กรุงเทพฯ--8 ก.ย.--พีคคีปคอมมูนนิเคชั่น
ท่านทราบหรือไม่ว่า ขยะที่เกิดขึ้นจากกิจกรรมของเราในแต่ละวัน เมื่อทิ้งลงถังแล้ว จะถูกนำไปกำจัดได้อย่างไร จากข่าวสารในฉบับที่ระบุไว้แล้วว่า องค์ประกอบหลักๆ ของขยะมูลฝอยจากครัวเรือน มี 3 ส่วนหลักๆ ก็คือ ขยะย่อยสลายได้ ขยะนำกลับมาใช้ใหม่ได้ ขยะทั่วไป และขยะอันตราย โดยการกำจัดขยะแต่ละประเภทจะมีวิธีที่แตกต่างกันไปตามความเหมาะสม แต่ไม่มีวิธีใดเพียงวิธีเดียวที่จะสามารถกำจัดขยะหรือลดปริมาณขยะลงได้เกิดผลดีที่สุด การใช้แนวคิดการผสมผสานวิธีการกำจัดแบบต่างๆ เข้าด้วยกันเป็นทางออกที่ดีที่สุด ตัวอย่างเช่น การใช้วิธีการรีไซเคิลร่วมกับการทำปุ๋ยหมัก เพื่อลดปริมาณขยะรีไซเคิลและขยะอินทรีย์ ก่อนที่จะนำไปฝังกลบหรือการเผาขยะประเภทอื่นๆ ที่ไม่สามารถใช้ประโยชน์ได้ ทั้งนี้ก็เพื่อลดภาระการกำจัดขยะในขั้นท้ายสุดลง การกำจัดขยะแบบต่างๆ ที่มีใช้อยู่ในปัจจุบันมี 5 วิธีด้วยกัน ได้แก่ การเท-กอง การฝังกลบ การเผา การทำปุ๋ยหมัก และการรีไซเคิล 1) การเท-กอง เป็นวิธีที่ไม่มีรูปแบบหรือแนวทางปฏิบัติที่ชัดเจน ไม่มีการควบคุมด้านสิ่งแวดล้อม ส่วนการเทกองแบบควบคุม เป็นการเทขยะในพื้นที่ที่มีรั้วกั้นและทำการบดอัด มีเจ้าหน้าที่ดูแล ข้อดีของการเทกองคือการใช้งบประมาณไม่สูงนัก วิธีการไม่ยุ่งยาก แต่ก็มีข้อเสียคือ ต้องเป็นพื้นที่ที่อยู่ห่างไกลจากชุมชนมากๆ ทำให้เสียค่าใช้จ่ายในการขนส่งสูง 2) การฝังกลบ เป็นการนำขยะมาเทรวมกันในหลุมขนาดใหญ่ที่ขุดเตรียมไว้ แล้วใช้รถแทรกเตอร์เกลี่ยและทำการบดอัดให้ขยะยุบตัวลงก่อนใช้ดินกลบทับ และบดอัดให้แน่นเป็นชั้นๆ เพื่อให้สามารถใช้งานบ่อฝังกลบให้นานที่สุด และไม่ก่อให้เกิดปัญหาเรื่องกลิ่น พาหะนำโรคต่างๆ รวมทั้งน้ำฝนที่ตกลงมาชะล้าง 3) การเผา เป็นวิธีการกำจัดขยะที่สามารถกำจัดขยะทั้งที่เป็นของแข็ง ของเหลว และก๊าซ ด้วยกระบวนการสันดาป ทำให้ขยะเปลี่ยนสภาพเป็นเถ้า ไอเสีย หรือสิ่งที่ไม่สามารถเผาได้อีก วิธีเผานี้สามารถลดปริมาณขยะลงได้ร้อยละ 80-90 โดยน้ำหนักของขยะทั้งหมด อุณหภูมิที่ใช้ในการเผาไหม้จะอยู่ระหว่าง 850 -1,200 องศาเซลเซียส 4) การทำปุ๋ยหมัก ซึ่งเป็นวิธีที่เหมาะสำหรับการกำจัดขยะสด หรือขยะเศษอาหาร วิธีการนี้จะได้ผลดีมีประสิทธิภาพก็ต่อเมื่อได้ทำการคัดแยกขยะที่ไม่ย่อยสลายออกเสียก่อน เช่น เศษแก้ว พลาสติก โลหะ เป็นต้น การทำปุ๋ยหมักเป็นเทคโนโลยีที่ง่ายๆไม่ซับซ้อน เพียงนำขยะที่ย่อยสลายได้มาใส่ไว้ในบ่อหมัก เติมอากาศให้เพียงพอและใช้เชื้อจุลินทรีย์ที่เหมาะสมในการย่อยสลาย ผลผลิตที่ได้จะมีสีดำคล้ายดิน มีธาตุอาหารที่เหมาะสำหรับการปลูกพืชครับ 5) การรีไซเคิล วิธีนี้เป็นการนำขยะหรือวัสดุที่ใช้แล้ว หรือวัสดุที่เกิดขึ้นระหว่างการผลิต กลับมาผ่านกระบวนการแปรรูป เพื่อผลิตเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ เช่น นำขวดแก้วเก่ามาบดแล้วหลอม เพื่อนำมาใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตขวดแก้วใหม่ หรือการนำบรรจุภัณฑ์อลูมิเนียมมาหลอม เพื่อนำกลับไปผลิตใหม่ ซึ่งนอกจากจะเป็นการประหยัดการใช้ทรัพยากรธรรมชาติแล้ว ยังเป็นการประหยัดพลังงานได้อีกด้วย
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ สถาบันการจัดการบรรจุภัณฑ์เพื่อสิ่งแวดล้อม สภาอุตสาหกรรม ชั้น 4 อาคารวังเด็ก ตึก4 ถนนวิภาวดี-รังสิต เขตจตุจักร กรุงเทพฯ 10900 โทรศัพท์ 02-2721552-3 ต่อ 14 แฟกซ์ 02-2721552-3 ต่อ 18 ติดต่อ คุณกวีนา จงฐิตินนท์ Strategic Planning and PR website: http://www.tipmse.or.th/th/about/index.aspx Email: tipmse_news@hotmail.com ตัวแทนประชาสัมพันธ์ บริษัทพีคคีปคอมมูนนิเคชั่น จำกัด 132 ซ.รามคำแหง 30/1 ถ.รามคำแหง หัวหมาก บางกะปิ กรุงเทพ 10240 โทรศัพท์ 02-732-9662 ติดต่อ คุณกัลยารัตน์ วิกรัยพัฒน์ Operation Coordinator Email: peekkeep@hotmail.com