กรุงเทพฯ--8 ก.ย.--สวทช.
ดร.วราวุธ สุธีธร ผู้อำนวยการสำนักวิจัยซากดึกดำบรรพ์และพิพิธภัณฑ์ธรณีวิทยา กรมทรัพยากรธรณี ที่ปรึกษาด้านวิชาการศูนย์สื่อสารวิทยาศาสตร์ไทย (สวทช.) กล่าวว่า พระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.)คุ้มครองซากดึกดำบรรพ์ พ.ศ. 2551 ได้ประกาศบังคับใช้แล้วเมื่อวันที่ 9 สิงหาคมที่ผ่านมา มีวัตถุประสงค์เพื่อคุ้มครอง อนุรักษ์และบริหารจัดการซากดึกดำบรรพ์ให้ถูกต้อง เนื่องด้วยที่ผ่านมามีผู้ลักลอบขุดค้นและทำการค้าขายซากดึกดำบรรพ์อย่างมาก ขณะที่เมื่อชาวบ้านบางส่วนพบกลับไม่ส่งมอบให้ทางราชการและถือครองไว้เป็นสมบัติของตนเอง ที่สำคัญผู้ลักลอบขุดซากดึกดำบรรพ์ทำโดยไม่ถูกหลักวิชาการ ทำให้สูญเสียมรดกของแผ่นดินที่มีคุณค่าทั้งในด้านการเรียนรู้และเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญ
ทั้งนี้เนื้อหาสำคัญในพ.ร.บ.คุ้มครองซากดึกดำบรรพ์ 2551 ที่ประชาชนควรรู้คือ 1. ผู้ใดที่พบซากดึกดำบรรพ์หรือแหล่งซากดึกดำบรรพ์ให้แจ้งเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นหรือกรมทรัพยากรธรณีภายใน 7 วัน เพื่อให้เจ้าหน้าที่ดำเนินการกันขอบเขตสำหรับป้องกันการบุกรุกหรือทำลาย และทำการตรวจสอบซากดึกดำบรรพ์ที่พบอย่างเป็นระบบตามหลักวิชาการ หากซากดึกดำบรรพ์ที่พบหายากมีความสำคัญควรได้รับการคุ้มครองอย่างยิ่ง อาทิ การค้นพบใหม่ หรือเป็นซากดึกดำบรรพ์สัตว์มีกระดูกสันหลัง เช่น ไดโนเสาร์ จะทำการขึ้นทะเบียนเพื่อใช้เป็นแหล่งอ้างอิงและศึกษาวิจัยต่อไป ทั้งนี้ในช่วงประกาศเขตสำรวจ ผู้ครอบครอง หรือผู้มีสิทธิในที่ดินที่ไม่สามารถใช้ประโยชน์ได้ตามปกติจะได้รับเงินค่าทดแทนผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการคุ้มครองซากดึกดำบรรพ์ กรณีผู้ฝ่าฝืนพบแล้วไม่แจ้งมีโทษปรับไม่เกิน 50,000 บาท
2. ห้ามนำซากดึกดำบรรพ์ออกนอกราชอาณาจักรโดยไม่มีใบอนุญาต หากมีผู้ฝ่าฝืนนำซากดึกดำบรรพ์ที่ขึ้นทะเบียนมีโทษจำคุกไม่เกิน 7 ปีหรือปรับไม่เกิน700,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ส่วนกรณีซากดึกดำบรรพ์ที่ไม่ต้องขึ้นทะเบียนมีโทษปรับไม่เกินห้าหมื่นบาท
3. ผู้ที่ถือครองซากดึกดำบรรพ์ก่อนที่ พ.ร.บ. ประกาศใช้ ให้แจ้งเจ้าหน้าที่กรมทรัพยากรธรณีรับทราบภายใน 1 ปีหลังการประกาศ คือภายในวันที่ 9 สิงหาคม 2552 เพื่อตรวจสอบและทำการขึ้นทะเบียน ผู้ฝ่าฝืนมีโทษปรับไม่เกิน10,000บาท ทั้งนี้หากตรวจสอบพบว่าเป็นซากดึกดำบรรพ์พบได้ปานกลางหรือพบได้ง่ายอนุญาตให้เจ้าของถือครองไว้ได้ แต่ถ้าเป็นซากดึกดำบรรพ์หายากจะกำหนดให้เป็นทรัพยากรแผ่นดิน เจ้าของต้องส่งมอบคืนให้แก่กรมทรัพยากรธรณีภายใน 15 วัน โดยจะได้รับค่าทดแทนตามที่คณะกรรมการกำหนด แต่หากไม่ส่งคืนมีโทษจำคุกตั้งแต่ 1-10 ปี หรือ ปรับตั้งแต่ 2-4 เท่าของมูลค่าซากดึกดำบรรพ์ หรือทั้งจำทั้งปรับ
4. ห้ามมิให้ผู้ใดทำการค้าซากดึกดำบรรพ์โดยไม่มีใบอนุญาต ผู้ฝ่าฝืนมีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี ปรับไม่เกิน 100,000 บาท
ดร.วราวุธ กล่าวว่า ซากดึกดำบรรพ์ทุกชิ้นล้วนเป็นสมบัติของแผ่นดิน มีคุณค่าต่อการศึกษาวิจัยทางด้านบรรพชีวินวิทยาและธรณีวิทยา รวมถึงประวัติความเป็นมาของประเทศไทย ดังนั้นจึงอยากให้ผู้ที่ครอบครองหรือผู้ที่พบซากดึกดำบรรพ์เร่งแจ้งเจ้าหน้าที่ให้ถูกต้อง โดยขณะนี้ทางกรมทรัพยากรธรณีมีข้อมูลของผู้ที่ครอบครองซากดึกดำบรรพ์ หากพ้นเวลาที่กำหนดแล้วยังไม่มีการดำเนินการใดๆ เจ้าหน้าที่กรมทรัพยากรธรณีจะเข้าตรวจสอบและดำเนินการตามข้อกฎหมายในพ.ร.บ.ทันที ที่สำคัญในส่วนของผู้ที่ลักลอบค้าและผู้ที่ค้นพบซากดึกดำบรรพ์แล้วปกปิดข้อมูลก็จะถูกดำเนินการทางกฎหมายด้วยเช่นกัน
อย่างไรก็ดีสำหรับเจ้าหน้าที่และประชาชนที่สนใจศึกษารายละเอียดเพิ่มเติม สามารถติดต่อขอรับหนังสือ พ.ร.บ.คุ้มครองซากดึกดำบรรพ์ พ.ศ. 2551 ได้ที่กรมทรัพยากรธรณี หรือติดตามได้ที่ www.dmr.go.th เพื่อให้เกิดความรู้ ความเข้าใจ อันจะนำไปปฏิบัติได้ถูกต้อง ที่สำคัญยังหวังให้ประชาชนร่วมเป็นเครือข่ายเฝ้าระวังหากพบผู้ค้าและครอบครองซากดึกดำบรรพ์ผิดกฎหมายให้ร่วมแจ้งข้อมูลมาที่กรมทรัพยากรธรณี โทร 02-621-9640 เพื่อร่วมกันอนุรักษ์มรดกของแผ่นดินให้คงอยู่สืบไป