลาง แต่จะเน้นการรวมกลุ่มของเกษตรกรและให้สาขาธ.ก.ส.ในพื้นที่เป็นแม่ข่ายในการประสานงาน โดยกระบวนการผลิตและสินเชื่อต้องสอดคล้องกัน ซึ่งจะใช้เป็นหลักของความสำเร็จมากกว่าการประกันราคาผลผลิตเพียงอย่างเดียว
หนทางสู่ความสำเร็จของการทำสวนลำไย จึงต้องครอบคลุมตั้งแต่การวางแผนผลิต คำนึงถึงสภาพภูมิประเทศที่ผลิต ปรับปรุงดิน ดูแลต้น กำจัดศัตรูพืช การคาดการณ์ผลผลิตล่วงหน้า รวมทั้งหัวใจสำคัญคือ “ตลาด” ซึ่งจะเป็นกลไกที่ตัวเกษตรกรเอง จำเป็นต้องร่วมเรียนรู้ทั้งระบบ
สามารถคลิกดูภาพประกอบได้ที่ www.thaipr.net