กรุงเทพฯ--8 ก.ย.--ก.พลังงาน
นายพรชัย รุจิประภา ปลัดกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า นโยบายการส่งเสริม E85 ไม่สับสน กระทรวงพลังงานกำหนดนโยบายส่งเสริมพลังงานทดแทนมาตั้งแต่ ปี 2547 ซึ่งมีเป้าหมายการใช้พลังงานทดแทนทั้งน้ำมันแก๊สโซฮอล ไบโอดีเซล และก๊าซธรรมชาติ (NGV) ทดแทนการใช้น้ำมันให้ได้ 34% ภายในปี 2561
ทั้งนี้ การส่งเสริมการใช้น้ำมันแก๊สโซฮอล กระทรวงพลังงาน แยกออกเป็น 3 ส่วน เริ่มต้นด้วยการส่งเสริมน้ำมันแก๊สโซฮอล 95 (E10) คือการผสมเอทานอลในอัตราส่วน 10% สำหรับรถยนต์ทั่วไป และเพิ่มเป็น E20 สำหรับรถยนต์ใหม่ที่จำหน่ายตั้งแต่ปี 2551 เป็นต้นไป จนถึงปัจจุบันมีนโยบายส่งเสริมสู่ E85 สำหรับรถยนต์กลุ่มเฉพาะ คือ Flex Fuel Vehicle (FFV) ทำให้ต้องมีน้ำมันแก๊สโซฮอล 3 ชนิด ซึ่งไม่ใช่เกิดจากความสับสนในนโยบายแต่อย่างใด
ทั้งนี้ เพราะในปัจจุบันกำลังผลิตเอทานอลมีเพียงพอและมีความพร้อมของการผลิตเอทานอลเพื่อนสนับสนุน E85 โดยมีกำลังผลิตอยู่ที่ 1.5 ล้านลิตรต่อวัน ขณะที่มีการใช้เอทานอลเพื่อนำไปผสมเป็นน้ำมันแก๊สโซฮอล์ประมาณ 0.8 ล้านลิตรต่อวัน และจะมีกำลังการผลิตเพิ่มขึ้นอีก 1.5 ล้านลิตรต่อวัน ภายในปี 2552 ทำให้มีกำลังผลิตรวมเป็น 3 ล้านลิตรต่อวัน มากพอที่จะส่งเสริมการใช้ E85 ได้ และไม่กระทบกับการบริโภคภายในประเทศ
นายพรชัย กล่าวเพิ่มเติมว่า E85 เป็นนโยบายที่ต้องเริ่มต้นตั้งแต่วันนี้ ซึ่งจะเป็นจุดเริ่มต้นของการปฏิวัติเพื่อเปลี่ยนแปลงการใช้เชื้อเพลิงของประเทศไทย โดยกระทรวงพลังงานได้คำนึงถึงประโยชน์ของประเทศชาติเป็นสำคัญ เพราะเป็นการนำพลังงานที่มีอยู่ในประเทศมาใช้ให้เกิดประโยชน์ ลดการพึ่งพาและการนำเข้าน้ำมันจากต่างประเทศได้จำนวนมาก เพราะเป็นการใช้เอทานอลถึง 85% และใช้น้ำมันเบนซินเพียง 15%
นอกจากนี้ กระทรวงพลังงาน เห็นว่านโยบายพลังงานทดแทน E85 สามารถเชื่อมโยงและพัฒนาควบคู่กับนโยบายส่งเสริมการผลิต Eco Car ได้ โดยจะก่อให้เกิดผลประโยชน์ต่อประเทศชาติสูงกว่าการที่ต้องตัดสินใจเลือกทางใดทางหนึ่ง เนื่องจากในช่วงแรกรถยนต์ที่จะใช้กับ E85 ได้จะเป็นการนำเข้ากลุ่มรถยุโรปซึ่งมีความพร้อมด้านเทคโนโลยีอยู่แล้ว แม้จำนวนรถไม่มากนัก แต่จะทำให้คนไทยเริ่มรู้ถึงการใช้รถ FFV
“จุดเริ่มต้นของการผลักดัน E85 ในวันนี้ ในอีก 5 ปีข้างหน้าจะช่วยประเทศลดการนำเข้าน้ำมันลงได้กว่า 1,000 ล้านลิตรต่อปี หรือประหยัดเงินได้ประมาณ 42,000 ล้านบาทต่อปี ซึ่งเป็นแนวโน้มที่ดีในการสร้างความมั่นคงด้านพลังงานในระยะยาวของประเทศ โดยเฉพาะภาคเกษตรกรในการยกระดับสินค้าเกษตรไปสู่พืชพลังงานที่มีมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจสูง และรายได้ของเกษตรกรที่แน่นอนและสูงขึ้น ขณะที่ด้านประชาชนช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายด้านน้ำมันมากขึ้น เพราะ E85 จะมีราคาต่ำกว่าน้ำมันแก๊สโซฮอล E10 ถึง 30% และต่ำกว่าเบนซินออกเทน 95 ถึง 48%” นายพรชัย กล่าว